'พิพัฒน์' ชงของบ 2 หมื่นล้าน ดัน 3 แพ็คเกจ 'เที่ยวไทย'

'พิพัฒน์' ชงของบ 2 หมื่นล้าน ดัน 3 แพ็คเกจ 'เที่ยวไทย'

“พิพัฒน์” ลุยชง ครม.ของบ 2 หมื่นล้านบาท ดันแพ็คเกจกระตุ้นไทยเที่ยวไทย ล่าสุดปรับเป็น 3 แพ็คเกจ รัฐช่วยจ่าย 40% ค่าโรงแรม-ตั๋วบิน หลังโลว์คอสต์แอร์ไลน์ขอร่วมวงรับความช่วยเหลือ เหตุโดนโควิดเล่นงานอ่วม

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ล่าสุดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้ปรับรายละเอียดข้อเสนอแพ็คเกจมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ รวมจำนวน 3 แพ็คเกจ วางกรอบระยะเวลาดำเนินการ 4 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ต.ค.2563 วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มบริษัทนำเที่ยว กลุ่มโรงแรมที่พัก และกลุ่มสายการบิน โดยเตรียมนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 16 มิ.ย.นี้

“โดยในวันจันทร์ที่ 15 มิ.ย.นี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯจะหารือกับกระทรวงการคลังและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพิ่มเติมเพื่อสรุปรายละเอียดทั้ง 3 แพ็คเกจมาตรการอีกครั้งก่อนเสนอต่อที่ประชุม ครม.นัดหน้าในวันถัดไป”

หลังจากก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลัง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้หารือกันในรายละเอียดไว้ 2 แพ็คเกจ โดยกลุ่มธุรกิจที่จะได้ประโยชน์จากมาตรการนี้มีบริษัทนำเที่ยวและโรงแรมที่พัก ยังไม่ครอบคลุมสายการบิน ส่งผลให้ธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) ขอความช่วยเหลือเข้ามา เพราะเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นกัน

สำหรับรายละเอียดทั้ง 3 แพ็คเกจล่าสุด ประกอบด้วย 1.แพ็คเกจ “กำลังใจ” ตอบแทนบุคลากรที่ปฏิบัติงานแนวหน้าในการรับมือสถานการณ์โควิด-19 เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 1.2 ล้านคน ด้วยการสนับสนุนงบฯศึกษาดูงานแบบอบรมสัมมนา ผ่านผู้ประกอบการนำเที่ยวในประเทศ เช่น บริษัททัวร์และรถเช่า ใช้งบ 2,400 ล้านบาท หรือรัฐบาลจะจ่ายเงินให้ 2,000 บาทต่อคน

2.แพ็คเกจ “เราไปเที่ยวกัน” ช่วยเหลือโรงแรมและที่พักที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเป็นระบบร่วมกันจ่ายหรือ co-payment เป้าหมายห้องพัก 5 ล้านห้อง เบื้องต้นรัฐบาลจะช่วยจ่าย 40% หรือเที่ยวได้ไม่เกิน 5 วันต่อคน หรือไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน โดยผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ต้องเป็นคนไทยอายุ 20 ปีขึ้นไป สามารถลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชันของธนาคารกรุงไทย เพื่อขอรับบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิคส์เพื่อนำมาเป็นส่วนลด

และ 3.แพ็คเกจ “เที่ยวปันสุข” เพื่อช่วยเหลือสายการบินต้นทุนต่ำ จะมีขั้นตอนและวิธีดำเนินการ คล้ายกับแพ็คเกจเราไปเที่ยวกัน แต่จะใช้เงินสำหรับซื้อตั๋วเครื่องบิน ถือเป็นโครงการco-paymentระหว่างนักท่องเที่ยวและรัฐบาล โดยผู้ใช้บริการออกค่าตั๋ว 60% รัฐบาลให้ส่วนลด 40%

รายงานข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ระบุว่า สถานการณ์ตลาดท่องเที่ยวในประเทศ ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมาแทบจะไม่มีความเคลื่อนไหว ไม่มีการเดินทางระหว่างกัน เป็นผลจากการล็อคดาวน์การเดินทาง ส่งผลให้ตลอด5เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่ 40.15ล้านคนเท่านั้น ลดลง58.19%หรือลดลง55.88ล้านคนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งผลให้รายได้ของตลาดไทยเที่ยวไทยมีประมาณ 1.91แสนล้านบาท ลดลง57.86%หรือลดลง2.63แสนล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว