ยอดผู้ป่วยเป็นศูนย์ แต่ 'การ์ดต้องไม่ตก' หน้ากากอนามัยสำคัญ 100%

ยอดผู้ป่วยเป็นศูนย์ แต่ 'การ์ดต้องไม่ตก' หน้ากากอนามัยสำคัญ 100%

ผลสำรวจ DDC Poll พบว่า การผ่อนปรนระยะที่ 3 แม้คนไทยส่วนใหญ่จะยังให้ความร่วมมือดีในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย แต่กลุ่มอายุ 15 – 24 ปี สวมหน้ากากเพียง 79.13% อาจเนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์ดีขึ้น อย่างไรก็ตามหน้ากากยังสำคัญ 100%และควรยกให้เป็นปัจจัยที่ 6

ในงานแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 วานนี้(11มิย.) นายแพทย์อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยผลสำรวจทัศนคติ ความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการสวมหน้ากากอนามัยและการล้างมือ จัดทำโดย สำนักสื่อสารความเสี่ยง และพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ (ดีดีซีโพล – DDC Poll) กรมควบคุมโรค สำรวจผ่านทางระบบออนไลน์ (Google Form) ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 1 -6 มิถุนายน โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 1,286 คน

การสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมการสวมหน้ากากอนามัยเวลา “มีอาการ” ไข้ ไอ เจ็บคอ ส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่เชื้อ 93.1% ขณะที่ การสวมหน้ากากเวลา “ไม่มีอาการ” ไข้ ไอ เจ็บคอ เพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับเชื้อ 66.8%

เมื่อสอบถามว่าจะเลิกสวมหน้ากากอนามัยเมื่อใด พบว่าส่วนใหญ่ยังคงจะสวมหน้ากากอนามัยต่อเนื่องแม้โควิด-19 ผ่อนคลาย 53.5% ถัดมา คือ เลิกสวมเมื่อไม่มีรายงานผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศ 44% เลิกสวมเมื่อไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ 36.3% เลิกสวมเมื่อรัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 13.6% เลิกสวมเมื่อไม่มีอาการป่วย 10.5% ไม่ทราบ 7.5% เลิกสวมเมื่อคนรอบข้างเริ่มไม่สวมหน้ากาก 4.9% และ ไม่สวมหน้ากาก 0.7% 

เมื่อจำแนกพฤติกรรมการสวมหน้ากากอนามัยตามเพศ พบว่า ไม่สวมเมื่อมีไข้ แบ่งเป็น เพศหญิง 6.1% เพศชาย 11.3% สวมเมื่อมีไข้ เพศหญิง 93.9% เพศชาย 88.7% ไม่สวมเมื่อไม่มีไข้ เพศหญิง 30.6% เพศชาย 39.9% และสวมเมื่อไม่มีไข้ เพศหญิง 69.4% และ เพศชาย 60.1%

เมื่อจำแนกพฤติกรรมการสวมหน้ากากอนามัยตามช่วงอายุ พบว่า อายุ กลุ่มอายุ 15 – 24 ปี สวมน้อยที่สุด 79.13% กลุ่ม 25-34 ปี 91.43% กลุ่มอายุ 35 – 44 ปี 91.79% กลุ่มอายุ 45 – 54 ปี 95.17% กลุ่มอายุ 55-64 ปี 93.01% และ 65 ปีขึ้นไป 97.22%

ในส่วนของการล้างมือด้วยน้ำสบู่ ส่วนใหญ่กว่า 90.5% ล่างมือหลังเข้าห้องน้ำ และก่อน - หลัง รับประทานอาหาร ถัดมา คือ หลังสัมผัสลูกบิดประตู/ราวบันได หลังไอจาม และ ก่อน- หลังการปรุงอาหาร

