รากเหง้าการเหยียดสีในเมืองไทย กรณีเสื้อเหลือง เสื้อแดง สลิ่ม และ ล้มเจ้า

รากเหง้าการเหยียดสีในเมืองไทย กรณีเสื้อเหลือง เสื้อแดง สลิ่ม และ ล้มเจ้า

ทุกครั้งที่เกิดประเด็นทางการเมืองขึ้นมาในโลกโซเชียล ใครก็ตามที่ออกมาเสนอ "ความคิดเห็น" มักจะถูกยัดเยียดหรือเหยียดให้เป็น เสื้อเหลือง เสื้อแดง สลิ่ม ล้มเจ้า ไพร่ เผด็จการและอํามาตย์ เป็นต้น

โดยเฉพาะกรณีล่าสุด การหายตัวไปของ "วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์" ถูกอุ้มจากกลุ่มคนร้ายก่อเหตุในประเทศกัมพูชา ต่างแบ่งฝักฝ่ายแสดงความคิดความเห็น ตามความเชื่อและความนิยม หรือรสนิยมทางการเมือง แม้แต่คนที่อยู่เฉยๆ ไม่รู้สึกรู้สากับเรื่องการเมืองก็อาจยังถูกเหยียด หรือถูกต่อว่าเช่นกัน

นี่แหละคือ "การสร้างวาทกรรมการเมือง" เพื่อโยนความผิด ใส่ร้ายฝ่ายตรงข้าม เพื่อสร้างความ ชอบธรรมให้ฝ่ายตนเอง และแสวงหาแนวร่วมไปในคราวเดียวกัน

เพียงแต่ยุคสมัยเปลี่ยนไป กลอุบายสร้างวาทกรรมการเมืองก็เปลี่ยนตามเทคโนโลยี ซึ่ง พ.ศ. นี้ "โซเชียลมีเดีย" ครองเมือง ก็มีวิธีการแตกต่างกันออกไป

การสร้างวาทกรรมฯยุคเก่า

หากนับตั้งแต่ยุคการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง เมื่อ 2475 การต่อสู้ชิงอำนาจกัน ในขั้ว "ฝ่ายประชาธิปไตย" หรือสู้กับ "ฝ่ายอนุรักษ์นิยม" สมัยนั้น ใช้การแจกใบปลิว การโปรยใบปลิวตามท้องถนน โจมตีทางการเมือง

หรือแม้แต่การจ้างคนไปตะโกนในโรงภาพยนตร์ ด้วยการกล่าวหารุนแรงเพื่อหวังผลทางการเมือง กรณี "อ.ปรีดี พนมยงค์" เป็นต้น

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองโลก แบ่งเป็นขั้วประชาธิปไตย กับขั้วคอมมิวนิสต์ ซึ่งไทยเอง ผู้นำกองทัพ ขึ้นมีบทบาททางการเมืองอย่างต่อเนื่อง การประดิษฐวาทกรรม "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย" ในยุค จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ครองอำนาจก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ในการปลุกแนวร่วม สยบกลุ่มต่อต้านของนักการเมือง เป็นต้น

รวมถึงการเคลื่อนไหวของนักศึกษา กรณี 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 ถือเป็นการวาทกรรม ต่อสู้กันอย่างเข้มข้น ระหว่างขั้วประชาธิปไตยกับเผด็จการทหาร ปมการใช้กระแสเรื่อง "ล้มเจ้า" และ "คอมมิวนิสต์" การเป็นประเด็นขัดแย้งและใช้วิธีการรุนแรงจัดการนานนับทศวรรษ

การสร้างวาทกรรม "พฤษภาทมิฬ"

หลังหมดยุคสงครามเย็น ก้าวสู่ยุคพัฒนาอุตสาหกรรม ขณะบทบาทของสื่อสารมวลชนได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากยุคหนังสือพิมพ์เฟื่องฟู สู่ยุคโทรทัศน์หรือทีวี และการเข้ามาเครื่องมือสื่อสาร อย่าง เพจเจอร์ เครื่องมือส่งข้อความติดตามตัว และโทรศัพท์เคลื่อนที่

การเคลื่อนไหวการเมืองยุคนี้ มีตัวอย่างที่เคยรับรู้กันคือ "ม็อบมือถือ" การใช้โทรศัพท์มือถือ ระดมคนชุมนุมต่อต้านผู้นำกองทัพสืบทอดอำนาจ อย่าง "บิ๊กสุ" พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี หลังเข้าร่วม รสช. ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

วาทกรรมที่สู้การทางการเมือง เช่น เสียสัตย์เพื่อชาติ พรรคเทพพรรคมาร และ จำลองพาคนไปตาย เป็นต้น

วาทกรรม "ขับไล่ทักษิณ"

การขึ้นมามีอำนาจของนายทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย ตั้งแต่ปี 2544 และเกิดกลุ่มต่อต้านในนามกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ พธม. ราวปี 2547 มีผู้นำหลักคือ "สนธิ ลิ้มทองกุล" ใส่เสื้อเหลืองเป็นสัญลักษณ์ เปิดโปงปัญหาคอรัปชั่น

สร้างวาทกรรม ไอ้หน้าเหลี่ยม , โกงทั้งโคตร , ระบอบทักษิณ เป็นต้น จนถูกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ภายใต้การนำของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ก่อการรัฐประหารปี 2549

