297 ปี 'อดัม สมิธ' กับระบบทุนนิยม

297 ปี 'อดัม สมิธ' กับระบบทุนนิยม

ย้อนรอย 297 ปี ผู้บุกเบิกวิชาเศรษฐศาสตร์ "อดัม สมิธ" กับทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ผ่านงานเขียนสองเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีจริยศาสตร์ และความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือจุดกำเนิดของระบบทุนนิยมนั่นเอง

ใครที่เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ คงจะคุ้นชื่อ “อดัม สมิธ” เป็นอย่างดี เพราะ ”อดัม สมิธ” ศาสตราจารย์ภาควิชาจริยศาสตร์ (Moral Philosophy) มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ (Glasglow) สก็อตแลนด์ ถือเป็นผู้บุกเบิกวิชาเศรษฐศาสตร์เมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน

จากงานเขียนของเขาสองเล่ม คือ ทฤษฎีจริยศาสตร์ (The Theory of Moral Sentiments) ตีพิมพ์ ปี 1759 และ An Inquiry into the Nature and the Causes of the Wealth of Nations หรือที่รู้จักกันสั้นๆ ว่า ความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือ The Wealth of Nations ตีพิมพ์ ปี 1776 ตรงกับปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วันที่ 5 มิถุนายน ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบวันเกิด 297 ปี ของอดัมสมิธ บทความวันนี้ เลยจะขอเขียนถึงปรามาจารย์ท่านนี้ 

หนังสือสองเล่มนี้ เสนอแนวคิดบุกเบิกที่วางรากฐานให้กับวิชาเศรษฐศาสตร์ ที่อธิบายหรือสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการตัดสินใจของมนุษย์ ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจ หนังสือเล่มแรกขายดีมากในช่วงที่ “อดัม สมิธ” มีชีวิตอยู่ เสนอความคิดว่าการตัดสินของมนุษย์เป็นไปตามธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันในสังคม คือ ถึงแม้ทุกคนจะคิดถึงประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก แต่ลึกๆ แล้วจะเห็นอกเห็นใจคนอื่น นำมาสู่การยับยั้งชั่งใจในพฤติกรรมของตนและการตัดสินใจ รู้ผิดรู้ถูก ทำให้สังคมอยู่ได้ มีความสุขได้

แนวคิดนี้หักล้างความเชื่อเดิมที่ว่า ประโยชน์ส่วนตน หรือ Self-interest ของคน จะทำให้สังคมวุ่นวาย เกิดพฤติกรรมป่าเถื่อนเพื่อแย่งชิงทรัพยากร ทำให้จำเป็นต้องมีบทบาทของรัฐที่เข้มแข็ง ที่ต้องควบคุมเพื่อลดความวุ่นวาย 

แต่หนังสือที่ดังและเป็นที่รู้จักกว้างขวาง และถือเป็นจุดกำเนิดของระบบทุนนิยมก็คือ เล่มสอง ความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือ The Wealth of Nations ที่บุกเบิกแนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจ และเสนอข้อคิด ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจเติบโต

คือก่อนหน้าอดัม สมิธ แนวคิดหลักเกี่ยวกับความมั่งคั่งของประเทศ มาจากแนวคิดพานิชย์นิยม ที่สนับสนุนให้ประเทศหารายได้จากการส่งออก ลดการนำเข้า คือเกินดุลการค้าเพื่อสร้างความร่ำรวย ทำให้นโยบายของประเทศมุ่งไปที่การแพร่ลัทธิจักรวรรดินิยมเพื่อขยายการส่งออก ตั้งกำแพงภาษีเพื่อลดการนำเข้า

