เปิดร่าง พ.ร.บ.อีเซอร์วิส รายได้ 1.8 ล้านเสีย VAT ทุกราย

เปิดร่าง พ.ร.บ.อีเซอร์วิส รายได้ 1.8 ล้านเสีย VAT ทุกราย

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบตามข้อเสนอกระทรวงการคลัง (กค.) ต่อร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ.... (การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ(e-service))

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้หลังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.)ตรวจพิจารณาแล้ว มีสาระสำคัญเป็นการเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้ผู้ประกอบการที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) สำหรับการใช้บริการในประเทศไทย โดยผู้ใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ให้การจัดเก็บแวตของผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งประกอบกิจการให้บริการโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามประมวลรัษฎากรให้มีความเหมาะสม ชัดเจน และสอดคล้องกับลักษณะการดำเนินธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน เพื่อเป็นการสนับสนุนให้การจัดเก็บภาษีแวตมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เกิดความเหมาะสมและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ

โดยก่อนหน้านี้ ครม.ได้มีมติเมื่อ 17 ก.ค. 2561 อนุมัติในหลักการร่างพ.ร.บ.นี้ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งกฤษฎีกาตรวจพิจารณา เมื่อรับความเห็นชอบแล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ต่อไป

159170856781

ในการตรวจพิจารณาครั้งนั้น กฤษฎีกา ได้แก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ หลักประกอบด้วย แก้ไขวันใช้บังคับ แก้ไขเพิ่มเติมให้การส่งหมายเรียกหรือหนังสือแจ้งสามารถดำเนินการโดยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ พร้อมแก้ไขนิยามคำว่า “สินค้า” และเพิ่มบทนิยามคำว่า “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” และ“อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม”

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า การเรียกชื่อมาตรการตามร่างพระราชบัญญตินี้ ว่าเป็นการจัดเก็บจาก e-Bussiness อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในหลักการและสาระสำคัญของกฎหมายว่าเป็นการเก็บภาษีจาก e-Bussiness ทั้งระบบ จึงมีการแก้ไขเป็น e-Service หรือ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ 

ประเด็นการบังคับใช้กฎหมายนั้นกระทรวงการคลังเห็นควรเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งปัจจุบัน กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงอนุสัญญาภาษีซ้อน และเข้าร่วมเป็นสมาชิกใน Multilateral Convention on Mutual Administerative Assistance in Tax Matters(MAC)

ข้อสังเกตหากผู้ประกอบการฯไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มฯ กระทรวงการคลังอาจตรวจสอบจากฐานข้อมูลการจดทะเบียนภาษีฯได้ก่อนส่งมอบบริการซึ่งจะทำให้เกิดความไม่คล่องตัวนั้น กระทรวงการคลังเห็นควรอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในการตรวจสอบสถานะของผู้ใช้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งกระทรวงฯมีเทคโนโลยีที่พร้อมดำเนินการ

ยังมีข้อสังเกตว่า กระทรวงการคลังเพียงลำพังไม่อาจบังคับใช้กับผู้ประกอบการจากต่างประเทศได้ กระทรวงการคลังเห็นด้วยกับการกำหนดมาตรการที่มิใช่ภาษีในการกำกับดูแลผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตาม ซึ่ง กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญติฉบับนี้ สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งมีคำแนะนำว่า การกำหนดให้ผู้ประกอบการต่างประเทศหรืออิเล็กทรอนิกส์แพลต์ฟอร์มฯ ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีแวตนั้นเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพและสามารถดำเนินการได้มากที่สุด ซึ่งประเทศที่จัดเก็บส่วนใหญ่ดำเนินการตามคำแนะนำดังกล่าว 

สำหรับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้ ประเมินว่าจะช่วยส่งเสริมการแข่งขันและการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรม ระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศและจะทำให้การจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3,000 ล้านบาท และยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจและประชาชน เพิ่มความคล่องตัวในการปฎิบัติงานของหน่วยงานของรัฐและประชาชน และลดต้นทุนในการจัดทำเอกสารหรือหนังสืออื่นใดที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร 

“ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของกรมสรรพากรและผ่านระบบเทคโนโลยีฯของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระหว่างวันที่ 14-29  ม.ค.2563 และจัดประชุมร่วมกับภาคเอกชนพร้อมทำรายงานวิเคราะห์ตามแนวทางที่ครม.ให้ไว้ โดยกฎหมายลำดับรองได้แก่กฎกระทรวง 2 ฉบับจะนำเสนอครม.ได้ภายใน 30 วัน”

ดังนั้น สาระสำคัญของพระราชบัญญัตินี้ ว่าด้วยการ เพิ่มหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศแก่ผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยคำนวนจากภาษีขายโดยไม่ให้หักภาษีซื้อและกำหนดให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ 

การแก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ของผู้จ่ายในการนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มและหน้าที่ของผู้ประกอบการในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศแก่ผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน

การทำหนดกระบวนการต่างๆสมารถทำได้ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ และห้ามมิให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศออกใบกำกับภาษี ทั้งนี้ มีความเห็นจากครม.ระบุว่า หากผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประทศมีรายรับจากการให้บริการดังกล่าวเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและให้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับกรณีผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการในประทศไทยผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศ ซึ่งหากดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้มีหน้าที่ เสียภาษีด้วย