‘เคทีบี’ รื้อใหญ่แผนธุรกิจ จ่อ ‘ยุบ-ควบ’ 100 สาขาปีนี้

‘เคทีบี’ รื้อใหญ่แผนธุรกิจ จ่อ ‘ยุบ-ควบ’ 100 สาขาปีนี้

“กรุงไทย” เตรียมรื้อใหญ่รับ “นิวนอร์มอล” จ่อยุบ-ควบรวม 80-100 สาขาปีนี้ พร้อมทบทวนแผนงานด้านสาขาใหม่ทุกไตรมาส เหตุคนหันใช้บริการผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น ยืนยันไม่ปลดพนักงาน พร้อมเตรียมฟื้นธุรกิจลิสซิ่งใหม่ คาดแผนงานชัดเจนปีนี้

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยหันไปทำธุรกรรมทางการเงินบนดิจิทัลมากขึ้น ทำให้ธนาคารต้องทบทวนแผนธุรกิจใหม่ทุกๆเดือนเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะหลังเกิดวิกฤติโควิด-19 ซึ่งหนึ่งในแผนงานที่ธนาคารจะทบทวน คือ แผนงานด้านสาขา ซึ่งจะมีการทบทวนใหม่ทุกๆ ไตรมาส 

สำหรับการทบทวนเบื้องต้น จะมีทั้งการปรับลดและควบรวมสาขา โดยปีนี้ธนาคารมีแผน ควบรวมสาขาของกรุงไทย ราว 80-100 สาขา เพื่อลดต้นทุนทางการเงินและตอบสนองวิถีชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และจะเน้นการให้บริการที่เป็นดิจิทัลมากขึ้นเพื่อเสริมศักยภาพธนาคาร

นายผยงกล่าวว่า การควบรวมสาขา ถือเป็นหนึ่งในแผนลดต้นทุนทางการเงินของธนาคาร แต่หลังจากลดสาขา หรือควบรวมสาขาแล้ว ธนาคารไม่มีแผนปรับลดพนักงานแต่อย่างใด เพราะเชื่อว่ายุทธศาสตร์เดิมที่ธนาคารวางไว้ ยังมีประสิทธิภาพ อีกทั้งในแต่ละปี ก็มีพนักงานจำนวนหนึ่ง ที่เกษียณอายุอยู่แล้ว ดังนั้นธนาคารไม่จำเป็นต้องปลดพนักงาน แต่เพื่อให้รองรับแผนยุทธ์ศาสตร์ในอนาคต สิ่งที่ต้องเพิ่ม คือ การเพิ่มสกิล หรือทักษะให้กับพนักงานมากขึ้น เพื่อรองรับบิซิเนสโมเดลใหม่ของธนาคาร

ขณะเดียวกัน หลังจาก ผ่อนคลายล็อกดาวน์โควิด-19 คาดว่าการทำงานของพนักงานจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะจากผลของล็อกดาวน์ ทำให้พนักงานธนาคารต้องทำงานอยู่บ้านกว่า 79% แต่ประสิทธิผลของการทำงานพนักงานธนาคารไม่ได้ลดลง ดังนั้นธนาคารจะต้องหากลยุทธ์ใหม่ เพื่อให้การทำงานของพนักงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ไม่ได้อยู่ที่ธนาคารหรือสาขา

สำหรับแผนกลับมาผลักดัน บริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด (KTBL) หรือธุรกิจเช่าซื้อ ให้กลับมามีบทบาทใหม่อีกครั้ง เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินต่อ โดยการฟื้นฟูกิจการเช่าซื้อ มีหลายแนวทาง ที่ธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งทุกทางเลือกมีโอกาสเกิดขึ้นได้หมด โดยธนาคารคาดว่า ภายในปีนี้จะสามารถสรุปแผนได้แน่นอน ว่าธนาคารจะเลือกแนวทางไหน

“วันนี้แผนกลับมาของธุรกิจลิสซิ่ง คืบหน้าไปพอสมควร คิดว่าปีนี้จะต้องชัดเจน ตามแนวทางต่างๆที่มีเข้ามา ทุกทางเลือกเป็นไปได้หมดทุกทางเลือกอยู่บนโต๊ะแล้ว ดังนั้นเราต้องพิจารณาทางเลือกให้รอบคอบให้จบในปีนี้ให้ได้”

อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังเดินหน้าในการลดต้นทุนของธนาคารอย่างต่อเนื่อง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า โครงสร้างเดิมของธนาคารแบบเก่า มีต้นทุนค่อนข้างสูง ดังนั้นภายใต้มาจิ้นที่ลดลงตลอดเวลา ก็ต้องเป็นโจทย์ที่ธนาคารต้องไปคิดเพื่อหาบิซิเนสโมเดลใหม่ ขึ้นมา หรือหา New S-curve ใหม่ให้กับธนาคาร เพื่อทำให้ต้นทุนลดลง ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นบิซิเนสโมเดลเหล่านั้นแล้ว คาดว่าจะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนได้ตั้งแต่ไตรมาส 3-4 เป็นต้นไป

“หลังจากเกิด New normal หลังจากนี้ก็จะเห็นโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา วันนี้ธุรกิจแบงก์ถูกผลกระทบ ไม่ต่างกับเจอสงครามโลก ดังนั้นสิ่งที่เราทำให้คือการประคองตัวเราให้อยู่รอด การดูแลลูกค้า ขณะเดียวกันก็ต้องเปลี่ยนไปสู่โมเดลใหม่ เพื่อให้เราอยู่รอดได้ในอนาคต”นายผยงกล่าว