อุตฯ อาหารปรับตัวรับโควิด เร่ง 'ฟังก์ชันนัล ฟู้ด' เพื่อสุขภาพ

อุตฯ อาหารปรับตัวรับโควิด เร่ง 'ฟังก์ชันนัล ฟู้ด' เพื่อสุขภาพ

อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล และยังเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมทั้งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และพื้นที่อื่นที่มีศักยภาพทั่วประเทศ

อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล และยังเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมทั้งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และพื้นที่อื่นที่มีศักยภาพทั่วประเทศ

รวมทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างประโยชน์ลงลึกในท้องถิ่นถึงฐานราก โดยหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมนี้ก็คือสถาบันอาหาร ที่ได้เร่งปรับแผน เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงหลังโควิด-19

อนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารใน อีอีซี ได้ดำเนินโครงการสร้างความเข้มแข็ง เครือข่ายผลิตและแปรรูปผลไม้ เกษตรอินทรีย์เกษตรปลอดภัยครบวงจรด้วยระบบคุณภาพ และนวัตกรรมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรภาคตะวันออก ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี และสระแก้ว 

ทั้งนี้ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์และตรวจวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยอาหาร

ในขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ได้ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบความต้องการอาหารในตลาดโลก และพฤติกรรมผู้บริโภค โดยประเด็นความมั่นคงทางอาหารกลายมาเป็นประเด็นที่สำคัญของทุกประเทศ เนื่องจากในช่วงที่ระบาดอย่างรุนแรงส่งผลกระทบต่อการขนส่งจากประเทศผู้ผลิตอาหารไปสู่ประเทศผู้นำเข้า และกักตุนอาหารในหลายประเทศ 

ทำให้หลายประเทศต่างปรับนโยบายหันไปพึ่งพาการผลิตอาหารภายในประเทศเพิ่มขึ้น อย่างไรตามประเทศที่ผลิตอาหารไม่เพียงพอ เช่น ในพื้นที่ตะวันออกกลาง ก็ยังมีขีดจำกัดในการผลิต จึงหันมานำเข้าอาหารกระป๋อง หรืออาหารที่เก็บได้ยาวนานเพิ่มขึ้น

ส่วนประเทศไทยได้กลับมาทบทวนความมั่นคงทางอาหาร โดยได้ลงไปสำรวจทรัพยากรอาหารในประเทศ เพื่อวางแผนพัฒนาให้พึ่งพาวัตถุดิบภายในประเทศให้มากที่สุด และทำการสำรวจอย่างลงลึกในโรงงานผลิตอาหารทั่วประเทศ หากเกิดปัญหาโรคระบาดรุนแรงถึงขั้นต้องปิดประเทศ ก็มีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอ

159188006793

สำหรับผู้ประกอบการผลิตอาหาร ก็ต้องเร่งปรับตัวหันมาพึ่งพาเทคโนโลยี เพื่อยืดอายุอาหารแปรรูปให้อยู่ได้ยาวนานมากขึ้นและรักษาโภชนาการได้คงเดิม บางรายสินค้าเก็บได้ 1 เดือน ก็ต้องพยายามยืดอายุให้ได้ 6 เดือน ถึง 1 ปี บางสินค้าอายุ 1 ปี ก็ต้องยืดอายุให้ได้ถึง 2 ปี หรือมากกว่านั้น โดยใช้เทคโนโลยีแพ็กเกจจิ้ง ความร้อน หรือฟรีซดราย 

สถาบันอาหารพร้อมช่วยเหลือ โดยมีเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ นักโภชนาการ ห้องทดลองวิเคราะห์ทดลอง และเครื่องจักรที่ทันสมัยให้ผู้ประกอบการเข้ามาทดลองผลิตสินค้าต้นแบบ เพื่อนำไปขยายในเชิงพาณิชย์ต่อไป

“ตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มต้องการอาหารสำเร็จรูป หรือกึ่งสำเร็จรูปที่เก็บได้ยาวนานขึ้น เพื่อให้มีระยะเวลาการจำหน่ายเพิ่มขึ้น และสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยช่วงโควิด-19 กลุ่มอาหารสำเร็จรูปที่เกินได้เกิน 1 ปี เช่น อาหารกระป๋อง มียอดส่งออกที่เพิ่มสูงมาก

นอกจากนี้ สถาบันอาหารได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ 5 ด้าน มุ่งสู่อาหารแห่งอนาคตรองรับแนวโน้มด้านอาหารใหม่ของโลก ได้แก่ 

1.ฟังก์ชันนัลฟู้ด ในรูปแบบอาหารเพื่อเจาะเฉพาะกลุ่ม เช่น อาหารเด็ก อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารทางการแพทย์ และอาหารกลุ่มมังสวิรัติ เพื่อป้อนให้กับกลุ่มวีแกนที่ต้องการอาหารปราศจากเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นที่นิยมในตลาดโลกมากขึ้นเรื่อยๆ

“สถาบันอาหารจะส่งเสริมการผลิตอาหารฟังก์ชั่นนอลฟู้ดทั้งในกลุ่มอาหารเฉพาะกลุ่มที่แม้ว่ามีปริมาณไม่มากแต่มีมูลค่าสูง และในกลุ่มที่ผลิตเป็นจำนวนมากป้อนให้กับตลาดขนาดใหญ่ เช่น Sport drink หรือเครื่องดื่มเพื่อนักกีฬาและผู้ออกกำลังกาย ขนมขบเคียวที่ให้พลังงาน และวิตามินสูง แต่น้ำตาล เกลือต่ำ ซึ่งเป็นของกินเล่นที่อร่อย และได้ประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นต้น ซึ่งตลาดกลุ่มนี้มีความต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆ และสอดรับกับแนวโน้มหลังโควิด-19 ที่ผู้บริโภคต้องการอาหารที่มีประโยชน์ สร้างภูมิคุ้มกันต่อร่างกายมากขึ้น”

2.นวัตกรรม โดยจะเข้าไปสนับสนุนนวัตกรรมการผลิต ที่มีประสิทธิภาพสูงและลดต้นทุน การผลิตอาหารในรูปแบบใหม่ที่จำหน่ายได้ในเชิงพาณิชย์ 

3.ความเชื่อมั่น เชื่อถือได้ และการบริการที่ดี เพื่อให้ตลาดโลกมีความเชื่อมั่นในคุณภาพของอาหารที่ผลิตจากประเทศไทย 

4.ความปลอดภัย โดยจะยกระดับให้อาหารทุกอย่างที่ออกจากโรงงาน หรือสถานประกอบการมีความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานโลก และจะเข้าไปควบคุมอย่างเข้มงวด

5.เทคโนโลยี ซึ่งจะเร่งยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 นำเทคโนโลยีใหม่ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เข้ามาใช้ในระบบการผลิตมากขึ้น เนื่องจากโลกหลังโควิด-19 ผู้บริโภคต้องการอาหารที่ลดการสัมผัสจากคน และสัตว์ มากขึ้น เพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อโรค ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีการผลิตจะลดการสัมผัส สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันขึ้น

“ในอนาคตมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารจะเข้มงวดขึ้น หากไทยปรับตัวได้ทันตามมาตรฐานใหม่จะทำให้มีความได้เปรียบเหนือประเทศคู่แข่ง โดยจะเข้าไปเร่งจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับในอุตสาหกรรมอาหารทุกระดับ ให้อาหารทุกชิ้นที่ผลิตออกมาตรวจย้อนกลับไปถึงแหล่งผลิต”