ปัดเตะถ่วงสอบ 'ธรรมนัส' ยันชงศาลชี้ขาดแล้ว

ปัดเตะถ่วงสอบ 'ธรรมนัส' ยันชงศาลชี้ขาดแล้ว

“ชวน” ปัดเตะถ่วง-ไร้อำนาจยับยั้งคำร้องสอบ ส.ส. ยันส่งคำร้องให้ศาลรธน.ปม “ธรรมนัส” แล้ว ด้านทีมเลขาฯ โชว์ตัวเลขส่งตีศาลความ 15 คำร้อง สวนกลับก้าวไกลศึกษาข้อกฎหมายก่อแสดงความเห็น

หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยคำร้องของส.ส.จำนวน57 คน ที่ยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อวินิจฉัยคุณสมบัติของนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กรณีใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็น ส.ส.กระทำการก้าวก่าย แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการระหว่างลงพื้นที่จ.ภูเก็ต ในวันที่ 18 ก.ย.นี้

ล่าสุดนายชวน กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ทางสภาฯส่งไปตามวาระ แต่บางเรื่องยังลงชื่อไม่ถูกต้องก็ส่งให้แก้ไข ทุกกรณีที่ยื่นมาถ้าเข้าเกณฑ์ ประธานสภาฯต้องยื่น ไม่สามารถยับยั้งหรือไม่ยื่นได้ เมื่อวันที่10 มิ.ย.ที่ผ่านมาก็เพิ่งส่งกรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ไป1 เรื่องส่วนอีกเรื่องตีกลับไปให้แก้ไขอยู่

“ราเมศ” ไล่ไทม์ไลน์โต้ก้าวไกล

เช่นเดียวกับนายราเมศ รัตนะเชวง ในฐานะเลขานุการประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีส.ส.พรรคก้าวไกล พาดพิงนายชวนว่าดึงคำร้องของส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ให้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยกรณีของร.อ.ธรรมนัส ให้มีความล่าช้าว่า ตนไม่สบายใจที่พรรคก้าวไกลให้บุคคลท้ายแถวมากล่าวหาในสิ่งที่ไม่ตรงความจริง คนพูดไม่ได้ศึกษาข้อมูลให้ถ่องแท้ เพราะคำร้องดังกล่าวหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยื่นเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา วันถัดมาเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำร้องปรากฏว่าส.ส.พรรคก้าวไกล ไม่ได้ลงลายมือชื่อรับรองเอกสารประกอบ จึงต้องส่งกลับไปยังพรรคและมีการส่งกลับมาใหม่วันที่ 29 พ.ค. เมื่อผ่านกระบวนการตรวจสอบเสร็จเรียบร้อย วันที่ 1 มิ.ย.ก็มีการยกร่างคำร้อง และเจ้าหน้าที่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการที่รวดเร็วมาก

ส่วนคำร้องที่ให้ส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสมาชิกภาพความเป็นส.ส.ของร.อ.ธรรมนัส จะมีการส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่11 มิ.ย. จึงขอว่าอย่าบิดเบือนความจริง หากไม่เข้าใจให้ถามหัวหน้าพรรคของตัวเอง ไม่ใช่รู้ข้อมูลผิดๆถูกๆแล้วเอามาพูด ถ้าคิดว่าจะทำหน้าที่เป็นแบบอย่างคนรุ่นใหม่ คงต้องกลับไปเรียนรู้กระบวนการทางการเมืองก่อน

โชว์ตัวเลขส่งตีความ 15 คำร้อง

ขณะที่นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการ ประธานสภาฯ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัยสมาชิกภาพส.ส.ของนายสิระว่า คำร้องดังกล่าวได้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่เดือนก.ย. 2562 แล้ว โดยทางศาลรัฐธรรมนูญยังไม่หนังสือให้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมแต่อย่างใด

สำหรับกรณีที่ส.ส.เสนอเรื่องเพื่อให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญมีจำนวน15 เรื่องโดยปี 2562 มีจำนวน 8 เรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญ รับไว้พิจารณา 7 เรื่อง พิจารณาและวินิจฉัยแล้ว จำนวน 2 เรื่อง อยู่ระหว่างการพิจารณา 5 เรื่อง ไม่รับพิจารณา 1 เรื่อง

เรียกผู้เกี่ยวข้องแจงปมวันเฉลิม17 มิ.ย.

ส่วนกรณีการหายตัวของนานวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวการเมืองที่หายตัวระหว่างลี้ภัยในประเทศกัมพูชา

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว “ Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม” ระบุ ว่า ล่าสุดคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการประชุมด่วน สรุปรายชื่อหน่วยงานที่จะเชิญเข้าชี้แจงกรณีคุณวันเฉลิม ถูกอุ้มหาย เพื่อพิจารณาวางกรอบแนวทางการทำงาน และสรุปรายชื่อหน่วยงานของรัฐบาลที่จะเชิญมาให้ข้อมูล

