'ยักษ์ดิจิทัล' พร้อมจด VAT ในไทย สรรพากรมั่นใจ เก็บได้เกิน 3 พันล้านบาท

'ยักษ์ดิจิทัล' พร้อมจด VAT ในไทย สรรพากรมั่นใจ เก็บได้เกิน 3 พันล้านบาท

วงการเชื่อยักษ์ดิจิทัลพร้อมจด VAT ในไทย ล่าสุด "กูเกิล" เผย "ไม่มีปัญหา" พร้อมทำตามกฏหมาย "เน็ตฟลิกซ์" "เฟซบุ๊ค" ยังนิ่งวงในระบุรอดูรายละเอียดกฏหมายที่ชัดเจน กูรูดิจิทัลแนะรัฐเร่งหามาตรการคุมค่าบริการที่อาจเพิ่มขึ้น

กฎหมายการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ แวต (VAT) จากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศ หรือ อี-เซอร์วิส แม้จะยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ในทันที หากยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ

ยักษ์ใหญ่ดิจิทัล “กูเกิล” ที่มีอี-เซอร์วิสมากมายให้บริการในไทย โดยเฉพาะแพลตฟอร์มวิดีโอ "ยูทูบ" ที่ไทยติด 1 ใน 10 ของโลกที่มีการรับชมยูทูบมากที่สุด ได้เปิดเผยล่าสุดว่า "พร้อมทำตามกฎหมายด้านภาษีของไทย"

กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด ส่งสเตทเมนท์ ระบุว่า พร้อมทำตามกฎหมายด้านภาษีในทุกประเทศที่กูเกิลเข้าไปทำธุรกิจ รวมถึงกฎหมายภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกฎหมายอี-เซอร์วิส และเมื่อประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ กูเกิลก็พร้อมที่จะทำตาม

ด้าน เฟซบุ๊ค ประเทศไทย เผยว่า เบื้องต้นยังไม่สามารถแสดงความคิดเห็นใดๆ ได้ เช่นเดียวกับเน็ตฟลิกซ์ ที่ปัจจุบันยังไม่มีบริษัทในประเทศไทย ยังปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น ขณะที่ ไมโครซอฟท์ ผู้ให้บริการระบบคลาวด์รายใหญ่ในไทย ปฏิเสธที่จะให้ความคิดเห็นในช่วงนี้เช่นกัน   

 

  • เชื่อยักษ์ดิจิทัลพร้อมจดแวตในไทย 

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในวงการดิจิทัล ระบุว่า ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการต่างชาติ มีความพร้อมทำตามกฎหมายด้านการค้าการทำธุรกิจในประเทศที่ตัวเองเข้าไปทำธุรกิจอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องการรอรายละเอียดของกฎหมายที่ชัดเจน ซึ่งกว่าจะบังคับใช้อาจต้องใช้ระยะเวลาเกือบ 1 ปี

นายปฐม อินทโรดม ประธานสถาบันดิจิทัลเพื่อการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมและสังคม ผู้ ระบุว่า เห็นด้วยกับภาษีอี-เซอร์วิส และเชื่อว่าทุกรายน่าจะทำตามกฎหมายในไทย เพราะถือเป็นตลาดใหญ่ แต่ตั้งข้อสังเกตในเรื่องค่าบริการหากกฎหมายอี-เซอร์วิส ประกาศใช้ ซึ่งแน่นอนว่ากระทบต่อต้นทุนเจ้าของแพลตฟอร์มต่างประเทศ รวมไปถึงเจ้าของคอนเทนท์ ผู้ประกอบการไทย ที่ต้องอาศัยแพลตฟอร์มต่างประเทศเหล่านี้สร้างรายได้ 

"แม้กระทรวงการคลัง จะยืนยันว่าไม่กระทบผู้ใช้บริการ ซึ่งก็คือผู้จ่ายเงินซื้อ แต่ในความเป็นจริงคนไทยที่อยู่ในระบบนี้ไม่ได้มีแค่ผู้ซื้อ แต่มีทั้งเจ้าของคอนเทนท์ เจ้าของโรงแรม เจ้าของห้องเช่า เจ้าของเพลง เจ้าของภาพยนตร์ ฯลฯ ที่ต้องใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ได้รายได้ ซึ่งอาจมีเงื่อนไขปรับค่าบริการ หรือเงื่อนไขการให้บริการที่เพิ่มมากขึ้น"

