อินโดฯ หารือสหรัฐ ดึงบริษัทหนีจีนตั้งฐานผลิต

อินโดฯ หารือสหรัฐ ดึงบริษัทหนีจีนตั้งฐานผลิต

รัฐบาลอินโดนีเซีย หารือกับรัฐบาลสหรัฐเพื่อดึงดูดบรรดาบริษัทสัญชาติอเมริกันย้ายฐานการผลิตจากจีนมาตั้งในอินโดนีเซีย

รัฐบาลอินโดนีเซีย หารือกับรัฐบาลสหรัฐเพื่อดึงดูดบรรดาบริษัทสัญชาติอเมริกันย้ายฐานการผลิตจากจีนมาตั้งในอินโดนีเซีย แม้ว่าประเด็นต้นทุนแรงงานราคาถูกในแดนอิเหนาจะไม่สามารถดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกอย่างแอ๊ปเปิ้ลให้ย้ายฐานการผลิตจากเวียดนามได้ก็ตาม

ความพยายามของทางการอินโดนีเซีย เกิดขึ้นในช่วงที่ภาคธุรกิจและรัฐบาลประเทศต่างๆ พยายามหาแหล่งผลิตทางเลือกใหม่ที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อรับมือกับปัญหาผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทานที่มีสาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

“ลูฮัต ปันไจตัน” รัฐมนตรีประสานงานกิจการทางทะเลและการลงทุนของอินโดนีเซีย กล่าวว่า รัฐบาลจาการ์ตาเสนอผลประโยชน์แก่ภาคธุรกิจอเมริกันในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศ รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมเคนดัลในชวาตอนกลาง ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ได้รับการยกเว้นภาษี

ปันไจตัน เปิดเผยว่า นิคมอุตสาหกรรมอีกแห่งที่รัฐบาลอินโดนีเซียเชื้อชวนให้บริษัทอเมริกันเข้ามาลงทุนคือ นิคมอุตสาหกรรมเบรเบส เป็นหนึ่งใน 89 นิคมฯที่เป็นโครงการสำคัญระดับประเทศภายใต้แผนพัฒนาอุตสาหกรรมของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ซึ่งที่ผ่านมา มีบริษัทประมาณ 20 แห่งแสดงความสนใจที่จะย้ายฐานการผลิตมายังอินโดนีเซีย

ที่ผ่านมา ปันไจตัน ได้หารือกับประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ) ของบรรษัทเพื่อการพัฒนาทางการเงินระหว่างประเทศของสหรัฐ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลหลังจากประธานาธิบดีโจโกวีได้เสร็จสิ้นการหารือกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐแล้ว

ทั้งนี้ อินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่ดีกว่าเวียดนามในดัชนีการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมที่จัดโดยสหประชาชาติ(ยูเอ็น) โดยเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ)ระบุว่า รายได้รายเดือนโดยเฉลี่ยของแรงงานทักษะต่ำและทักษะปานกลางในอินโดนีเซียถูกกว่าในเวียดนาม แต่อินโดนีเซียก็ยังคงต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงของต่างชาติ(เอฟดีไอ) ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 1.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ในปี 2561 เท่านั้น ถือเป็นสัดส่วนที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันอย่างเวียดนาม ไทย และมาเลเซีย

159186640197

ขณะที่ผลสำรวจของเวิลด์แบงก์ หรือธนาคารโลก เมื่อปีที่แล้วพบว่า อินโดนีเซีย ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีวิโดโดประสบความล้มเหลวในการดึงดูดบริษัทต่างประเทศเข้ามาตั้งฐานการผลิต โดยผลสำรวจนับจนถึงเดือนต.ค.ปีที่แล้วบ่งชี้ว่า บริษัท 33 แห่งที่ย้ายฐานการผลิตจากจีนด้วยเหตุผลการทำสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐนั้นมี 23 แห่งที่ย้ายฐานการผลิตไปตั้งในเวียดนาม ส่วนอีก 10 แห่งที่เหลือกระจายกันไปตั้งฐานการผลิตในมาเลเซีย ไทย และกัมพูชา

