‘โรงแรม’ เฮ! รับเลิกเคอร์ฟิว จับคู่ท่องเที่ยว-ลดภาษีห้องพัก

‘โรงแรม’ เฮ! รับเลิกเคอร์ฟิว จับคู่ท่องเที่ยว-ลดภาษีห้องพัก

การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 สร้างความเสียหายหนักต่อภาคการท่องเที่ยวไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 10% ของจีดีพี

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางในฝันของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่วาดหวังมาเยือนสักครั้ง ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามหลากหลาย ทั้งทะเล ภูเขา น้ำตก ฯลฯ สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทั่วประเทศ    

วัฒนธรรมไทยมีความงดงามเป็นเอกลักษณ์ อาหารการกินก็อร่อย ที่สำคัญคนไทยจิตใจดีเป็นมิตร พร้อมเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก หนุนให้จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวเติบโตต่อเนื่องตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แต่หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การเดินทางทั้งโลกหยุดชะงัก หลายประเทศประกาศล็อกดาวน์ปิดประเทศจำกัดการเดินทาง เพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของไวรัส ส่งผลกระทบเต็มๆ ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลกและไทย

โดยนักท่องเที่ยวเริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ก่อนที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเป็น “ศูนย์” มา 2 เดือนแล้ว (เม.ย. - พ.ค.) นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การท่องเที่ยวไทยที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเลย หลังมีการประกาศปิดสนามบิน ห้ามเข้าประเทศตั้งแต่เดือน เม.ย. และขยายเวลาถึงสิ้นเดือนนี้ หมายความว่านักท่องเที่ยวเดือน มิ.ย. จะเป็น “ศูนย์” อีก 1 เดือน

เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ขณะที่ตลาดไทยเที่ยวไทยซบเซาไม่แพ้กัน กระทบผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสูญเสียรายได้มหาศาล โรงแรมทั่วประเทศหลายแห่งต้องปิดให้บริการไปหลายเดือน จนผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 พลิกขาดทุนตามๆ กัน

บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW ขาดทุน 102 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 234 ล้านบาท โดยอัตราการเข้าพักไม่รวมกลุ่มฮ็อป อินน์ ลดลงเหลือ 57% จากงวดปีก่อน 86% ส่วนรายได้เฉลี่ยต่อห้องพักลดลงจาก 2,434 บาท เหลือ 1,369 บาท

ด้านบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL รายได้จากธุรกิจโรงแรมเหลือ 1,796 ล้านบาท ลดลง 34.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 2,755 ล้านบาท อัตราเข้าพักและรายได้เฉลี่ยต่อห้องพักในประเทศไทยอยู่ที่ 57.6% และ 2,401 บาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 82.8% และ 3,750 บาท ตามลำดับ

บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC พลิกขาดทุน 82 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 834 ล้านบาท โรงแรมซึ่งเป็นธุรกิจหลักทำรายได้ 875 ล้านบาท ลดลง 25.3% จาก 1,171 ในช่วงปีก่อน อัตราการเข้าพักเหลือ 58.5% จาก 84.6% และมีรายได้เฉลี่ยต่อห้อง 2,615 บาท จาก 3,688 บาท

ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามเข้าไปช่วยเหลือ ทั้งด้านการเงินผ่านซอฟท์โลนที่ออกมาเพื่อช่วยเติมสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างการเงิน พักหนี้ ยืดหนี้ให้กับผู้ประกอบการ ล่าสุด ที่ประชุม ครม. ไฟเขียวยกเว้นค่าธรรมเนียมโรงแรมห้องละ 40 บาทต่อปี วงเงินรวมกว่า 3.1 หมื่นล้าบาท หวังลดภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการ

แต่หากคำนวณออกมาแล้วอาจไม่ได้มากเท่าไหร่ เช่น ERW มีโรงแรมในประเทศรวมทุกกลุ่ม 8,805 ห้อง ประหยัดรายจ่ายได้ 352,200 บาท, CENTEL มี 6,770 ห้อง รวม 270,800 บาท, DTC มี 2,733 ห้อง รวม 109,320 บาท ส่วนบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT มีโรงแรมในไทย 5,092 ห้อง ลดค่าใช้จ่าย 203,680 บาท และบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC 4,869 ห้อง รวม 194,760 บาท

ไตรมาสแรกว่าหนักแล้ว แต่ไตรมาสสองยิ่งหนักกว่า เพราะเป็นช่วงปิดประเทศพอดี ภาพความเสียหายคงชัดขึ้น ก่อนที่จะฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง เพราะตอนนี้สถานการณ์ในไทยเริ่มคลี่คลายไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อใหม่ในประเทศมากกว่า 2 สัปดาห์ นำมาสู่การปลดล็อกกิจการเฟสที่ 4 พร้อมยกเลิกเคอร์ฟิว เริ่มต้นดีเดย์วันนี้ (15 มิ.ย.)

ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ออกไปเที่ยวนอกบ้าน กินข้าว ดูหนัง ชอปปิ้ง เดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัด ขณะนี้รอรัฐบาลเคาะแพ็กเกจกระตุ้นท่องเที่ยวเพิ่มเติม ส่วนตลาดต่างประเทศคาดว่าจะเปิดสนามบินในเดือน ก.ค.

นอกจากนี้ มีแนวคิดการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ “Travel Bubble” จับคู่ท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศที่คุมโรคระบาดได้ดี ซึ่งจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะช่วยปลุกการท่องเที่ยวไทยกลับมาคืนชีพอีกครั้ง แน่นอนว่าอานิสงส์จะส่งต่อไปถึงผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจโรงแรมด้วย