วุฒิสภายุค 'พรเพชร' ก่อวิกฤตซ้อนวิกฤติ?

วุฒิสภายุค 'พรเพชร' ก่อวิกฤตซ้อนวิกฤติ?

เหมือนจะจบแต่อาจจะไม่จบก็ได้ สำหรับกรณีที่วุฒิสภามีมติให้ความเห็นชอบ 'สุชาติ ตระกูลเกษมสุข' อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ในแง่ความรู้ความสามารถย่อมปราศจากข้อสงสัยทุกประการ เพราะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์คนหนึ่งที่ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของป.ป.ช.ในอนาคต เพียงแต่ในประเด็นความชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามยังคงมีข้อกังขาอยู่ เนื่องจากว่าที่กรรมการป.ป.ช.รายนี้เคยอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวไม่ถึง 10 ปี

เรื่องการพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสนช.ที่ไม่ครบกำหนดดังกล่าวถือเป็นประเด็นสำคัญ เพราะเป็นลักษณะต้องห้ามที่รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตบัญญัติเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่าบุคคลที่พ้นจากตำแหน่งส.ส.หรือส.ว.ไม่ครบ 10 ปีจะเป็นกรรมการป.ป.ช.ไม่ได้ ทว่าวุฒิสภาและคณะกรรมการสรรหากลับตีความว่าตำแหน่งสมาชิกสนช.ไม่ใช่ส.ส.และส.ว.

การตีความทำนองนี้จะไม่เป็นปัญหาเลยหากไม่เกิดกรณีที่คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตีความให้พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตสมาชิกสนช.ไม่ผ่านการสรรหา เพราะเห็นว่ายังพ้นจากตำแหน่งสนช.ไม่ครบ 10 ปี ซึ่งการตีความเช่นนี้เท่ากับว่าเป็นการระบุว่าสมาชิกสนช.เป็นส.ส.และส.ว.

ด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดคำถามว่ามาตรฐานการตีความเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระคืออะไร

เพราะหากตีความให้กรณีสรรหาป.ป.ช.ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็ย่อมต้องคืนสิทธิการเป็นผู้ได้รับสรรหาเป็นกสม.ให้กับ ‘พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก’ ด้วย แต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆทั้งสิ้น มีแต่เพียงการโยนกันไปมาระหว่างวุฒิสภาและคณะกรรมการสรรหา ไม่ต่างอะไรกับการไม่แสดงความรับผิดชอบกับการตีความกฎหมายที่ไม่มีมาตรฐานเดียวกัน

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้เป็นกระแสหลักที่สังคมให้ความสนใจมากนักเมื่อเทียบกับความขัดแย้งภายในของพรรคพลังประชารัฐ แต่การที่วุฒิสภาลงมติให้ความเห็นชอบแก่บุคคลที่มีปัญหาในข้อกฎหมายอาจจะเป็นการสร้างวิกฤตซ้อนวิกฤตขึ้นมาเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเมื่อทศวรรษที่แล้ว

ย้อนกลับไปก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 เวลานั้นวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งได้ดำเนินการสรรหาคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหม่ทั้งคณะจำนวน 9 คน รัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 กำหนดให้คณะกรรมการสรรหาต้องเสนอบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการสรรหาจำนวน 18 คน เพื่อให้วุฒิสภาลงมติเลือกให้เหลือ 9 คน

กระบวนการสรรหาเวลานั้นดำเนินไปอย่างราบรื่นและเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกของวุฒิสภา แต่ปรากฎว่าก่อนการเลือกของวุฒิสภาไม่กี่ชั่วโมงได้มีหนังสือขอถอนตัวจากการเป็นผู้ได้รับการสรรหาคนหนึ่งส่งตรงมาที่ประธานวุฒิสภา ซึ่งบุคคลนั้น คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ทบ.

การขอถอนตัวของพล.อ.ประวิตร เมื่อกว่า10ปีที่แล้วทำให้วุฒิสภาต้องประชุมหารือกันว่าจะดำเนินการลงคัดเลือกต่อไป หรือจะส่งให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาบุคคลเข้ามาเพิ่มอีก 1 คน ซึ่งที่สุดแล้ววุฒิสภาเดินหน้าลงมติเลือกต่อไป ท่ามกลางข้อท้วงติงจากส.ว.เสียงข้างน้อยบางกลุ่มว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้วุฒิสภาต้องเลือกป.ป.ช.9คนจากบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการสรรหาจำนวน 18 คน เมื่อพล.อ.ประวิตร ลาออกไปหนึ่งแล้วย่อมทำให้มีบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการสรรหาไม่ครบ 18 คน หากวุฒิสภาเดินหน้าคัดเลือกป.ป.ช.ต่อไปก็อาจไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีปัญหาตามมาภายหลัง

แต่เสียงทักท้วงในวันนั้นมีน้อยเกินไป เพราะที่สุดแล้ววุฒิสภาลงมติเลือกป.ป.ช.9คนจากบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการสรรหาจำนวน 17 คน

ผลที่ตามมาจากการหักด้ามพร้าด้วยเข่าของวุฒิสภาในเวลานั้น คือ การต้องถอนชื่อบุคคลทั้ง 9 คนออกจากกระบวนการทูลเกล้าฯ จากนั้นตามมาด้วยกระแสเรียกร้องให้ประธานวุฒิสภาขณะนั้นแสดงความรับผิดชอบ ประกอบกับวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งชุดนั้นถูกตั้งคำถามถึงความเป็นกลางทางการเมือง พอมาประจวบเหมาะกับการเลือกองค์กรอิสระที่เป็นปัญหาด้วยแล้ว ยิ่งตอกย้ำให้ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อวุฒิสภาตกต่ำลงไปอีกก่อนที่จะเกิดการรัฐประหารล้มรัฐบาลและล้างบางวุฒิสภาในเวลาต่อมา

วันนี้ ‘วุฒิสภา’ ยุคของ พรเพชร วิชิตชลชัย กำลังเผชิญวิกฤตศรัทธาไม่ต่างกัน เพราะถูกมองว่าเป็นองค์กรที่เป็นมรดกที่ยังเหลือมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อค้ำยันเก้าอี้นายกฯให้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่กลับมาสร้างความกังขาให้เกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกองค์กรอิสระให้เกิดขึ้นมาซ้ำอีก

จึงไม่แปลกใจว่าทำไมถึงเกิดกระแส “วุฒิสภามีไว้ทำไม” หรือการตั้งคำถามว่าประเทศไทยอาจเหมาะกับการมีสภาเดียวมากกว่าการมีสองสภา หากประเทศยังมีวุฒิสภาชุดนี้ต่อไป

แน่นอนว่ากระบวนการสรรหาและการให้ความเห็นชอบกรรมการป.ป.ช.จบลงไปแล้ว วุฒิสภาหรือคณะกรรมการสรรหาคงไม่อาจย้อนกลับไปแก้ไขได้ ดังนั้น หากในอนาคตเกิดปัญหาเหมือนกับในอดีตไม่รู้เหมือนกันว่าวุฒิสภาทั้งสภาพร้อมจะรับผิดชอบหรือไม่