คนไทย "ไม่มีทางเลือก” มากนัก เพราะโควิดทำให้ต้องหันมาหาแพลตฟอร์มดิจิทัลเหล่านี้มากขึ้น แน่นอนว่าต้นทุนจะสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาครัฐควรต้องมีมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม เขา กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า คนไทย "ไม่มีทางเลือก” มากนัก เพราะโควิดทำให้ต้องหันมาหาแพลตฟอร์มดิจิทัลเหล่านี้มากขึ้น แน่นอนว่าต้นทุนจะสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาครัฐควรต้องมีมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ด้วย

ขณะที่ เมื่อรัฐจะใช้กฎหมายฉบับนี้แล้ว ควรจะใช้ข้อมูล หรือดาต้าที่รับรู้จากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ในทางพัฒนาประเทศ นอกจากภาษีที่เป็นตัวเงินแล้ว ไทยควรได้ข้อมูลเชิงสถิติ (ไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคล) มาจากบริษัทเหล่านี้ควบคู่ด้วย เพื่อวางกลยุทธ์ดิจิทัลของประเทศ

“เรื่องนี้ประชาคมดิจิทัลเคยเรียกร้องกันมานานหลายปี เราจึงดีใจที่มีมาตรการทางภาษีออกมา แต่มันดีใจได้ไม่สุดเพราะยังมีประเด็นปลีกย่อยที่อยากให้ภาครัฐคิดให้จบกระบวนการเสียก่อนจะประกาศใช้”  นายปฐม กล่าว 

  • แนะดูอีเพย์เมนท์-รู้ตัวเลขคนไทยซื้อบริการ

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เชื่อว่าผู้ประกอบการแพลตฟอร์มต่างประเทศ จะยอมทำตามกฎหมายอี-เซอร์วิสในไทย เพราะทั่วโลกก็ใช้กฎหมายลักษณะดังกล่าว ขณะที่ กฎหมายนี้ถือว่า "แฟร์" 

"สิ่งหนึ่งที่อยากเสนอ คือ กรมสรรพากรควรร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทย และหาแนวทางแทร็คข้อมูลการทำธุรกรรมของคนไทย เพราะส่วนใหญ่คนไทยเวลาซื้อบริการจากแพลตฟอร์มต่างชาติ จะใช้วิธีชำระเงินผ่านอีเพย์เมนท์อยู่แล้ว แต่ต้องไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลอันนี้สำคัญมาก ซึ่งถ้าได้ข้อมูลเหล่านี้ สรรพากรเองจะสามารถวางเป้าหมายในการเก็บแวตจากผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้" 

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูข้อมูลรายได้ และการเสียภาษีเงินได้ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศ ที่มาจดทะเบียนนิติบุคคลในไทยจากเว็บไซต์ครีเดน หรือ creden.co พบว่า บริษัท เฟซบุ๊ค (ประเทศไทย) จำกัด รายได้รวมเมื่อปี 2561 อยู่ที่ 252,875,498 บาท  เสียภาษีเงินได้ 8,961,222 บาท

บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด มีรายได้ราวปี 2561 อยู่ที่ 782,304,919 บาท เสียภาษีเงินได้ 18,177,340 บาท บริษัทอีเบย์ มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด มีรายได้รวมปี 2561 อยู่ที่ 23,417,746 บาท เสียภาษีเงินได้ 182,222 บาท เป็นต้น 

  • คาดได้รายได้เกิน 3 พันล้านเพิ่มเท่าตัว

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า หากกฎหมายให้อำนาจกรมสรรพากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ไม่จดทะเบียนในประเทศไทยมีผลบังคับใช้ จะทำให้กรมฯ มีรายได้เพิ่มราว 3 พันล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในสถานการณ์โควิด-19 เพราะประชาชนในประเทศจะใช้บริการออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆมากขึ้น

ทั้งนี้ กรมฯจะสามารถจัดเก็บภาษีแวตจากบริการต่างประเทศทุกอย่างที่รับสมาชิก เช่น ดูหนัง โหลดเพลง โหลดเกม เช่น เน็ตฟลิกซ์ เป็นต้น รวมถึงภาคบริการต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางหรือเอเยนซีออนไลน์อย่างบริการ Booking บริการแท็กซี่อูเบอร์ ซึ่งคิดค่านายหน้าการให้บริการต่างๆ รวมถึงธุรกิจที่มีรายได้จากค่าบริการโฆษณาบนแพลตฟอร์มต่างๆ

