'งบฟื้นฟู' ผลกระทบโควิด ต้องคุ้มค่าและโปร่งใส

'งบฟื้นฟู' ผลกระทบโควิด ต้องคุ้มค่าและโปร่งใส

การฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด ขณะนี้อยู่ที่การใช้งบจาก พ.ร.ก.กู้เงิน ที่กันเงินไว้ 400,000 ล้านบาท ขณะนี้กำลังให้หน่วยงานต่างๆ ยื่นของบ ซึ่งงบเหล่านี้จะเป็นกลไกสำคัญฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วงปลายปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 และจำเป็นต้องใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยดีขึ้นต่อเนื่อง โดยข้อมูล ณ วันที่ 11 มิ.ย.2563 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศ รวมผู้ป่วยสะสม 3,125 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศสะสม 2,444 ราย โดยถ้านับเฉพาะการติดเชื้อภายในประเทศเป็นข่าวดีที่ไม่พบติดต่อกัน 16 วัน ส่วนผู้ป่วยที่อยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ยอดสะสม 188 ราย ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้วสะสม 2,987 ราย และเสียชีวิตสะสม 58 ราย 

การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบดำเนินการมาต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่การเยียวยาประชาชนอาชีพอิสระ ประชาชนที่อยู่ในระบบประกันสังคม เกษตรกร และสุดท้ายการเยียวยากลุ่มเปราะบาง ซึ่งการเยียวยาแต่ละกลุ่มมีปัญหาที่แตกต่างออกไป โดยบางปัญหาเกิดจากการสื่อสารทำความเข้าใจประชาชน บางปัญหาเกิดจากระบบคอมพิวเตอร์ แต่ภาครัฐควรเร่งแก้ปัญหาเพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับการช่วยเหลือเร็วที่สุด

หลังจากนี้จะเป็นช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งขณะนี้กำลังเข้าสู่การผ่อนปรนมาตรการควบคุมกิจกรรมระยะที่ 4 และกำลังจะมีการยกเลิกเคอร์ฟิว หลังจากที่การระบาดควบคุมได้ดีขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการและประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเพิ่มมากขึ้น แต่ทุกคนก็ต้องเฝ้าระวังไม่ให้การ์ดตก เพื่อไม่ให้กลับมาระบาดซ้ำรอบที่ 2 เพราะจะทำให้การควบคุมสถานการณ์ได้ยากลำบากขึ้นเหมือนที่เกิดขึ้นในบางประเทศ

การฟื้นฟูผลกระทบจากโควิดที่สำคัญในขณะนี้ อยู่ที่การใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน ที่กันเงินสำหรับการฟื้นฟูไว้ 400,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กำลังให้หน่วยงานต่างๆ ยื่นของบประมาณ และมีวงเงินคำขอเกือบ 800,000 ล้านบาทแล้ว ถือว่าเกินกว่าวงเงินที่มีถึง 1 เท่าตัว ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่สำคัญของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณา ถึงแม้จะมีแรงกดดันจากหน่วยงานที่ยื่นขอก็จะต้องยึดหลักในการพิจารณาที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะการเป็นโครงการที่ไม่ซ้ำซ้อนกับงบประจำ

งบประมาณการฟื้นฟูผลกระทบโควิด 400,000 ล้านบาท จะเป็นกลไกสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2563 ต่อเนื่องไปถึงปี 2564 ซึ่งหากมีการอนุมัติโครงการที่ไม่เหมาะสมย่อมส่งผลกระทบทางตรงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงเปราะบางมาก และนับเป็นเรื่องดีที่มีระบบการตรวจสอบการใช้งบประมาณที่ยกระดับขึ้นจากโครงการใช้งบพิเศษในอดีต ซึ่งหวังว่างบประมาณฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีอยู่อย่างจำกัดจะถูกใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