สำหรับผลสรุปการสำรวจทัศนคติ ของประชาชนพบว่า ประชาชนมีแนวโน้มการสวมหน้ากากลดลง กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสสัมผัสโรค ได้แก่ เพศชาย อายุ 15 – 24 ปี เนื่องจากอาจจะเห็นว่าสถานการณ์ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การสำรวจเหล่านี้เป็นเพียงช่วงเดียว เราอาจไม่สรุปว่าเยาวชนไม่ให้ความร่วมมือเลย แต่ต้องทำความเข้าใจให้เข้าใจว่า การติดเชื้อในประเทศเป็นศูนย์ ไม่ได้หมายความว่าไทยปลอดเชื้อ 100% การติดเชื้อไม่แสดงอาการยังเป็นไปได้อยู่ สิ่งสำคัญคือ ช่วงเปิดเรียน ต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อความปลอดภัย ทั้งครู และนักเรียน

ดังนั้น การคงมาตรการรณรงค์สวมหน้ากาก 100% แม้ไม่มีอาการป่วย จะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสวมหน้ากาก โดยเฉพาะเมื่อออกไปในสถานที่สาธารณะ หรืออยู่ร่วมกับผู้อื่น การรณรงค์จากทางราชการ การให้ความร่วมมือจากผู้ประกอบการ และประชาชน ยังสำคัญต้องสู้กับโควิด-19 อาจจะ 1 – 2 ปี จนกว่าจะมีวัคซีน การที่ต้องป้องกันตนเองให้มาก โดยเฉพาะการใส่หน้ากากอนามัยเป็นเรื่องสำคัญ ถือเป็นปัจจัยที่ 6 (รองจากปัจจัยที่ 5 สมาร์ทโฟน)

“ขณะเดียวกัน เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่องค์การอนามัยโลก เห็นด้วยกับการใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ แม้จะช้าแต่สุดท้ายก็เห็นตัวอย่างดีๆ ที่เกิดขึ้น จนกระทั้งมีการศึกษาวิจัยว่าการสวมหน้กากอนามัยมีประโยชน์”

159189277333

นายแพทย์อนุพงศ์ กล่าวต่อไปว่า แม้จะเข้าสู่วันที่ 17 ที่การติดเชื้อในประเทศเป็นศูนย์ แต่การ์ดตกไม่ได้ ยังคงมีประชาชนไทยที่ต่างประเทศทยอยกลับมาเรื่อยๆ ในวันนี้ผู้ติดเชื้อใน State Quarantine ยังศูนย์ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เดินทางมาจากประเทศที่ความเสี่ยงต่ำ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ทำให้ตรวจไม่เจอเชื้อ

แต่หลังจากนี้ เมื่อไหร่ก็ตามที่ยังมีพี่น้องชาวไทยกลับมาจากตะวันออกกลาง อเมริกา อเมริกาใต้ หรือพื้นที่ระบาดสูง เมื่อนั้นความเสี่ยงก็ยังพบผู้ติดใน State Quarantine ได้อีก แต่ก็ขอให้ความมั่นใจว่าเรามีการกักตัวทุกคน 14 วัน มีมาตรการเข้มข้น ตรวจเชื้อ 2 ครั้ง เพื่อความปลอดภัย ไม่มีการแพร่เชื้อในชุมชน และขอให้อย่าการ์ดตก

ต่อไปอาจมีการเปิดกิจกรรมระยะที่ 4 การเปิดหลายกิจการ การเปิดน่านฟ้า การส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ จากประสบการณ์ในประเทศเวียดนาม พบว่า เวียดนามสามารถควบคุมโรคในภูมิภาคนี้ได้อย่างดี และปลอดเชื้อเกือบจะ 50 กว่าวัน แต่ยังไม่ทิ้งเรื่องการใส่หน้ากากอนามัย ยังคุมเข้ม และไม่เปิดประเทศโดยเฉพาะทางอากาศ ให้ความป้องกันในระดับสูง

“หากดูภายนอกจะเห็นว่า ยุโรป ยังทรงตัว ด้านตะวันออกกลางยังเป็นพื้นที่ระบาด อเมริกา อเมริกาใต้ ยังไว้ใจไม่ได้ ดังนั้น เราอย่าพึ่งวางใจ” 

