กลต.ถกอุ้ม‘ไฮยิลด์บอนด์’เล็งตั้ง‘กองทุนรวม’เปิดขายหน่วยนักลงทุนทั่วไป

กลต.ถกอุ้ม‘ไฮยิลด์บอนด์’เล็งตั้ง‘กองทุนรวม’เปิดขายหน่วยนักลงทุนทั่วไป

ก.ล.ต.ระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถกแผนตั้งกองทุนพยุง “ไฮยิลด์บอนด์” หวังช่วยหาทางระดมทุนป้องปัญหาเบี้ยวหนี้ ขณะ วงการบลจ. เชื่อเกิดยาก เหตุนักลงทุนไม่กล้าเสี่ยง แนะรัฐใส่เงินตั้งกองทุนเอง เตรียมถกรายละเอียด 12 มิ.ย.นี้

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เตรียมหารือร่วมกับ คณะกรรมการกำกับและพัฒนาตราสารหนี้ ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมสรรพากร นายกสมาคมบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.)

การหารือดังกล่าวจะมีขึ้นในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ เพื่อวางรูปแบบการจัดตั้งกองทุนตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ หรือ ไฮยิลด์บอนด์ ซึ่งเป็นไปตามที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางเอาไว้ เพื่อต้องการช่วยไฮยิลด์บอนด์ในการต่ออายุ(Roll over) หุ้นกู้เดิมที่จะครบวาระการไถ่ถอน เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้การระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ของบริษัทที่มีเครดิตเรทติ้งต่ำทำได้ยาก

แหล่งข่าววงการตลาดทุน กล่าวว่า รูปแบบและแนวทางการจัดตั้งกองทุนไฮยิลด์บอนด์ เบื้องต้นที่คุยกันไว้คงมีลักษณะเป็น “กองทุนรวม” เปิดให้ประชาชนทั่วไปซื้อหน่วยลงทุนได้ โดยอาจจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพียงแต่ต้องมีหลักเกณฑ์ที่รัดกุมและมีความระมัดระวังอย่างมาก โดยเฉพาะการเข้าลงทุนของกองทุนนี้ ต้องเน้นในไฮยิลด์บอนด์ที่มีความเสี่ยงไม่มากนัก รวมทั้งผู้ออกต้องมีศักยภาพในการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้ หลังจากที่สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ 

“ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ตลาดหุ้นกู้ โดยเฉพาะไฮยิลด์บอนด์ยังไม่สู้ดีนัก และนักลงทุนเน้นลงทุนแต่หุ้นกู้ระดับอินเวสเมนท์เกรดขึ้นไป ทำให้กลุ่มไฮยิลด์บอนด์ระดมทุนยาก เพราะคนกลัวว่าจะดีฟอลท์(ผิดนัดชำระหนี้) ส่วนการจะหากองทุนมาซื้อเพื่อไปขายให้กับนักลงทุนต่ออีกทีก็คงยาก จึงมีแต่การขายตราสารหนี้ไฮยิลด์โดยตรงให้กับผู้ลงทุนโดยตรงเท่านั้น”

แหล่งข่าวจากวงการบลจ. กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุนลักษณะนี้อาจทำได้ค่อนข้างยาก เพราะเวลานี้ไม่มีใครอยากลงทุนในไฮยิลด์บอนด์ แม้แต่คนที่มีเงินก็กลัวปัญหาการดีฟอลต์จึงไม่กล้าลงทุน 

“การเข้าไปลงทุนแค่วิเคราะห์ด้านเครดิต ถือว่า เสี่ยงมากแล้ว หากให้กองทุนเข้าไปลงทุนแล้วเกิดดีฟอลต์ในอนาคต ถูกข้อหาลงทุนผิดพลาด ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ อันนี้เป็นจุดเสี่ยงที่ทำให้การตั้งกองทุนเกิดยาก”

อย่างไรก็ตาม หากต้องการช่วยเหลือกลุ่มไฮยิลด์บอนด์ โดยส่วนตัวมองว่า ควรจัดตั้งกองทุนแบบที่รัฐใส่เงินเข้ามาลงทุนเองแล้วให้ บลจ. ที่สนใจเข้ามาบริหาร ไม่แนะนำให้เอาเงินของประชาชนทั่วไปมาลงทุนเพราะมีความเสี่ยง 

ด้าน นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย กล่าวว่า การหารือในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ คงต้องหารือกับทุกฝ่ายก่อน เพราะยังมีความเสี่ยงในหลายด้านที่เราอาจจะไม่สามารถทำได้ และหากทำได้ก็ต้องประเมินสภาพตลาดอย่างละเอียดก่อนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาอย่างเช่น หลักเกณฑ์ที่ออกมาก็ต้องทำได้จริง และเมื่อจัดตั้งกองทุนไปแล้วก็ต้องมีคนมาลงทุนจริง 

นอกจากนี้ ต้องดูว่ายังสามารถมีรูปแบบอื่นๆ มาช่วยเหลือเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะปัจจุบันตลาดไฮยิลด์บอนด์ทั้งตลาดแรกและตลาดรอง ถือว่ายังไม่กลับสู่ภาวะปกติดีนัก

นายชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า ในไทยมีแต่ไฮยิลด์บอนด์แต่ไม่ได้มีไฮยิลด์มาร์เก็ตเหมือนในต่างประเทศ เพราะลักษณะของผู้ลงทุนไทย จะเข้าซื้อไฮยิลด์บอนด์โดยตรงและถือยาวจนครบกำหนดไม่มีการซื้อขายกันในตลาดรอง

ปัจจุบันยอดคงค้างตราสารหนี้ไฮยิลด์มีมูลค่าราว 1.4 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ออกโดยธุรกิจขนาดใหญ่ 2 แห่ง ซึ่งไม่มีความน่ากังวลเลย คือ กลุ่มแมคโนเลียและกลุ่มสยามพิวรรธน์ มูลค่ารวมกันราว 4 หมื่นล้านบาท  แต่ที่เหลืออีก 1 แสนล้านบาท ยังต้องติดตามซึ่งจะครบกำหนดชำระในปีนี้ราว 3-4 หมื่นล้านบาท