‘ชาติชาย’ เนรมิต ‘ออมสิน’ ขึ้นแถวหน้า ‘ดิจิทัล แบงกิ้ง’

‘ชาติชาย’ เนรมิต ‘ออมสิน’  ขึ้นแถวหน้า ‘ดิจิทัล แบงกิ้ง’

ความท้าทายจากการดีสรัปของ “ดิจิทัล แบงกิ้ง” สู่สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ทำให้ธุรกิจธนาคารต้องเร่งปรับตัวขนานใหญ่ เพื่อรองรับ “ไลฟ์สไตล์” ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป หนึ่งใน “สถาบันการเงิน” ที่ปรับตัวรับ New Normal

โดย “MyMo” แอพพลิเคชั่นบนมือถือของธนาคารออมสิน ถือเป็นหนึ่งใน “โมบาย แบงกิ้ง” ที่ประชาชนให้ความนิยม ล่าสุดมียอดผู้ใช้บริการรวมกว่า 9.4 ล้านราย และปัจจุบัน ธนาคารออมสิน ยังอยู่ระหว่างเร่งพัฒนา เพื่อให้บริการทางการเงินที่สามารถเสิร์ฟถึงตัวลูกค้าได้ทันทีในลักษณะ Delivery Banking

ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน หัวเรือใหญ่ที่ผลักดัน “ออมสิน” จนขึ้นสู่แถวหน้า “ดิจิทัล แบงกิ้ง” ของเมืองไทย ซึ่งเจ้าตัวกำลังจะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งในกลางเดือนมิ.ย.นี้ โดยเขาได้ให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้พฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไป ในมุมที่เพิ่มขึ้นจะเห็นว่า ลูกค้าอาจต้องวางแผนการเงินมากขึ้น 

เพราะความกังวลที่เกี่ยวกับสถานการณ์รายได้และสุขภาพ อาจต้องมีการสำรองเงินไว้ใช้อย่างน้อย 6 เดือน ขณะเดียวกัน การใช้ชีวิตก็จะผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ลดการเข้าสังคม รวมถึง การทานข้าวนอกบ้าน การทำธุรกิจก็ต้องปรับให้สอดรับกับนิวนอร์มอล

เขาย้ำว่า ธนาคารออมสิน ปรับตัวตลอดเวลา เมื่อไหร่ที่หยุดปรับ เราก็จะยืนอยู่ตรงนี้ไม่ได้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สามารถสร้างความมั่นคงจนมีกำไรเพิ่มขึ้น ทำให้เรามีความสามารถช่วยเหลือสังคมได้มากขึ้น โดยเฉพาะในปีนี้ จึงต้องบอกว่า สิ่งที่เราทำมาตั้งแต่ปลายปีถึงตอนนี้ เราสามารถช่วยเหลือสังคมได้มาก

ชาติชาย บอกว่า สิ่งที่ออมสินต้องทำต่อไป หรือ Next Normal คือ ไฟแนนซ์เชียล เซอร์วิสต่างๆ หลังโควิด-19 จะเห็นว่า ประชาชนจะไม่ไปแบงก์ แต่จะไปจุดที่ให้บริการการเงินได้ เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น หรือ ตู้เติมเงินต่างๆ ซึ่งพวกนี้ จะเป็นแบงกิ้งเอเย่นของเรา 

“จริงๆวันนี้ ไม่ต้องไปแบงก์แล้ว ลูกค้าก็มีมือถือ มีเทคโนฯใหม่ในการใช้ชีวิตออนไลน์ ในการเรียนรู้ เป็นนิวนอร์มอล ทำให้ทุกแบงก์ต้องปรับตัว อีกหน่อยคนจะไปแบงก์เฉพาะไปธุรกรรมที่ซับซ้อน เช่น ในการลงทุนกู้เงินขนาดใหญ่ ดังนั้น ทีมงานก็ต้องความรู้”

ทั้งนี้ แบงก์เองแทนที่จะตั้งรับ ก็ต้องเป็น Delivery Banking ต้องออกไปให้บริการได้เทียบเท่าหน้าเคาน์เตอร์ธนาคาร เราจะมีโมบายแบงกิ้งเป็นแกนกลางในการให้บริการ ที่เรายังต้องทำอยู่และเอาคนไปทำ คือ ทำงานด้านโซเชียลแบงกิ้ง เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ดูแลประชาชนตามนโยบายรัฐ และ เอสเอ็มอีสตาร์ทอัพ

เขาบอกด้วยว่า ธุรกิจแบงก์ที่จะอยู่ได้ ต้องสร้างดิจิทัลแบงกิ้งที่มีแพลทฟอร์มเพื่อหารายได้ โดยสร้างบิซิเนสโมเดลเพื่อสร้างลูกค้าใหม่ๆจากบริการต่างๆ ซึ่งจะทำให้เราแข่งขันได้ เราจะทำให้ MyMo เป็นมายไลฟ์ หรือการใช้ชีวิตกับMyMo ซึ่งวันนี้ เราสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม องค์ประกอบเรามีครบแล้วผ่านการลงทุนในเวนเจอร์แคปจำนวน 30 บริษัท และ ทีมไอทีภายในที่แข็งแกร่ง

ชาติชาย บอกด้วยว่า ช่วงวิกฤติปี 2540 กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวต้องใช้เวลา 4-5 ปี เพราะคนเป็นหนี้เสียเยอะ บางแบงก์ 70% บางแบงก์ 40-50% แบงก์ที่ดีที่สุดขณะนั้น คือ กสิกรไทย มีหนี้เสียถึง 50% ถามว่า ปี 2541-2542 พวกหนี้เสียมีใครกล้าปล่อยสินเชื่อไหม ไม่มี จนกว่า จะผ่านวิกฤติไป 3-4 ปี แต่วันนี้ ณ วินาที ไม่มีใครเป็นหนี้เสียเพิ่มทั้งประเทศ เพราะเรากด Pause ประเทศไทยไว้ 6 เดือน อีก 6 เดือนมาว่ากัน ดังนั้น ไม่มีใครบาดเจ็บ ทั้งธุรกิจและคนกู้เงิน เพราะไม่เป็นหนี้เสีย

“ผมเชื่อว่า แม้วิกฤติครั้งนี้จะรุนแรงกว่าต้มยำกุ้งหลายเท่า แต่จะฟื้นเร็วกว่า เอาแค่ง่ายๆวันเสาร์ ไปทางไหนรถติดหมดทุกเส้นในประเทศไทย การท่องเที่ยวจะกลับมา ส่วนการส่งออกอาจต้องรอประเทศอื่นฟื้น ดังนั้น วันข้างหน้าคนจะจำว่า วิกฤติทุกครั้งออกมาช่วยเหลือธุรกิจและสังคม ตั้งแต่ 100 ปีที่แล้ว ในปี 2540 เราก็เข้าไปถือหุ้นให้กับทุกแบงก์”

ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีที่ “ชาติชาย” ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้สะท้อนให้เห็นถึงการพลิกโฉมธนาคารอย่างแท้จริง โดยสามารถสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นธนาคารที่มีความทันสมัย ผลักดันมูลค่าของแบรนด์องค์กรจาก 5.2 หมื่นล้านบาทเมื่อปี 2558 ขึ้นมาอยู่ที่ 1.32 แสนล้านบาท ในปัจจุบัน