โรคอ้วน (ตอน 2)

หากถามว่า ทำอย่างไรไม่ให้เป็น "โรคอ้วน"? คำตอบคือต้องจำกัดการกินและพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึง "ออกกำลังกาย" ด้วย แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้ว จากการวิจัยมีกีฬาอยู่หลายประเภทที่จะไปช่วยกด "ยีน" ที่เสี่ยงเป็นโรคอ้วนของเราได้ด้วย

[ติดตามอ่านบทความ "โรคอ้วน" ตอนที่ 1 ได้ที่ รู้ทันโรคอ้วน 'ดัชนีมวลกาย' เท่าไร จึงเรียก 'อ้วน']

ครั้งที่แล้วผมกล่าวถึงภัยอันตรายของโรคอ้วนไปแล้วว่าทำให้อายุสั้นลงได้ 3-4 ปี สำหรับคนที่ปัจจุบันอายุ 40 ปี จากผลงานวิจัยขนาดใหญ่ของอังกฤษที่อาศัยข้อมูลจากประชากรกว่า 3.6 ล้านคน

ถามว่าทำอย่างไรไม่ให้เป็นโรคอ้วน คำตอบตรงไปตรงมาคือจะต้องจำกัดการกิน โดยผมอาศัยการไม่กินอาหารมื้อเย็น (หรือกินให้น้อยที่สุด) แล้วเอาเวลาดังกล่าวไปออกกำลังกาย ซึ่งหากออกกำลังกายโดยการเดินเร็วได้วันละ 1 ชั่วโมง เป็นเวลา 5 วันต่อสัปดาห์ ก็จะทำให้เผาผลาญแคลอรีไปประมาณ 750 แคลอรีต่อ 1 สัปดาห์ ดังนั้นจึงจะทำให้น้ำหนักตัวลดลงไปประมาณ 1 กิโลกรัม ภายใน 10 สัปดาห์ หรือ กิโลกรัมภายใน ปี เป็นต้น

แต่หากสามารถวิ่งครั้งละ 1 ชั่วโมงที่ความเร็วประมาณ 7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และวิ่งสัปดาห์ละ 5 ชั่วโมง ก็จะทำให้สามารถเผาผลาญประมาณ 1,750 แคลอรีต่อ 1 สัปดาห์ ทำให้น้ำหนักลดลงได้ถึง 12 กิโลกรัมต่อการวิ่ง ปี (วิ่งจะเผาผลาญประมาณ 50 แคลอรีต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร แต่การเดินจะเผาผลาญเพียง 30 แคลอรีต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร)

ดังนั้น การลดอาหารจึงจะมีประสิทธิผลมากกว่าการออกกำลังกาย หากวัตถุประสงค์หลักคือการลดน้ำหนัก ซึ่งแนวทางในการลดอาหารที่สำคัญแนวทางหนึ่งคือ การนอนหลับให้เพียงพอทุกๆ คืน คือหากนอนหลับไม่เพียงพอคือคืนละ ชั่วโมงจะมีความเสี่ยงที่น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นปีละ 4.5-7 กิโลกรัม (จากหนังสือของ Dr.Matthew Walker “Why We Sleep”)

ทั้งนี้เพราะการนอนหลับไม่เพียงพอจะกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนที่เรียกว่า Ghrelin ในกระเพาะให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งสัญญาณไปบอกสมองว่าท้องว่างและหิวมากๆ และแม้จะกินอาหารเข้าไปแล้วปริมาณ Ghrelin ก็จะไม่ค่อยลดลง (ซึ่งเป็นผลจากการนอนน้อย) ทำให้ยังส่งสัญญาณบอกสมองว่ายังไม่อิ่มต้องกินต่อไป และกระตุ้นให้เลือกกินอาหารที่มีแคลอรีสูงอีกด้วย

ในขณะเดียวกันปริมาณของฮอร์โมนที่เรียกว่า Leptin ในเซลล์ก็จะลดลงอย่างมากเมื่ออดนอน ทำให้เซลล์ส่งสัญญาณว่ายังได้รับอาหารไม่เพียงพอ ต้องกินเข้าไปอีก และแม้จะกินอาหารเข้าไปมากแล้ว ปริมาณ Leptin ก็จะไม่ค่อยเพิ่มขึ้น ทำให้เซลล์ยังส่งสัญญาณไปบอกสมองว่าเซลล์ยังขาดอาหารอยู่ จึงต้องกินอาหารเพิ่มขึ้นอีก

ดังนั้นจึงควรทำ 3 อย่างไปพร้อมๆ กันคือเพิ่มการออกกำลังกาย ลดการกินอาหาร (โดยเฉพาะการลดการกินมื้อเย็นเป็นมื้อหลัก) และการนอนหลับให้เพียงพอ คือคืนละ 7-8 ชั่วโมง เพื่อควบคุมความอยากกินอาหารในวันต่อไป