“ภาคธุรกิจย้ายฐานการผลิตจากจีนแต่ไม่ได้เข้าไปตั้งฐานการผลิตในอินโดนีเซียเพราะประเทศเพื่อนบ้านอินโดนีเซียมีความสนใจและน่าดึงดูดใจมากกว่า” แถลงการณ์ของธนาคารโลกระบุ

ขณะที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทการเงินชื่อดังอย่างซิตี้กรุ๊ปยังมีความเห็นว่า แม้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเร่งให้บริษัทต่างชาติหลายแห่งในจีนถอนฐานการผลิต หรือถอนการลงทุนออกจากจีน แต่อินโดนีเซียก็ไม่ได้อยู่ในแผนการเข้าไปตั้งฐานการผลิตแห่งใหม่ของบริษัทเหล่านี้

“ประเทศที่เอื้อประโยชน์ในระยะสั้นให้แก่บริษัทต่างชาติที่ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนได้มากกว่าอินโดนีเซีย คือ เวียดนาม อินเดีย มาเลเซีย ไต้หวัน และไทย”  นักเศรษฐศาสตร์ จากซิตี้กรุ๊ปให้ความเห็น

ดังจะเห็นว่าที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันอย่างไมโครซอฟต์ และกูเกิ้ล ก็พยายามที่จะย้ายฐานการผลิตอุปกรณ์แห่งใหม่จากจีนไปยังแหล่งผลิตที่มีศักยภาพอย่างเช่น เวียดนามและไทย ส่วนบริษัทแอ๊ปเปิ้ลจะผลิตหูฟังไร้สายแอร์พ็อดในเวียดนามเป็นครั้งแรกในไตรมาสนี้

“ความไม่น่าดึงดูดใจของอินโดนีเซียในสายตานักลงทุนต่างชาติอาจจะอยู่ที่ระดับของความไม่แน่นอน ทั้งในส่วนของแรงงานและการถือครองที่ดิน ถ้าเทียบกับในเวียดนาม รัฐบาลฮานอยจะรับประกันแก่นักลงทุนได้เลยว่าได้เป็นเจ้าของที่ดิน”  ยูลิอุส ยูลิอุส กรรมการผู้อำนวยการและหุ้นส่วนอาวุโสของบอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป ประจำกรุงจาการ์ตา ให้ความเห็น

159186648351

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีวิโดโด เสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาให้แก้ไขกฏหมายแรงงานของประเทศแต่การหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ต้องชะงักงันไปในเดือนเม.ย.หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ที่ทำให้มีคนตกงานหลายพันคนในอินโดนีเซียและสหภาพแรงงานขู่ว่าจะออกมาชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่เพื่อต่อต้านมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมของรัฐบาล

ยูลิอุสจากบอสตัน คอนซัลติง มองว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็เป็นบททดสอบความพร้อมในการรับมือของรัฐบาลจาการ์ตาในสายตานักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน

“ในท้ายที่สุด หากการระบาดของโรคโควิด-19 เกิดขึ้นในโรงงานจะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องสื่อสารและวางแผนรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและไม่เฉพาะรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือการระบาดครั้งต่อไปด้วย หรือเตรียมรับมือการระบาดของไวรัสรูปแบบใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้น”ยูลิอุส กล่าว

ขณะที่ “แซนนี อิสกันดาร์” ประธานสมาคมอสังหาริมทรัพย์อินโดนีเซีย ให้ความเห็นว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศที่เหมาะสมสำหรับการเข้ามาตั้งฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติเพราะเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีประชากรหนาแน่นที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่วิสัยทัศน์ในการพัฒนาทุนมนุษย์และกฎระเบียบต่างๆ ในการทำธุรกิจต้องมีการปรับปรุงให้ดีกว่านี้ให้สามารถจับต้องได้ ไม่ใช่เป็นแค่คำสัญญาหรือคำพูดสวยหรูของผู้นำ โดยเฉพาะการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ยังไม่มีความชัดเจนเพราะสิ่งนี้สร้างความผิดหวังอย่างมากแก่ผู้ที่ต้องการเข้ามาลงทุน