กรมประมง สั่งปิดอ่าว ตัว ก. เริ่ม มิ.ย.- ก.ย.นี้

กรมประมง สั่งปิดอ่าว ตัว ก. เริ่ม มิ.ย.- ก.ย.นี้

กรมประมง ปิดอ่าว ตัว ก.2 ช่วง สัตว์น้ำวางไข่ 15 มิ.ย.- 30 ก.ย. นี้ ใช้เครื่องมือจับปลาได้เฉพะที่ประกาศเท่านั้น

นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เมื่อปีที่ผ่านมา จากข้อมูลการศึกษาและสำรวจปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำหลังมาตรการปิดอ่าวไทยรูปตัว ก ผลการจับปลาเศรษฐกิจปรับตัวสูงขึ้น 1.6 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนมาตรการ โดยกลุ่มปลาเศรษฐกิจ ที่พบมาก 3 อันดับแรก ได้แก่ ปลามงโกรย ปลาหลังเขียว และปลาทู

อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของปลาทู ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควรจะเป็น จะเห็นได้ว่าผลผลิตโดยรวมสอดคล้องกับผลการศึกษาทางวิชาการเกี่ยวกับวงจรชีวิตของสัตว์น้ำ ที่อพยพตามห้วงเวลาในแต่ละพื้นที่ กล่าวคือ ในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนมิ.ย.-ก.ย. ของทุกปี ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในมีสัตว์น้ำขนาดก่อนเริ่มสืบพันธุ์อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก จากผลการสำรวจทางวิชาการพบปลาทูในเขตอ่าวไทยรูปตัว ก ฝั่งตะวันตก พื้นที่ปิดอ่าวช่วงที่ 1 มีขนาดเฉลี่ย 13 – 14 เซนติเมตร หรือ ที่ชาวประมงเรียก ปลาสาว ยังไม่สามารถสืบพันธุ์วางไข่ได้

ซึ่งปลาทูกลุ่มนี้จะอพยพเข้ามาอาศัยในพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก ตอนเหนือ ในพื้นที่ปิดอ่าวช่วงที่ 2 และพบว่ามีขนาดเฉลี่ย 16-18 เซนติเมตร ถือว่าเป็นแม่ปลาที่พร้อมผสมพันธุ์และจะกลับลงไปวางไข่ในบริเวณอ่าวไทยตอนกลาง ช่วง มาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลาง ในปีถัดไป

ดังนั้น จึงควรมีการคุ้มครองสัตว์น้ำเหล่านี้มิให้ถูกจับก่อนที่จะมีโอกาสได้ผสมพันธุ์และวางไข่ หรือถูกจับก่อนวัยอันควร เพื่อเป็นการเพิ่มทั้งขนาดและมูลค่าของสัตว์น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญจะส่งผลให้ปลาทูกลับฟื้นคืนความสมบูรณ์ดังเดิม

ทั้งนี้ในปี 2563 กรมประมงประกาศใช้มาตรการปิดอ่าวไทยรูปตัว ก 2 ช่วง คือ ตั้งแต่ วันที่ 15 มิ.ย.- 15 ส.ค. 2563 ในพื้นที่จับสัตว์น้ำอ่าวไทยตอนใน ฝั่งตะวันตก บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร โดยเริ่มจากอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสิ้นสุดที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,350 ตารางกิโลเมตร

และวันที่ 1 ส.ค. – 30 ก.ย. 2563 ในพื้นที่จับสัตว์น้ำอ่าวไทยตอนใน ด้านเหนือบางส่วน ของจังหวัดสมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี โดยเริ่มจากอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และสิ้นสุดที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,650 ตารางกิโลเมตร

159187045410

โดยมีการกำหนดให้ใช้เครื่องมือและวิธีทำการประมงที่สามารถทำการประมงได้ ตามพระราชกำหนดการประมง(พรก.)ปี 2558 เช่น อวนลากแผ่นตะเฆ่ที่ใช้ประกอบกับเรือกลลำเดียว ขนาดต่ำกว่า 20 ตันกรอส ให้สามารถทำการประมงได้เฉพาะในเวลากลางคืนและบริเวณนอกเขตทะเลชายฝั่ง อวนติดตาปลาที่ใช้ประกอบเรือกล ขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส มีขนาดช่องตาอวนตั้งแต่ 5 เซนติเมตรขึ้นไป ความยาวอวนไม่เกิน 2,000 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ ทั้งนี้ห้ามทำการประมงโดยวิธีล้อมติดตา หรือวิธีอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน อวนติดตาชนิด อวนปู อวนกุ้ง อวนหมึก อวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ให้ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง เป็นต้น

"กรมประมงต้องขอขอบประมงทุกคนที่ให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐในการปฎิบัติตามในมาตรการปิดอ่าวไทยรูปตัว ก จนกระทั่งท้องทะเลฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ดังเช่นแต่ก่อน จึงเป็นสิ่งยืนยันได้ว่ามาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน บริเวณอ่าวไทยตอนใน นั้นมีส่วนช่วยทำให้ประชากรสัตว์น้ำเพิ่มจำนวนมากขึ้นและช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเล"