บอร์ด ‘อสมท’ ซักหนักแบ่งเงินเยียวยา ประธานชิงปิดประชุม

บอร์ด ‘อสมท’ ซักหนักแบ่งเงินเยียวยา ประธานชิงปิดประชุม

บอร์ด "อสมท" อลเวง ประธานชิงปิดประชุมกรณีมอบอำนาจ "เขมทัตต์" แบ่งเงินเวนคืนคลื่น 2600 กับเอกชน

มีรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) mcot เมื่อบ่ายวันนี้(11 มิ.ย.63) มี 2 วาระสำคัญที่ทำให้เกิดความอลเวง ในการประชุม ถึงขั้นประธานบอร์ดต้องปิดประชุม เลื่อนการพิจารณาลงมติ ในเรื่องการมอบอำนาจให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ นายเขมทัตต์ พลเดช ไปเจรจากับ กสทช. อันเป็นที่มาของการแบ่งเงิน ค่าชดเชยในการเวนคืนคลื่นความที่ 2600 เมกกะเฮิรตซ์ ที่ส่อว่าอาจจะเป็นการกระทำอันมิชอบ

โดยมีรายงานว่า ในวาระดังกล่าว กรรมการจำนวน 4 คน ได้ทักท้วงการกระทำของนายเขมทัตต์ ที่ทำหนังสือแจ้งต่อกสทช.ว่าได้รับมอบอำนาจจากประธานบอร์ด อสมท ให้เป็นตัวแทนผู้มีอำนาจ ไปเสนอ กสทช. แบ่งเงินชดเชย จำนวน 3.2 พันล้านบาทในอัตรา 50:50 กับบริษัทเอกชน

โดยกรรมการ 4 คน ทักท้วงว่า ประธานไม่มีอำนาจ ที่จะมอบอำนาจให้ นายเขมทัตต์ เพราะการมอบอำนาจให้ผู้หนึ่งผู้ใดกระทำการในฐานะตัวแทนองค์กร จะต้องเป็นมติของคณะกรรมการ มิใช่การกระทำโดยส่วนตัวของประธาน

มีรายงานว่า เมื่อมีการโต้แย้งการกระทำดังกล่าวทำให้ ประธานกรรมการ ซึ่งประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเร้นท์ เพราะตัวอยู่จังหวัดขอนแก่น แจ้งว่าวาระนี้ให้ว่ากันไปเลยตัวเองขอไม่พิจารณา จากนั้นก็ปิดวีดีโอคอนเฟอเร้นท์

ที่ประชุมจึงเลือก รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นกรรมการ และอาวุโสที่สุดที่อยู่ในการประชุม เป็นประธานในที่ประชุมชั่วคราว และมีการอภิปรายประเด็นนั้นต่ออย่างกว้างขวาง โดยกรรมการหลายคน เห็นว่าควรลงมติเพื่อแจ้ง กสทช. ว่า การกระทำของนายเขมทัตต์ ที่ผ่านมามิใช่การกระทำโดยมติคณะกรรมการ และมิได้มีอำนาจตามกฏหมาย เพื่อให้กสทช. พิจารณาเรื่องดังกล่าวใหม่ให้ถูกต้อง

เมื่อถึงขั้นจะลงมติ  ประธานบอร์ด ซึ่งออกจากการประชุมไปแล้ว ได้ขอกลับเข้ามาขอร่วมประชุมผ่านวีดีโออีกครั้ง และสั่งเลื่อนการประขุมในวาระดังกล่าวออกไป อย่างไม่มีกำหนด พร้อมสั่งปิดประชุมทันที

มีรายงานว่า จากปัญหาดังกล่าวมีกรรมการ 3-4 คน ไม่พอใจและเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง จึงเตรียมทำหนังสือแจ้งข้อเท็จจริง ไปยังก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯและกำลังจะพิจารณาว่าอาจจะต้องแจ้งต่อป.ป.ช.ด้วยหรือไม่ ในฐานะที่เป็นกรรมการ พบเห็นการกระทำอันมิชอบนี้

นอกจากนี้ในการประชุมวันเดียวกัน ยังได้มีการพิจารณา ล้มกรรมการสรรหา และการพิจารณาค่าตอบแทน เพื่อล้มมติการสรรหากรรมการใหม่ 4 คน ที่กรรมการสรรหาพิจารณาแล้วเสร็จตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมาเพื่อเตรียมนำเสนอให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาลงมติต่อไป

เป็นที่น่าสังเกตว่า มีการลงมติว่าจะล้มหรือไม่ล้มมติการสรรหานั้น ในที่ประชุม ลงมติด้วยคะแนน 3:3 ซึ่งเป็นเสียงเสมอกัน หากเป็นเช่นนี้ก็ถือว่ามิอาจล้มมติเดิมได้

เมื่อถึงขั้นนี้ประธานกรรมการ แม้ว่าถูกทักท้วงจากรรมการหลายคนว่า ถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะไม่ได้รับการสรรหาให้ต่อวาระ กลับขอลงมติ เพื่อให้เสียงชนะ เป็น 4:3 จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่กรรมการว่าการกระทำดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่