'ชวน' หนุน 'จุรินทร์' นั่งหัวหน้าพรรคต่อ

'ชวน' หนุน 'จุรินทร์' นั่งหัวหน้าพรรคต่อ

"ชวน" หนุน "จุรินทร์" นั่งหัวหน้าพรรค ปชป. ต่อ ซัดใครไม่ชอบเป็นเรื่องส่วนตัว ขอกลุ่มเคลื่อนไหวล่ารายชื่อ กก.บห.ให้ลาออก อย่าทำให้พรรคเสียหาย ยกเหตุการณ์กลุ่ม 10 มกรา เป็นข้อเตือนใจ ให้คิดถึงประชาชนที่เลือกเข้ามาเป็น ส.ส.ที่ไม่อยากเห็นความขัดแย้งในพรร

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 63 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ส่วนหนึ่งพยายามล่ารายชื่อเพื่อให้คณะกรรมการบริหารพรรคลาออกครึ่งหนึ่ง แล้วเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่เช่นเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ ว่า โดยส่วนตัวคิดว่าอย่าไปสร้างปัญหา แต่ละพรรคก็มีความคิดเห็นของแต่ละคนที่ต่างกัน แต่อย่าทำให้พรรคเสียหาย การไม่ชอบใครก็เป็นเรื่องส่วนตัว ต้องคิดถึงประชาชนที่เลือกเข้ามาเป็น ส.ส. เพราะประชาชนที่เลือกเข้ามาก็ไม่อยากเห็นความขัดแย้งในพรรค

ส่วนการล่ารายชื่อเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่นั้น นายชวน กล่าวว่า ต้องไปถามผู้ดำเนินการ แต่โดยส่วนตัวมองว่า พรรคประชาธิปัตย์มีประสบการณ์เช่นนี้มามาก เช่น เหตุการณ์กลุ่ม 10 มกรา และเหตุการณ์อื่นๆ ในสมัยก่อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อพรรค ทำให้การเลือกตั้งเสียหาย ดังนั้นบทเรียนในอดีตควรเป็นข้อคิดเตือนใจของคนในพรรค และย้ำว่าคนที่อาศัยพึ่งพาพรรคอย่างพวกตนเอง อะไรที่จะทำให้พรรคเสียหายก็ต้องระวัง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่แต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน แต่ควรคิดถึงประชาชนที่เลือกเข้ามา ไม่อยากเห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

ส่วนจะเป็นคนกลางในการประสานเพื่อพูดคุยกันระหว่างคู่ขัดแย้งภายในพรรคหรือไม่นั้น นายชวน กล่าวว่า ขณะนี้ ผู้ดำเนินการล่ารายชื่อยังไม่มีตัวตนว่าเป็นใคร แต่สมมุติว่าหากมีข้อความในไลน์ที่มีปัญหา ตนเองก็ได้เตือนว่ามีอะไรก็คุยกัน อย่าไปทำให้เกิดความขัดแย้งบานปลาย

ส่วนที่ ส.ส.บางกลุ่มไม่พอใจการบริหารงานของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้น ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละเหตุการณ์ หากมีโอกาสก็ให้ถาม นายจุรินทร์ ซึ่งเมื่อเลือกหัวหน้าพรรคมาแล้ว สมาชิกก็ต้องช่วยกันทำงาน หากไม่พอใจอะไรก็สามารถพูดคุยกันได้ว่ามีอะไรที่ไม่พอใจ และหัวหน้าพรรคก็มีหน้าที่ชี้แจงให้สมาชิกรับทราบ ทั้งนี้ เงื่อนไขอะไรที่จะทำให้หัวหน้าพรรคต้องลาออกจากตำแหน่งนั้น นายชวน กล่าวสั้นๆ ว่า ต้องถามหัวหน้าพรรค

นายชวน ยังกล่าวถึงกรณีส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจริยธรรมของ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ กรณีใช้อำนาจแทรกแซงข้าราชการประจำระหว่างลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต ว่า ส่วนตัวจำไม่ได้ว่าส่งไปตอนไหน แต่ทุกเรื่องที่เข้ามาก็ส่งไปตามวาระ ซึ่งจะมีการตรวจสอบ หากไม่เป็นไปตามข้อบังคับ ก็จะเรียกให้แก้ไข โดยเอกสารจะต้องทำอย่างถูกต้อง ไม่เช่นนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็จะตำหนิได้

ทั้งนี้ มีการตรวจแม้กระทั่งรายชื่อว่าซ้ำหรือไม่ ลายเซ็นต์นั้นจริงหรือไม่ โดยมีการตรวจอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้เกิดข้อบกพร่องเสียหาย โดยถือหลักปฏิบัติเช่นนี้ทุกกรณี ซึ่งหากเป็นไปตามขั้นตอน ก็ถือว่าเข้าเงื่อนไข ประธานสภาฯ ไม่มีสิทธิ์ไปยับยั้ง โดยเมื่อวานนี้ (10 มิ.ย.) ก็ส่งเรื่องของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว 2 เรื่อง แต่มีหนึ่งเรื่องที่ต้องเอากลับมาทำให้ถูกต้อง