วาทกรรม "ไพร่-อำมาตย์"

หลัง คมช. ยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เกิดกลุ่มต่อต้านทหารยึดอำนาจ จากกลุ่มคนเล็กๆ ปราศรัยที่สนามหลวง จนกลายเป็นกลุ่มคนเสื้อแดง ในนามกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ต่อต้านรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และโจมตี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี สร้างวาทกรรม ไพร่ , อำมาตย์ , ฝ่ายประชาธิปไตย

วาทกรรม "ทหารฆ่าประชาชน"

การเลือกตั้งทั่วไปปี 2550 ฝ่ายผู้สนับสนุนอดีตนายกฯทักษิณ ใช้พรรคพลังประชาชนสู้ศึกเลือกตั้งจนได้รับชัยชนะตั้งรัฐบาล มีสมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ ถูกกลุ่ม พธม. ชุมนุมขับไล่อย่างต่อเนื่อง จนพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน จับมือพรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาล ดันอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ ซึ่งการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง จนนำไปสู่การล้อมปราบเพื่อรักษาความสงบที่ราชประสงค์ ปี 2553

วาทกรรม "นิรโทษกรรมสุดซอย" และ "สลิ่ม"

และการเลือกตั้งทั่วไป 2554 พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง น้องสาวของทักษิณ อย่าง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกฯ ซึ่งดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งกลุ่ม กปปส. ที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ นำขบวนต่อต้าน "นิรโทษกรรมสุดซอย"

เกิดวาทกรรมว่า "สลิ่ม" มาจากลักษณะขนมซ่าหริ่มมีหลากสี กรณีการเคลื่อนไหวกลุ่มคนเสื้อหลากสี หมายคนที่เหมือนจะเป็นกลาง แต่สนับสนุนทหาร และไม่ชอบเสื้อแดง

กระทั่งในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในขณะนั้น นำกำลังทหารยึดอำนาจ เมื่อปี 2557

วาทกรรม "ล้มเจ้า"

การเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองที่ต่อต้าน คสช. และต่อต้านการสืบทอดอำนาจ จะถูกฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาว่าเป็นพวกล้มเจ้า มาอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไป 2562 การที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ สมัยที่ 2 ถูกโจมตีอย่างหนักเรื่องสืบทอดอำนาจ และการปลุกวาทกรรม "สลิ่ม" ในหมู่กลุ่มนิสิตนักศึกษา เมื่อช่วงเดือน ก.พ. 2563 เพื่อปลุกเร้าทางความคิดของชนชั้นกลาง

ศาสตราจารย์ ธีรยุทธ บุญมี เคยบรรยายพิเศษเรื่อง “ประชาชน พรรคการเมือง ทหารไทย ติดกับดัก ก่อวิกฤติใหม่ประเทศไทย” เนื่องในโอกาศครบ 46 ปีเหตุการณ์ 14 ต.ค. เมื่อปีที่แล้ว อย่างน่าสนใจว่า

น่าเป็นห่วงวิกฤติรอบใหม่ในลักษณะวาทกรรมที่แรงขึ้นไปเรื่อยๆ และจะค่อยๆทำลายคนที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มอื่น หรือคนอื่นที่ละเล็กละน้อย ทั้งนี้ เห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์มีบารมี และมีฐานพอสมควร หากออกมาพูดด้วยความเป็นผู้ใหญ่ ให้ภาพสงบเรียบร้อย นุ่มนวล ปล่อยวางบางเรื่องบ้าง จะทำให้ความแรงลดลง

อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของผู้เขียน มองสังคมไทยไม่เคยเปลี่ยน จาก 2475 จนถึงปัจจุบัน

กลุ่มที่นิยมประชาธิปไตยกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม ยังต่อสู้กัน ผลัดเปลี่ยนกันมีอำนาจ จึงไม่แปลกที่การสร้างวาทกรรม "เผด็จการ , สลิ่ม และล้มเจ้า" จะหยั่งรากลึกเหยียดความคิดความเห็นในสังคมอย่างต่อเนื่อง

แน่นอน ผลกระทบจากการสร้างวาทกรรมทางการเมืองนั้น หากใครตกเป็น "ผู้ถูกกระทำ" จากฝีมือฝ่ายผู้มีอำนาจ หรือกลุ่มกองกำลังไม่ทราบฝ่าย รวมไปถึงมือที่สาม ย่อมเป็นเงื่อนไขของการเกิดความขัดแย้งในสังคม อาจเป็นกระแสในการเคลื่อนไหว แต่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ จะได้รับการช่วยเหลือจากการอุ้มได้มากน้อยเพียงใด 

ดังเช่น ตัวอย่าง "ผู้ถูกอุ้มเอี่ยวการเมือง" ส่วนใหญ่ที่ผ่านมา มักหายตัวไปไม่พบตัว หรือเสียชีวิต มากกว่ารอดชีวิต ซึ่งบทเรียนหลายๆ กรณีก็เป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว

ดังนั้น การเหยียดสีในเมืองไทย กรณีเสื้อเหลือง เสื้อแดง สลิ่ม และ ล้มเจ้า เสมือนเป็นเครื่องมือในการรองรับความเชื่อของแต่ละฝ่าย โดยไม่สนใจแสวงหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ ใช่หรือไม่!?!