โดยมีมติให้เชิญเอกอัครราชทูตไทยในกัมพูชา พร้อมทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคงไทย เช่น ผู้แทนสำนักงานพระธรรมนูญทหาร ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งไทยและต่างประเทศ มาให้ข้อมูลต่อกรรมาธิการใน วันพุธที่ 17 มิถุนายน 2563
นอกจากนั้นวันนี้ยังได้มีองค์กรภาคประชาชนหลายองค์กร เช่น กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย สหภาพนักศึกษา สนท. กลุ่มสังคมนิยมแรงงาน คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ องค์กรแรงงานเพื่อประชาธิปไตย รวมประมาณ 40 คน ได้เข้ามายื่นข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้กรรมาธิการได้พิจารณาในกรณีของคุณวันเฉลิม ในครั้งต่อไป

“ผมขอเรียนยืนยันต่อพี่น้องประชาชนว่า ในส่วนของการทำหน้าที่ของกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในกรณีนี้เราจะพยายามทำหน้าที่ของการเป็นผู้แทนประชาชน อย่างเต็มประสิทธิภาพ เวลาทุกวินาทีมีค่า” นายรังสิมันต์ กล่าว

“สมศักดิ์”สั่งยธ.เร่งหาข้อมูล

ส่วนนายวัลลภ นาคบัว โฆษกกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ล่าสุดนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ได้สั่งการให้หาข้อมูลต่างๆ มาชี้แจงต่อสังคม และขอยืนยันว่ากระทรวงยุติธรรมมีความตั้งใจจริง และไม่เคยนิ่งนอนใจในการเร่งรัดติดตามปัญหาการอุ้มหาย ทั้งกรณีที่เกิดขึ้นภายในประเทศหรือนอกประเทศ เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและเป็นเรื่องที่ต้องห้ามกระทำอย่างเด็ดขาด

ในด้านกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมได้เร่งรัดผลักดันการเสนอ ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... และด้านนโยบาย นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 131/2560 ลงวันที่ 23 พ.ค.2560 และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 338/2562 ลงวันที่ 15 พ.ย.2562 แต่งตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ และคณะอนุกรรมการ 4 คณะ เพื่อคัดกรอง ติดตาม เยียวยา และป้องกันเหตุดังกล่าว

โดยมี รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการปัจจุบันประสบความสำเร็จในการติดตามบุคคลสูญหาย 87 ราย ตามบัญชีรายชื่อของสหประชาชาติ (UN) จนสามารถถอนรายชื่อบุคคลสูญหายออกจากบัญชี UN ได้แล้ว 12 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณาของ UN 67 ราย คงเหลือเพียง 8 ราย และกรณีที่นายรังสิมันต์ ได้สอบถามกระทู้ถามสดกรณีนายเด่น คำแหล้ เป็นกรณีบุคคลสูญหายในประเทศไทย ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ดำเนินการติดตามจนพบว่าเสียชีวิตและได้ออกใบมรณะบัตรเรียบร้อยแล้ว

สำหรับกรณีผู้สูญหายในต่างประเทศนั้น กระทรวงยุติธรรมได้ประสานงานและติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการต่างประเทศ

นอกจากนี้ ญาติของ นายสุรชัย แซ่ด่าน และนายสยาม ธีรวุฒิ ซึ่งเป็นผู้เสียหาย 2 ราย ได้มายื่นเรื่องต่อคณะอนุกรรมการคัดกรองกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ เขตพื้นที่กรุงเทพ มหานคร เรียบร้อยแล้ว ซึ่งกระทรวงยุติธรรมจะได้เร่งรัดติดตามตรวจสอบ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงต่อไป

“ช่อ”รับทราบข้อหาหมิ่น“ปารีณา”

วันเดียวกันที่สน.ลุมพินี น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า เข้าพบ พ.ต.ท.อนันต์ วงศ์คำ รอง ผกก.(สอบสวน) สน.ลุมพินี และ ร.ต.ท.ทัยวัฒน์ วิวัฒน์เกียรติ รอง สว.(สอบสวน) สน.ลุมพินี เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา หลัง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) แจ้งความเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ปี 2562 กล่าวหาทำให้สังคมแตกแยก พร้อมกล่าวว่า

คดีนี้ผ่านมา 1 ปีแล้ว เพิ่งมีหมายเรียกนั้นช้าไปหรือไม่ หรือมีเหตุอะไรทำให้ต้องออกหมายเรียกในช่วงนี้หรือไม่ ทั้งที่ตอนนี้ประเทศไทยมีเหตุการณ์อะไรที่น่าสนใจมากกว่าคดีเล็กน้อยแบบนี้ ทั้งเรื่องโควิด-19 และเงินกู้งบประมาณ 1 ล้านล้านบาท คดีนี้ตนจึงไม่มีความกังวลใจใดๆ อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ส่วนการตอบกระทู้สดเรื่องนายวันเฉลิม ของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศกต.ตนรู้สึกผิดหวัง แทนที่จะทำให้ประชาชนมั่นใจใน กต.ในการดูแลคนไทยที่ตกทุกข์ในต่างแดน แต่กลับไม่แสดงความกระตือรือร้นการติดตามหาตัวกลับแถลงต่อสภา โดยยกบทสนทนาลอยๆ ว่าได้ชี้แจงกับทูตต่างประเทศว่า ไม่มีชาติใดติดใจกับกฎหมายอาญา ม.112