อ.ส.ค.วางมาตรการเข้มป้องกันนมโรงเรียนบูด

อ.ส.ค.วางมาตรการเข้มป้องกันนมโรงเรียนบูด

อ.ส.ค. สกัดปัญหานมโรงเรียนไม่ได้คุณภาพ สั่งการสำนักงาน 5 แห่งทั่วประเทศ รับการตรวจวิเคราะห์คุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ หวังยกระดับคุณภาพนมโรงเรียนให้เป็นที่เชื่อมั่นและยอมรับ

 นายสุชาติ  จริยาเลิศศักดิ์  รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)   เปิดเผยว่า  หลังจากคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแนวทางการดำเนินโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียนภาคเรียนที่ 1/2563  ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19  กำหนดให้เปิดเรียนออกไปเป็นวันที่ 1 ก.ค.2563 และผู้ประกอบการจัดส่งนมชนิดยูเอชที ให้นักเรียนดื่มที่บ้านแทน ตั้งแต่วันที่18 พ.ค.ที่ผ่านมาไปจนถึง30 มิ.ย.2563 จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ   เพื่อให้นักเรียนได้มีนมบริโภคอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 260 วันต่อปีการศึกษานั้น

          ทั้งนี้  เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพนมโรงเรียน  อ.ส.ค. ในฐานะผู้ประกอบการรายหนึ่งที่ได้รับการจัดสรรสิทธิในการจำหน่ายนมโรงเรียน ได้กำชับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยึดแนวทางปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน ของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมอย่างเคร่งครัด  เพื่อจัดส่งนมให้นักเรียนดื่มได้อย่างเรียบร้อยไม่มีปัญหา รวมทั้งเข้มงวดในขั้นตอนการส่งมอบและรับมอบอาหารเสริม(นม) โรงเรียนโดยให้ถือปฏิบัติตามประกาศของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม สุ่มตรวจคุณภาพนมที่ให้เด็กนักเรียนดื่ม เพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องคุณภาพนมโรงเรียน

สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการโครงการนมโรงเรียนของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม  เช่น ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมต้องได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ การขนส่งและมีการเก็บรักษานม ต้องมีรถห้องเย็นที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส ต้อจัดหาตู้เย็นหรือถังแช่สำหรับการขนส่งนมพาสเจอร์ไรส์  มีการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพน้ำนมโคได้ตลอดเวลา 

1591701283100

 
มีการระบุประเภทของผลิตภัณฑ์นม ว่าเป็นนมพาสเจอร์ไรส์ หรือนม ยู.เอช.ที.ชนิดกล่อง/ชนิดซอง พร้อมให้ระบุจำนวนและราคาไว้อย่างชัดเจน
   ต้องมีสถานที่จัดเก็บที่สะอาด สามารถป้องกันสัตว์ต่างๆได้ บรรจุในลังกระดาษไม่ควรซ้อนลังสูงเกิน 8 ชั้น หรือที่เป็นกล่องนมห่อด้วยฟิล์มพลาสติก ไม่ควรวางซ้อนเกิน 5 ชั้น การเก็บรักษาต้องยกสูงจากพื้นอย่างน้อย 10 เซนติเมตร แล้วต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิไม่เกิน 45 องศาเซลเซียส และไม่ให้ถูกแสงแดดโดยตรง  เป็นต้น  ทั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนได้ดื่มนมโรงเรียนที่มีคุณภาพ ถูกหลักอนามัย อย่างต่อเนื่องและครบถ้วนสอดคล้องกับปฏิทินการเปิดภาคเรียนตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด    

“ได้กำชับให้สหกรณ์/ฟาร์มเกษตรกรที่ส่งน้ำนมดิบให้อ.ส.ค.ทุกแห่งไปจนถึงโรงงานผลิตทั้ง 5 แห่งทั่วประเทศของอ.ส.ค.เพิ่มความเข้มงวดในการขบวนการผลิต  รวมทั้งเร่งรับการตรวจประเมินสถานที่ผลิตด้าน GMP พร้อมเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์นม ยูเอชที (นมโรงเรียน) เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานโครงการนมโรงเรียน ประจำปีการศึกษาที่ 1/2563 จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำจังหวัด (สสจ.)
หรือแต่ละพื้นที่  โดยวางกรอบให้แต่ละที่มีผลการตรวจประเมินผ่านเกณฑ์มาตรฐานในระดับดีเยี่ยม”