ยันมติเลือก 'อธิบดีศาลแพ่งมีนบุรี' นั่ง ป.ป.ช. ชอบเเล้ว

ยันมติเลือก 'อธิบดีศาลแพ่งมีนบุรี' นั่ง ป.ป.ช. ชอบเเล้ว

คณะกรรมการสรรหา ที่มี "ปธ.ศาลฎีกา" เป็นประธาน ยันมติเลือก "อธิบดีศาลแพ่งมีนบุรี" นั่ง ป.ป.ช. ชอบเเล้ว

ที่ศาลฎีกา สนามหลวง วานนี้ (9 มิ.ย.) ได้มีการประชุมคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมีนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการสรรหาฯ ในประเด็นที่ประชุมวุฒิสภาลงมติให้ความเห็นชอบนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี เป็นกรรมการป.ป.ช. ซึ่งนายสุชาติเป็น อดีตสมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อาจจะขัดกับพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสรรหา ที่มีประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ ได้ตรวจสอบคุณสมบัติและวินิจฉัยบุคคล ลงมติเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งให้เหลือจำนวน 2 ราย จากรายชื่อผู้เข้ารับการสรรหา จำนวน 8 ราย ซึ่งผู้ได้รับคะแนนเสียงถึงสองในสามของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ 2 ราย คือ 1.นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการสูงสุด 2.นายสุชาติ

แต่ที่เป็นประเด็นว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้แจ้งไปยัง นายไสลเกษ ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาป.ป.ช.ให้เรียกประชุมคณะกรรมการสรรหา เพื่อยืนยันมติอีกครั้งก่อนนำรายชื่อขึ้นขึ้นทูลเกล้าฯเเต่งตั้ง ป.ป.ช. จึงมีการประชุมในที่ 9 มิ.ย. โดยมีรายงานว่าในวันนี้ที่ประชุมคณะกรรมสรรหา มีมติว่าการประชุมที่มีมติเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้ง 2 รายในวันดังกล่าวชอบเเล้ว

ผู้ตรวจฯรับปมคุณสมบัติ ‘สุชาติ-90ส.ว.’

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติรับเรื่องที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นขอให้ตรวจสอบและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครองวินิจฉัยว่า การที่สำนักเลขาธิการวุฒิสภา และคณะกรรมการสรรหากรรมการป.ป.ช. ส่งรายชื่อนายสุชาติ อดีตสมาชิกสนช. ซึ่งพ้นจากตำแหน่งมายังไม่ครบ 10 ปี มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 11( 18) ให้วุฒิสภาเห็นชอบเป็นว่าที่กรรมการ ป.ป.ช. เข้าข่ายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไว้พิจารณาวินิจฉัย และได้สั่งให้สำนักกฎหมายเร่งรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องและดูว่ามีเหตุตามที่มีการร้องหรือไม่ ก่อนจะเสนอผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาวินิจฉัยโดยเร็ว

นายรักษเกชา กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้ตรวจยังมีมติรับเรื่องที่นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ โฆษกพรรคเสรีรวมไทย ยื่นขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของวุฒิสภาทั้ง 90 คน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 108 ข.(1) (3) และ (9) หรือไม่ เนื่องจากเคยเป็น สนช.มาก่อน ไว้พิจารณาด้วย แต่เรื่องดังกล่าวเพิ่งจะมีการยื่นเรื่อง จึงยังอยู่ในชั้นของการแสวงหาข้อเท็จจริง