ขณะเดียวกัน ผู้ที่อยู่ใน State Quarantine ทุกคนที่เข้ามาต้องถูกตรวจเชื้อในระหว่าง 14 วัน และอยู่ห้องละ 1 คน กรณียกเว้นเพียงเด็กเล็กให้อยู่กับพ่อแม่ ระยะฟักตัวของโรคซึ่ง 14 วัน จากประสบการณ์ประเทศไทยอยู่ที่ 5.7 วัน หลังจาก 14 วัน ถึงจะมีอาการแต่โอกาสน้อยมาก เชื้อโรคเมื่ออยู่ในร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะทำการกำจัดเชื้อออกไป ในกรณีที่เชื้อน้อย หากภูมิคุ้มกันแข็งแรงเชื้อจะถูกฆ่าได้ ดังนั้น หลังจากกลับออกไปสู่ชุมชน คนเหล่านี้จะไม่แพร่โรคสู่ชุมชนอย่างแน่นอน

  • แนะสวมหน้ากากอนามัย 100%

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจเรื่อง “การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระหว่างมาตรการผ่อนปรนระหว่างวันที่ 8 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน 2563” โดย กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้ MIU ร่วมกับ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และองค์การอนามัยโลก (WHO) เก็บข้อมูล 3 วิธี คือ ผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 143,827 ราย , ผ่านทางระบบออนไลน์ มีผู้ตอบแบบสอบถาม 69,489 ราย และ ผ่านทางโทรศัพท์ โดยนักศึกษาแพทย์รามาฯ 55 คน สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,882 ราย

ดร.ภญ.วลัยพร พัชรนฤมล ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวถึงผลการสำรวจว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ยังคงใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา 91.5% ถัดมา คือ การล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮฮล์ 83.9% กินอาหารร้อนและใช้ช้อนกลางของตนเอง 83.7% ภาพรวมพฤติกรรมป้องกันตนเอง 75.7% ระวังไม่อยู่ใกล้คนอื่นในระยะน้อยกว่า 2 เมตร 66.0% และ ระวังไม่เอามือจับหน้า จมูก ปาก 58.8%

ระหว่างวันที่ 29 พ.ค. – 4 มิ.ย.63 การเดินทางออกนอกจังหวัด สูงขึ้นเล็กน้อย โดยเหตุผลหลัก คือ การไปทำงาน หรือ ธุระจำเป็น ในส่วนของการไปสถานที่ต่างๆ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ ไปร้านอาหารแบบนั่งทาน ซุปเปอร์มาร์เก็ต ตลาดสด และที่ทำงาน สำหรับ การพบเห็นมาตรการป้องกันโรคของแต่ละสถานที่ ส่วนใหญ่พบว่า มีการจัดให้มีที่ล้างมือ หรือ เจลแอลกอฮอล์ รองลงมาคือ พนักงาน และ ผู้ใช้บริการสวมหน้ากาก มีการวัดอุณหภูมิร่างกาย จัดระยะห่างระหว่างบุคคล และ สุดท้ายคือ การทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อในสถานที่และบนพื้นผิวสัมผัส ขณะเดียวกัน การใช้ขนส่งสาธารณะ ยังมีไม่มากนัก มีสัดส่วนน้อยกว่า 20%

สำหรับ การเดินทางเข้าประเทศทั้งทางบก น้ำ และอากาศ การสำรวจส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า อนุญาตให้คนไทยเดินทาเข้าประเทศได้ตามปกติ แต่ต้องมีการคัดกรองและกักตัว 14 วัน ในสถานที่ควบคุมของภาครัฐ ด้าน ชาวต่างชาติ มากกว่า 60% คิดว่าไม่ควรอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศ และมีน้อยกว่า 1% ที่คิดว่าควรให้คนไทยและชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทยได้โดยไม่ต้องคัดกรอง และกักตัว 14 วัน

“จากการสำรวจ ได้ข้อสรุปว่า ประชาชนยังปฏิบัติมาตรการป้องกันตนเองได้ดีพอสมควร แต่ขอให้ดีเพิ่มขึ้น เช่น การสวมหน้ากากอนามัย 100% ในส่วนประเด็นที่พบเห็นมาตรการป้องกันโรคในสถานที่ต่างๆ ยังทำไม่เต็มที่ 100% ขอให้ช่วยกัน” ดร.ภญ.วลัยพร กล่าว