ชะลอทูลเกล้าฯ 'สุชาติ' เป็น ป.ป.ช. ทนายยื่นผู้ตรวจฯสอบปม 90 ส.ว.

ชะลอทูลเกล้าฯ 'สุชาติ' เป็น ป.ป.ช. ทนายยื่นผู้ตรวจฯสอบปม 90 ส.ว.

ประธานวุฒิสภา ชะลอนำชื่อ “สุชาติ” ขึ้นทูลเกล้าฯ เป็น ป.ป.ช. ปมคุณสมบัติขัด รธน. อ้าง ส.ว.หัก กรรมการสรรหาไม่ได้ เรียกประชุมด่วน ขอคำยืนยันมติ ขณะที่ “ชวน” แจงเคยทักท้วง

ปมปัญหากรณีที่ประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) ลงมติให้ความเห็นชอบนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี ได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กระทั่งต่อมา มีข้อทักท้วงคุณสมบัตินายสุชาติ อาจมีลักษณะต้องห้ามเป็น ป.ป.ช. เนื่องจากพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ไม่ถึง 10 ปีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ล่าสุดวานนี้ (8 มิ.ย.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา แถลงที่รัฐสภา ถึงกรณีดังกล่าวว่า การสรรหากรรมการองค์กรอิสระ เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ที่ประกอบ ด้วยประธานศาลฎีกา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานศาลปกครอง ผู้แทนศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือก และส่งรายชื่อให้วุฒิสภา พิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งวุฒิสภาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในขั้นตอนกรรมการสรรหา

โดยคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระจะทำหน้าที่วินิจฉัยคุณสมบัติผู้สมัคร ว่าถูกต้องหรือไม่ กรณีดังกล่าวเมื่อคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช.ส่งชื่อนายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา และนายสุชาติให้วุฒิสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบนั้น แม้ ส.ว.บางส่วนอาจตั้งข้อสงสัย ปัญหาคุณสมบัตินายสุชาติ แต่ไม่สามารถหยิบยกประเด็นนี้มาวินิจฉัยได้ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 203 วรรค 5 ระบุว่า กรณีที่มีปัญหาคุณสมบัติผู้สมัคร ให้เป็นหน้าที่คณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย และให้คำวินิจฉัยเป็นที่สิ้นสุด จึงไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจวุฒิสภาลบล้างคำวินิจฉัยนี้ได้

ชะลอทูลเกล้าฯเคลียร์ให้ชัดก่อน

นายพรเพชร ระบุว่า ในฐานะที่ประธานวุฒิสภา ที่เป็นผู้นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อเกิดความไม่ชัดเจนเรื่องคุณสมบัติของนายสุชาติ จึงต้องรอให้เรื่องนี้ชัดเจนก่อน ตนไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์ ที่มีหน้าที่แค่ส่งเรื่อง ดังนั้นเพื่อให้กระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ มีความเรียบร้อย ถูกต้อง จึงเห็นควรให้ขยายเวลาการลาออกจากตำแหน่งปัจจุบันของนายสุชาติ ที่ปกติต้องลาออกภายใน 15 วัน หลังได้รับการคัดเลือกเป็น ป.ป.ช.ออกไปก่อน จนกว่าจะได้ข้อยุติจากทุกองค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว จึงจะนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามกรณีเปรียบเทียบ ที่คณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน(กสม.)เคยลงมติว่า พล.อ.นิพัทธ ทองเล็ก และนางจินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร มีคุณสมบัติต้องห้ามเป็น กสม.เพราะพ้นจากตำแหน่ง สนช.ไม่ถึง 10 ปี ซึ่งต่างกับมติของคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช.ที่ระบุว่า ตำแหน่ง สนช.ไม่ถือเป็น ส.ส.และ ส.ว. นายพรเพชร กล่าวว่า เหตุผลการขัดคุณสมบัติเป็น กสม.ของ พล.อ.นิพัทธกับนางจินตนันท์ได้ยินแต่กระแสข่าว แต่คณะกรรมการสรรหา กสม.ยังไม่ได้ทำหนังสือชี้แจงมายังวุฒิสภาอย่างเป็นทางการ ต้องรอหนังสือยืนยันจากคณะกรรมการสรรหา กสม.ก่อน จึงจะนำมาวินิจฉัยต่อได้ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

หากจำเป็นพร้อมยื่นศาลรธน.

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดเรื่องคุณสมบัติของนายสุชาติหรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า ช่องทางการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ต้องเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างองค์กร แต่ขั้นตอนขณะนี้ ยังไม่ถือเป็นความขัดแย้งระหว่างองค์กร จึงต้องรอหนังสือชี้แจงจากคณะกรรมการสรรหากสม.ก่อน เพื่อดูว่าจำเป็นต้องยื่นศาลรัฐ ธรรมนูญหรือไม่ ถ้าดูแล้วมีจำเป็นก็คงต้องยื่น ส่วนตัวคงไม่สามารถให้ความเห็นได้ว่าตำแหน่ง สนช.เทียบเคียงได้กับตำแหน่งส.ส. และส.ว.หรือไม่

