CP ลุยสำรวจพื้นที่ไฮสปีดเทรน 'คมนาคม'เร่งย้ายสาธารณูปโภค

CP ลุยสำรวจพื้นที่ไฮสปีดเทรน  'คมนาคม'เร่งย้ายสาธารณูปโภค

“คมนาคม” เผยคืบหน้าไฮสปีด 3 สนามบิน ของบกลางปี 335 ล้านบาท ย้ายสาธารณูปโภค ร.ฟ.ท.ฟ้องศาลเคลียร์ผู้บุกรุก คาดส่งมอบ ม.ค.-ก.พ.ปีหน้า เวนคืนเพิ่ม 28 ไร่ “ซีพี” ลงพื้นที่เจาะสำรวจวิศวกรรมแล้วกว่า 600 จุด

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ระบุว่า การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ขณะนี้ทุกหน่วยงานเจ้าของระบบสาธารณูปโภคได้เคลียร์ทุกปัญหาที่ติดขัดก่อนหน้านี้เรียบร้อยแล้ว อาทิ การรื้อย้ายสายไฟฟ้าแรงสูง ท่อประปา และท่อส่งน้ำมัน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างรอจัดจัดสรรงบกลางปี 2563 เพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างรื้อย้ายสาธารณูปโภคตามแนวก่อสร้างโครงการทั้งหมด

ขณะนี้หลายหน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภคได้ทำการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างรื้อย้ายไปก่อนหน้าแล้ว แต่รอรับจัดสรรงบกลางเพื่อมาทำสัญญาและเริ่มงานรื้อย้าย เปิดพื้นที่งานก่อสร้างให้กับซีพี ซึ่งภาพรวมตอนนี้ล่าช้าไปนิดนึง ประมาณ 1–2 เดือน เพราะติดปัญหาโควิด-19

ขณะที่การส่งมอบพื้นที่ที่มีผู้บุกรุก ร.ฟ.ท.ได้ฟ้องศาลเพื่อขับไล่ผู้บุกรุกในส่วนที่เจรจายากและไม่ยอมย้ายออกตามกำหนด ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเสร็จและเตรียมพื้นที่ส่งมอบให้ซีพีได้ช่วงเดือน ม.ค.–ก.พ.2564

เช่นเดียวกับพื้นที่เวนคืน ที่ปัจจุบันได้ออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนแล้ว แต่เนื่องจากซีพีขอขยายเขตทางเพิ่มเติม เพื่อนำไปวางเครื่องจักรก่อสร้าง ทำให้ ร.ฟ.ท.ต้องลงสำรวจพื้นที่เวนคืน และออก พ.ร.ฎ.เวนคืนเพิ่มเติม โดยปัจจุบันได้ปักหมุดสำรวจพื้นที่แล้ว คาดว่าต้องเวนคืนที่ดินเพิ่มกว่า 20 ไร่ ทำให้การส่งมอบพื้นที่เวนคืนจะล่าช้ากว่าแผนเล็กน้อย

CP ลงพื้นที่สำรวจแล้ว 600 จุด

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า ภาพรวมของการส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่มซีพีเพื่อสร้างไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ในปัจจุบันยังไม่มีการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างไฮสปีดเทรน เนื่องจากยังอยู่ระหว่างเคลียร์พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค พื้นที่ผู้บุกรุก และออก พ.ร.ฎ.เวนคืนเพิ่มเติม อีกทั้งทางซีพีต้องการให้ ร.ฟ.ท.ส่งมอบพื้นที่เป็นแปลงใหญ่ เพื่อก่อสร้างโครงการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถทยอยส่งมอบบางส่วนได้

ทั้งนี้ การดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ทางซีพีได้ลงพื้นที่เพื่อเจาะสำรวจพื้นที่วิศวกรรม เตรียมความพร้อมรองรับงานก่อสร้างแล้ว โดยทำการขุดเจาะสำรวจไปกว่า 600 จุด จากพื้นที่ทั้งหมดที่ต้องขุดเจาะราว 900 จุด อีกทั้ง ร.ฟ.ท.ยังดำเนินการเตรียมพื้นที่เพื่อส่งมอบให้ซีพีตามกำหนด โดยไม่ได้ชะลองานแต่อย่างใด เบื้องต้นยังมั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ส่วนแรก ช่วงลาดกระบัง–อู่ตะเภา ตามแผนกำหนด คือ ภายใน 1 ปี 3 เดือน หลังลงนามสัญญา เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้ติดตามภาพรวมของโครงการยังเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ไม่ติดปัญหา จึงมีความสบายใจ โดยได้กำชับ ร.ฟ.ท. กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เร่งรัดการอนุญาตให้รื้อย้ายสาธารณูปโภค

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบการขอรับจัดสรรงบกลางปี 2563 สำหรับรื้อย้ายสาธารณูปโภคเปิดพื้นที่ก่อสร้าง โดยก่อนหน้านี้วงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบไว้ จำนวน 497 ล้าน แต่จากการสำรวจล่าสุด พบว่าสามารถปรับลดเหลือ 335 ล้านบาท ดังนั้นส่วนที่เหลือจะคืนรัฐเพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาอื่น เช่น สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้รับทราบสรุปผลกระทบที่เกิดจากการขอขยายเขตทางในพื้นที่เวนคืนของ ร.ฟ.ท. ล่าสุด ดังนี้ พื้นที่เวนคืน เดิม 857 ไร่ ใหม่ 885 ไร่ เพิ่มขึ้น 28 ไร่ แปลงที่ดิน เดิม 924 แปลง ใหม่ 931 แปลง เพิ่มขึ้น 7 แปลง อาคารสิ่งปลูกสร้าง เดิม 334 หลัง ใหม่ 360 หลังเพิ่มขึ้น 26 หลัง และต้นไม้เท่าเดิม 517 แปลง

ขณะที่พื้นที่บุกรุก แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

1.ช่วงดอนเมืองถึงสุวรรณภูมิ 782 หลัง กระทบโครงการ 197 หลัง 

2.ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา 570 หลัง กระทบโครงการ 301 หลัง โดยพื้นที่บุกรุกที่กระทบโครงการอยู่ระหว่างดำเนินการฟ้องร้อง พร้อมการเจรจา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชน ดังนั้นทาง ร.ฟ.ท.ต้องพิจารณาจัดหาพื้นที่ใหม่เพื่อรองรับ