“แต่ก่อนเราโฆษณาตามทีวี แต่ปัจจุบัน โฆษณาผ่านแพลตฟอร์มดังๆ เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล ยูทูบ แม้แต่ตัวกลางให้บริการจับแพะชนแกะ เช่น คนขับแท็กซี่อูเบอร์ ก็เป็นการค่าบริการบนแพลตฟอร์ม และอย่าเข้าใจผิดว่า เราคิดค่าบริการจากสินค้า เราไม่ได้เก็บจากสินค้าแต่เก็บจากบริการ"

เขาย้ำว่า หลักของกฎหมาย คือ ผู้ประกอบการต่างชาติที่มาให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กับผู้ใช้บริการในประเทศไทย ถ้ามีรายรับเกิน 1.8 ล้านต่อปี จะต้องยื่นจดทะเบียนแวตเช่นเดียวกับผู้ประกอบธุรกิจไทย

"ที่ผ่านมาเกิดความไม่ธรรมระหว่างผู้ประกอบการในไทยประเทศกับต่างประเทศ เช่น ผมอยากโฆษณาในรายการหนึ่งก็ไปจ่ายค่าโฆษณาตรงนี้ ผมก็ต้องเสียแวตเพื่อให้เขานำส่งกรมสรรพากร แต่ถ้าไปโฆษณาในต่างประเทศ ที่มีคนดูเยอะๆ ก็ไปโฆษณาที่นั่น ปรากฏว่า ไม่มีการเก็บแวตส่งกรมสรรพากร"

หลักของกฎหมาย คือ ผู้ประกอบการต่างชาติที่มาให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กับผู้ใช้บริการในประเทศไทย ถ้ามีรายรับเกิน 1.8 ล้านต่อปี จะต้องยื่นจดทะเบียนแวตเช่นเดียวกับผู้ประกอบธุรกิจไทย

  • เชื่อทุกรายเข้าระบบ-ใช้กลไกภาษีต่างประเทศหนุน

สำหรับวิธีปฏิบัติ เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ กรมสรรพากรจะมอบอำนาจให้ผู้ประกอบการต่างประเทศจ่ายค่าแวตทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยดาวน์โหลดระบบได้ เชื่อว่า ผู้ประกอบการขนาดใหญ่เขาพร้อมที่จะเข้าสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้อง โดยบริษัทใหญ่ๆ มีฝ่ายตรวจสอบ ถ้าประเทศไหนมีกฎหมาย เขาพร้อมปฏิบัติตาม ขณะนี้ มีราว 60 ประเทศที่ใช้กฎหมายนี้ ล่าสุด คือ ประเทศอินโดนีเซียประกาศใช้แล้ว

“อยากบอกว่า บริษัทใหญ่ๆ ทำหมด เรามีกลไกต่างประเทศ ร่วมเป็นผู้เจรจาและเป็นสมาชิกให้ความช่วยเหลือเก็บภาษีระหว่างกัน ซึ่งมีบทเรียนแล้วว่า ประเทศเหล่านี้ ยินดีเสียภาษีกับประเทศที่มีกฎมาย”

ทั้งนี้ กรณีผู้ให้บริการไม่ยอมเข้ามาอยู่ในระบบภาษีตามกฎหมาย กฎหมายไทยยังไม่ได้ให้อำนาจกฎหมายอื่นนอกเหนือจากกฎหมายภาษีเช่นเดียวกับต่างประเทศ ที่สามารถใช้กฎหมายอื่นบังคับให้มีการปิดเว็บไซต์หรือการให้บริการในประเทศได้

“สำหรับเราแล้ว จะใช้อำนาจนอกเหนืออำนาจเก็บภาษีไม่ได้ ดังนั้น จะใช้กลไกภาษีระหว่างประเทศ ความร่วมมือระหว่างประเทศ แต่ในข้อสังเกตกฤษฎีกามีข้อสังเกตว่า เพื่อให้กฎหมายมีประสิทธิภาพ ควรมีกฎหมายอื่นที่จะใช้กำกับควบคู่ไปเหมือนกับบางประเทศที่ทำ” นายเอกนิติ กล่าว