ครม.ตั้งบอร์ดใหม่คุมเขตเศรษฐกิจ เชื่อมการพัฒนา EEC

ครม.ตั้งบอร์ดใหม่คุมเขตเศรษฐกิจ  เชื่อมการพัฒนา EEC

คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 มิ.ย.2563 เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า ครม.กำหนดให้ สศช.รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สศช.รายงานว่าตามที่คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) วันที่ 31 ม.ค.2563 เห็นชอบกรอบแนวคิดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 พื้นที่ ได้แก่

1.การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ 2.ภาคเหนือ 3.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 4.ภาคกลาง-ภาคตะวันตก เพื่อเป็นพื้นที่การพัฒนาเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับ อีอีซี และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมาย

รวมทั้งมอบหมายให้ สศช.จัดทำร่างระเบียบดังกล่าว โดยแก้ไขปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ.2558 ซึ่ง ครม.ได้มีมติรับทราบผลการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ดังกล่าวแล้ว จึงได้ยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้ขึ้น

ทั้งนี้ ร่างระเบียบในเรื่องนี้จะเป็นกลไกในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ในการบริหารจัดการ กำกับติดตาม และสนับสนุนการดำเนินงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษให้ต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการและขับเคลื่อนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษทั้งหมดอย่างบูรณาการ มีประสิทธิภาพและต่อเนื่องทั้งพื้นที่ที่ดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน และพื้นที่ที่มีศักยภาพเพิ่มเติม

159178493510

สำหรับเขตเศรษฐกิจที่จะดำเนินการตามระเบียบฉบับนี้ ครอบคลุมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง ได้แก่ 

1.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี 

2.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย 

3.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก

4.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด 

5.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม 

6.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส 

7.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร 

8.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา 

9.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว 

10.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย

รวมทั้งครอบคลุมฟื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ 4 แห่ง คือ 

1.พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC)

2.พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC – Creative LANNA) 

3.พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NeEC - Bioeconomy)

4.พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง - ภาคตะวันตก (Central-Western Economic Corridor : CWEC)

นอกจากนี้ ให้ครอบคลุมบริเวณพื้นที่อื่นใดที่กำหนดเพิ่มเติมโดยคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยความเห็นชอบของ ครม.ประกาศกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และให้ถือว่าเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ที่ดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบันสามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยให้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ นี้ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวก่อนวันที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ นี้ใช้บังคับ

ทั้งนี้ กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ” เรียกโดยย่อว่า “ กพศ.” มีอำนาจหน้าที่หลักในการกำหนดนโยบายแนวทางการดำเนินงานและการบริหารการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ

ส่วนกรรมการมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวง 13 กระทรวง คือ กระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม

รวมทั้งมีกรรมการจากส่วนราชการ คือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

และกรรมการจากภาคเอกชน คือ ประธานกรรมการหอการค้าไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย โดย สศช.ทำหน้าที่เลขานุการของ กพศ.รับผิดชอบในด้านวิชาการและธุรการ ตลอดจนอำนวยการในการปฏิบัติหน้าที่ของ กพศ.