เมื่อถามว่า การที่ ส.ว.อ้างว่า ไม่สามารถหักล้างคำวินิจฉัยของกรรมการสรรหาป.ป.ช.ที่ยืนยันนายสุชาติมีคุณสมบัติถูกต้อง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 203 วรรค 5 ได้นั้น แสดงว่าแม้ ส.ว.จะสงสัยคุณสมบัตินายสุชาติ แต่ต้องปล่อยให้เลยตามเลยใช่หรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่า ส.ว.คิดอย่างไรกับประเด็นดังกล่าว

เมื่อถามว่า การที่ ส.ว.ให้ความเห็นชอบ เพราะถูกมัดมือชก โดยมาตรา 203 วรรค 5 หรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า ถ้าจะบอกว่ามัดมือชก ก็คงเป็นไปตามนั้น

เรียกประชุมกก.สรรหายืนยันมติ

ขณะที่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ระบุว่า เรื่องดังกล่าวเป็นมติที่ถือว่าเป็นที่สุดไปแล้ว เพียงแต่ว่า ล่าสุดประธานวุฒิสภา ได้แจ้งไปยังประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. ได้เรียกประชุมคณะกรรมการสรรหา เพื่อยืนยันมติอีกครั้ง ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ เวลา 13.00 น. ที่ศาลฎีกา ซึ่งตนจะเข้าร่วมประชุมด้วย ขอให้ติดตามภายหลังจากการประชุม

เมื่อถามต่อว่า กรณีที่นายชวน ได้ท้วงติงเรื่องคุณสมบัติในที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาป.ป.ช.แล้ว นายชวน กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องแยกระหว่างเรื่องหลักการกับตัวบุคคล เรื่องคุณสมบัติของผู้ซึ่งเคยเป็น สนช.ซึ่งยังไม่พ้นระยะเวลา 10 ปี จะเป็นกรรมการในองค์กรอิสระได้หรือไม่ คือส่วนที่มีปัญหา เพราะมีความเห็นแตกต่างกันว่า สนช.มีความหมายเป็น ส.ส. ส.ว และเป็นข้าราชการเมืองหรือไม่ ซึ่งตนไม่สามารถไปแนะนำทางออกที่ดีที่สุดต่อที่ประชุมได้ เพราะถือเป็นความเห็นทางกฎหมาย

“วันนั้นมีการลงคะแนนถึง 3 รอบ ถ้ารอบที่ 3 ยังไม่ผ่านอีก ก็ต้องเริ่มนับหนึ่ง ตามกระบวนการสรรหาใหม่ จึงทำให้การลงมติในรอบสุดท้าย คะแนนจึงเปลี่ยนแปลงไปตามผลที่ออกมา ซึ่งตามกฎหมายถือว่า เรื่องนี้จบไปแล้ว คงฟื้นกลับลงมติใหม่ไม่ได้แล้ว ส่วนจะชะลอการทูลเกล้าฯเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับประธานวุฒิสภา” นายชวน กล่าว

ร้องผู้ตรวจฯสอบปม 90 ส.ว.

วันเดียวกันนี้ นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ พร้อมด้วยนายทรรศนัย ทีน้ำคำ นักกฎหมายและทนายความ ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของ ส.ว.ทั้ง 90 คน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 108 ข.(1) (3) และ (9) หรือไม่

นายปิติพงศ์ กล่าวว่า การที่ ส.ว.250 คน ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 11 พ.ค.2562 ซึ่งพบว่ามี ส.ว.90 คน เป็นอดีต สนช. ตามรัฐธรรมนูญ 2557 มาตรา 6 และยังทำหน้าที่ ส.ส.และส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งถือว่าขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 108 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ได้ระบุว่า ส.ว.จะต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม คือมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 98 (17) หรือเคยเป็นส.ส.เว้นแต่พ้นจากการเป็น ส.ส.ไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเคยดำรงตำแหน่ง ส.ว. ซึ่ง ส.ว.ทั้ง 90 คนนี้ เคยดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิก สนช. จึงถือว่าขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้าม

เมื่อถามว่ากรณีนี้ถ้าหาก ส.ว.โต้แย้งว่า อาจเป็นความต่อเนื่องของรัฐธรรมนูญจะได้หรือไม่ นายปิติพงศ์ กล่าวว่า ไม่ได้แน่นอน เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับความต่อเนื่องของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องที่คุณได้ปฏิบัติหน้าที่มาแล้ว ก็ถูกต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ที่สำคัญคือ สนช.เหล่านี้ที่เป็น ส.ว. มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ซึ่งตอนนี้ป.ป.ช.ก็ได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่า สนช.ถือเป็นสมาชิกวุฒิสภา มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ฉะนั้นแล้วเมื่อ ป.ป.ช.รับลูกเช่นนี้แล้ว แปลว่าสมาชิกเหล่านี้ จะขาดคุณสมบัติเป็นสมาชิกวุฒิสภา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการยื่นของนายปิติพงศ์ เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณาในครั้งนี้ ได้ยื่นรายชื่อ ส.ว.จำนวน 90 คนที่ขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้าม เช่น นายพรเพชร วิชิตชลชัย พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร พล.อ. สมเจตน์ บุญถนอม นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย นายสมชาย แสวงการ พล.อ.อู้ด เบื้องบน นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ นายกล้านรงค์ จันทิก นอกจากนี้ยังมีนายทหาร และนายตำรวจอีกหลายคน