เกษตรแปลงใหญ่สมุนไพร สร้างรายได้มากกว่ากลุ่มเกษตรกรทั่วไป

เกษตรแปลงใหญ่สมุนไพร สร้างรายได้มากกว่ากลุ่มเกษตรกรทั่วไป

สศก. ชี้เกษตรกรแปลงใหญ่สมุนไพร ขมิ้นชัน-ไพล สร้างรายได้มากกว่ากลุ่มเกษตรกรทั่วไป

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการศึกษาศักยภาพการผลิตและการตลาดสมุนไพรในพื้นที่โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ กรณี ศึกษาขมิ้นชัน และไพล โดยทำการศึกษา ต้นทุน ผลตอบแทนการผลิต ประสิทธิภาพการผลิต การตลาด เปรียบเทียบทั้งในและนอกพื้นที่โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งผลการศึกษา พบว่า จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร ณ เดือนตุลาคม 2561 มีแปลงที่ปลูกขมิ้นชันครอบคลุม 5 จังหวัด (พังงา สุราษฎร์ธานี มหาสารคาม สระแก้ว ราชบุรี) แปลงที่ปลูกไพลครอบคลุม 4 จังหวัด (สุราษฎร์ธานี มหาสารคาม สระแก้ว ราชบุรี) รวมจำนวนเกษตรในโครงการแปลงใหญ่สมุนไพรที่มีการปลูกขมิ้นชันและไพลทั้งสิ้น 326 ราย

เกษตรแปลงใหญ่สมุนไพร สร้างรายได้มากกว่ากลุ่มเกษตรกรทั่วไป

ขมิ้นชัน เกษตรกรในโครงการแปลงใหญ่ มีต้นทุนการผลิต 14,931 บาท/ไร่/รุ่นการผลิต 1 ปี ผลผลิต 1,684 กิโลกรัม/ไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้ 23.17 บาท/กก. ให้ผลตอบแทน 39,019 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 24,088 บาท/ไร่ เมื่อเทียบกับเกษตรกรนอกพื้นที่แปลงใหญ่ พบว่า มีต้นทุนการผลิตน้อยกว่าร้อยละ 8.86 และมีผลตอบแทนสุทธิมากกว่า ร้อยละ 12

ไพล เกษตรกรในโครงการแปลงใหญ่ มีต้นทุนการผลิต 24,664 บาท/ไร่/รุ่นการผลิต 2 ปี ผลผลิต 3,341 กิโลกรัม/ไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้ 23.66 บาท/กก. ให้ผลตอบแทน 79,042 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 54,377 บาท/ไร่ เมื่อเทียบกับเกษตรกรนอกพื้นที่แปลงใหญ่ พบว่า มีต้นทุนการผลิตต้นทุนน้อยกว่าร้อยละ 6.28 และมีผลตอบแทนสุทธิมากกว่าร้อยละ 26.77

จากการศึกษา ยังพบว่า ปัจจุบันความต้องการใช้สมุนไพรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากใช้ประโยชน์อย่างหลากหลายทั้งใช้ประกอบอาหาร ผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลสุขภาพ และเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอาง พืชสมุนไพรจึงเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชน โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกี่ยวกับสมุนไพร เป็นช่องทางการจำหน่ายหลักของขมิ้นชันและไพล รองลงมาเป็นการจำหน่ายให้พ่อค้ารวบรวม

เกษตรแปลงใหญ่สมุนไพร สร้างรายได้มากกว่ากลุ่มเกษตรกรทั่วไป

ดังนั้น ภาครัฐควรส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนให้เป็นช่องทางในการรับซื้อผลผลิตและลดความเสี่ยงด้านราคา โดยจะต้องส่งเสริมตลอดโซ่อุปทาน เช่น มาตรฐานวัตถุดิบและการแปรรูปเป็นเวชสำอางและผลิตภัณฑ์ต่างๆ และส่งเสริมกิจกรรมทางด้านการตลาด เช่น Road show และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ให้มากขึ้น นอกจากนี้ เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร ควรรวมตัวกันเป็นกลุ่มเข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่ จะช่วยให้เกษตรกรมีช่องทางการจำหน่ายการตลาด ได้ราคา และสร้างรายได้ดียิ่งขึ้น