โดยรัฐส่งเสริมให้บริษัทของประเทศตนล่าดินแดนและหาประโยชน์จากต่างแดน เพราะมองว่าผลผลิตของประเทศค่อนข้างคงที่ ความมั่งคั่งจะเพิ่มได้ก็ด้วยการไปเอาผลผลิตจากประเทศอื่นมาใช้ประโยชน์ นำไปสู่การเติบโตของจักรวรรดินิยม พร้อมกับการปล้นสะดมประเทศอาณานิคมโดยบริษัทการค้าที่ประเทศจัดตั้งขึ้น ซึ่งรุนแรงจนในกรณีอินเดียที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ภาษาอังกฤษคำว่า “Loot” ที่หมายถึงการขโมยทรัพย์สินของคนอื่นมาเป็นของตนด้วยการใช้กำลังหรือการทำสงคราม จริงๆ แล้ว เป็นคำภาษาสันสกฤต และฮินดู ที่แปลว่าปล้น แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของการแย่งชิงทรัพยากรที่เกิดขึ้น 

ตรงกันข้าม “อดัม สมิธ” มองว่า ผลผลิตของประเทศมาจากสินค้าที่ประเทศผลิตได้ และผลผลิตของประเทศสามารถขยายได้ นำมาสู่การเติบโตของเศรษฐกิจและความมั่งคั่งของประเทศ ซึ่งผลผลิตของประเทศก็มาจากที่ดิน คือการผลิตในภาคเกษตรและการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และกลไกที่ขับเคลื่อนการเติบโตนี้ก็มาจากแนวคิดห้าเรื่องที่อดัมสมิธ เป็นผู้บุกเบิก 

หนึ่ง คือ ประโยชน์ส่วนตน หรือ Self-Interest ที่จะขับเคลื่อนให้คนในประเทศเข้าร่วมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างรายได้และความสุขให้กับตนเอง ซึ่ง ”อดัม สมิธ” เชื่อว่า ประโยชน์ส่วนตนในระดับบุคคล ผ่านการตัดสินใจที่ยับยั้งชั่งใจ และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น จะนำไปสู่ประโยชน์ส่วนรวม คือความมั่งคั่งและความสุขของสังคม 

สอง คือ การแบ่งงาน หรือ Division of labour ที่กระบวนการผลิตจะถูกแบ่งเป็นงานย่อยๆ และแรงงานทำงานในส่วนของตนจนเกิดความชำนาญ ทำให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การขยายการผลิต อดัมสมิธ ยกตัวอย่างโรงงานทำเข็มที่คนงาน  10 คน ที่แบ่งหน้าที่กันทำ จะผลิตเข็มได้มากถึง 48,000 เล่มต่อวัน แต่ถ้าทุกคนทำทุกอย่างหมดในการผลิตเข็ม ผลผลิตรวมแต่ละวันจะไม่เกิน 100-200 เล่มคือผลผลิตเพิ่มเกือบ 50 เท่า ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงมาก 

สาม กลไกตลาด หรือมือที่มองไม่เห็น ที่จะเป็นศูนย์รวมการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ส่วนตนของทุกคน นำไปสู่อุปสงค์ของสินค้า อุปทานของสินค้า ราคาซื้อขาย  และการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจ  ในเรื่องนี้ประโยคเด็ดของ “อดัม สมิธ” ในหนังสือความมั่งคั่งแห่งชาติ บทที่ 2 เขียนว่า “ไม่ได้มาจากความเมตตาของคนขายเนื้อ คนขายเหล้า หรือคนขายขนมปัง ที่เรามีสิ่งเหล่านี้ให้รับประทานบนโต๊ะอาหาร แต่มาจากประโยชน์ส่วนตนที่คนเหล่านี้แสวงหา” 

สี่ บทบาทภาครัฐ อดัม สมิธ มองว่า รัฐไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือแทรกแซงการทำงานของกลไกตลาด แต่ควรปล่อยให้การจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจเกิดขึ้นตามการตัดสินใจของพ่อค้าและประชาชนตามธรรมชาติ ทำให้การทำงานของกลไกตลาดมีประสิทธิภาพ

อดัม สมิธ มองบทบาทภาครัฐอยู่ที่การทำในสิ่งที่ประชาชนคนธรรมดาไม่มีพลังที่จะทำได้ แต่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น การป้องกันประเทศ ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนเงินที่จะนำมาสร้างสิ่งเหล่านี้ ควรมาจากผู้ที่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่รัฐบาลจัดหาให้ เช่น เก็บค่าธรรมเนียมจากการใช้ประโยชน์ และมาจากการเก็บภาษี 