มีงานวิจัยที่น่าสนใจจากทีมนักวิเคราะห์ที่ National Taiwan University เผยแพร่ใน Public Library of Science เมื่อ 9 ส.ค.2019 เพื่อประเมินว่าการออกกำลังกายประเภทใดจะช่วย กด” ยีนที่ทำให้คนน้ำหนักเกินและเสี่ยงจะเป็นโรคอ้วน (งานวิจัยชื่อ “Performing Different Kinds of Physical Exercise Differentially Attenuates the Genetic Effects on Obesity Measures”) โดยอาศัยผู้ใหญ่ชาวไต้หวัน 18,424 คน ที่ผ่านการอ่านพันธุกรรมและมีข้อมูลอยู่ในฐานข้อมูลของ Taiwan Biobank (TWB)

นักวิจัยจึงนำเอาข้อมูลทางพันธุกรรมดังกล่าวไปประเมินว่ายีนตัวไหนมีผลต่อตัวชี้วัดเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วน 5 ตัวชี้วัด เช่น BMI ปริมาณของไขมันในร่างกาย ขนาดของเอว ความกว้างของสะโพกและสัดส่วนของเอวต่อสะโพกและประเมินความสำคัญของยีนต่างๆ ในการนำมาซึ่งความเสี่ยงของการเป็นโรคอ้วนที่เรียกว่า Genetic Risk Scores (GRSs)

นักวิจัยนำเอา GRSs ไปเปรียบเทียบกับกิจกรรมการออกกำลังกายของคน 18,424 คนดังกล่าวและมีข้อสรุปว่า

1.การออกกำลังกาย ประเภท (จากทั้งหมด 19 ประเภท) มีประโยชน์ในการลดการทำงานของยีนที่ทำให้ความเสี่ยงของการเป็นโรคอ้วน เพราะการออกกำลังกายประเภทใดประเภทหนึ่งดังกล่าวจะช่วยลดตัวชี้วัดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วน

2.การวิ่ง (jogging) เป็นประจำให้ประโยชน์สูงสุดเพราะช่วยควบคุมยีนที่ทำให้เสี่ยงกับการเป็นโรคอ้วนให้เจือจางลง (attenuate) ทำให้ตัวชี้วัดความเสี่ยงของการเป็นโรคอ้วนลดลงถึง 3 ตัว ได้แก่ BMI ปริมาณไขมันในร่างกายและขนาดของสะโพก

3.การปีนเขา เดิน เต้นรำบางท่า (เช่น Waltz และ Foxtrot) และการบำบัดโยคะช่วยควบคุมยีนที่กระตุ้น BMI

4.ไม่พบว่าการถีบจักรยาน การยืดตัวหรือการว่ายน้ำมีผลต่อการควบคุมยีนที่กระตุ้นความเสี่ยงให้เป็นโรคอ้วน (แต่ก็ยังมีประโยชน์เพราะช่วยลดน้ำหนัก ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและทำให้หัวใจและระบบหายใจแข็งแรง)

นอกจากนั้นแล้วก็ยังจะต้อง “ฟังหูไว้หู” เพราะการประเมินว่ามียีนใดบ้างที่มีผลต่อความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วนนั้นย่อมเป็นการประเมินของนักวิจัยกลุ่มนี้ การอ่านพันธุกรรมอย่างละเอียดถี่ถ้วนและการค้นพบว่ายีนตัวใดมีผลอย่างไรต่อร่างกายนั้นยังเป็นเพียงการเริ่มต้น เพราะการอ่านพันธุกรรมมนุษย์ (genome mapping) ครั้งแรกสำเร็จนั้นเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2003 และแม้ว่าจะการพัฒนาการไปอย่างมากในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา แต่น่าจะยังมีอะไรที่จะต้องเรียนรู้อีกมากเกี่ยวกับพันธุกรรมของมนุษย์ว่ามีผลต่อการเป็นโรคต่างๆ อย่างไรบ้าง

แต่ที่สำคัญในความเห็นของผมคือการอาศัย genomics และ epigenome (การอ่านคำสั่งของยีนโดยเซลล์ที่จะผิดเพี้ยนไปได้เมื่ออายุมากขึ้น) จะเป็นแนวทางใหม่ในการรักษาโรคและรักษาสุขภาพในอนาคต และผมเชื่อว่าจะ disrupt ระบบการแพทย์ปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งผมจะขอนำเอาเรื่องของการแสวงหายีนที่ควบคุมความอ้วนและความผอมมานำเสนอในตอนต่อไปครับ