ซึ่ง ”อดัม สมิธ” มองว่า ภาษีควรเก็บในอัตราที่ต่ำเท่าที่จำเป็น ไม่ควรเป็นภาระให้กับประชาชน เก็บตามรายได้ที่มี คือ รายได้มากจ่ายมาก ควรเป็นระบบที่มีความชัดเจน คือ ใครต้องเสียอะไรเท่าไร และเป็นระบบที่ปฏิบัติได้ง่าย 

ห้า การค้าระหว่างประเทศที่เสรี “อดัม สมิธ” มองว่า การแบ่งงานสามารถใช้ได้ในระดับประเทศและจะเป็นประโยชน์ต่อทุกประเทศ นำไปสู่ความสามารถพิเศษของแต่ละประเทศ (Specialization) ที่จะผลิตสินค้าบางประเภทได้ดีกว่าและในต้นทุนที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ เกิดเป็นความได้เปรียบที่จะนำไปสู่การค้าขายระหว่างประเทศที่ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ และรัฐไม่ควรแทรกแซงด้วยการเก็บภาษี และจำกัดการนำเข้าเพราะจะทำให้คนในประเทศต้องจ่ายแพงในการบริโภคสินค้า

ยกตัวอย่าง การผลิตไวน์ในสกอตแลนด์ ซึ่งคงต้องลงทุนมาก ทำให้ต้นทุนจะสูง สู้ซื้อไวน์จากฝรั่งเศสมาบริโภคดีกว่า (และขายเหล้าสก็อตให้ฝรั่งเศสแทน) 

นี่คือแนวคิดห้าเรื่องที่ ”อดัม สมิธ” เป็นผู้บุกเบิก ซึ่งเป็นแนวคิดที่อยู่ตรงข้ามกับความเชื่อสมัยนั้น เป็นแนวคิดที่ทรงอิทธิพลและมีผลอย่างมากต่อการทำนโยบายของภาครัฐในช่วงต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ตัวอย่างที่ดีคือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงสร้างประเทศ หลังประกาศอิสรภาพจากอังกฤษและได้ใช้แนวคิดของ ”อดัม สมิธ” ในการวางรากฐานเศรษฐกิจจนกลายเป็นประเทศทุนนิยมระดับแนวหน้าของโลก

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ฮ่องกง  ที่ตั้งใจลดบทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจตามแนวคิด ”อดัม สมิธ” จนฮ่องกงกลายเป็นศูนย์กลางการเงินที่สำคัญของโลก ภายในเวลาไม่ถึง 100 ปี

กล่าวได้ว่า ตั้งแต่ “อดัม สมิธ” เขียนหนังสือเล่มที่สอง ในปี 1776 ระบบทุนนิยมได้ถือกำเนิดในโลกนี้มาแล้ว 244 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากและเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกช่วง 200 ปี ที่ผ่านมา 

จุดอ่อนสำคัญที่คนพูดถึงมากของระบบทุนนิยม คือปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่สมิธไม่ได้พูดถึง แม้จะตระหนักว่า ความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจคงจะมี แต่สมิธให้ความสำคัญกับการลดความยากจนที่จะมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจ 

ในเรื่องนี้ ถ้าจะให้ตอบแทน “อดัม สมิธ” คงตอบว่า ความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาใหญ่คงไม่ใช่เพราะระบบทุนนิยมไม่ดี แต่เป็นเพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้อ่านหนังสือเล่มแรกที่ “อดัม สมิธ” เขียน คือ การแสวงหาประโยชน์ส่วนตนต้องยับยั้งชั่งใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่ทำ การแสวงหาจึงรุนแรง ขาดจริยธรรม แยกถูกแยกผิดไม่ได้ ความเหลื่อมล้ำจึงมีมาก และกลายเป็นความเสี่ยงต่อการอยู่ต่อของระบบทุนนิยม ซึ่งถ้าจะแก้ต้องแก้ที่จริยธรรมโดยต้องมองประโยชน์ส่วนรวม พร้อมกับประโยชน์ส่วนตนในการตัดสินใจ