ปตท.เร่งนำเข้าแอลเอ็นจีลดต้นทุนค่าไฟ

ปตท.เร่งนำเข้าแอลเอ็นจีลดต้นทุนค่าไฟ

ปตท.ลุ้นจัดซื้อ Spot LNG ปี63 ครบ 11 ลำ ปริมาณรวม 6.6-7.7 แสนตัน หลังจัดซื้อได้แล้ว 5 ลำ พร้อมทยอยนำเข้า มั่นใจประเทศได้ประโยชน์ช่วยเฉลี่ยต้นทุนค่าไฟถูกลง จ่อเซ็นสัญญาซื้อ-ขายก๊าซฯหลัก กับ กฟผ.เร็วๆนี้

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปตท.ได้ดำเนินการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ในรูปแบบตลาดจร (Spot) หรือ Spot LNG ตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรงวศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ต้องมอบหมายให้ ปตท.เร่งพิจารณาจัดซื้อ Spot LNG ในช่วงที่มีราคาถูก เพิ่นมาเฉลี่ยต้นทุนค่าเชื้อเพลิงก๊าชธรรมชาติ ที่เป็นต้นทุนหลักในการผลิตไฟฟ้าสัดส่วนถึง 70% ของกำลังผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศ

ล่าสุด ปตท. ได้ทำสัญญาจัดซื้อ Spot LNG แล้ว จำนวน 5 ลำ ปริมาณลำละ 6-7 หมื่นตัน ซึ่งได้เริ่มนำเข้า Spot LNG ลำแรกเข้ามาแล้วตั้งแต่เดือน มี.ค.63 ที่เหลือจะทยอยส่งมอบตามความต้องการใช้เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างดีมานด์และซัพพลายในแต่ละช่วงเวลาด้วย

โดยปีนี้ ปตท. มีแผนจะนำเข้า จำนวน 11 ลำ หรือ ปริมาณรวม 6.6-7.7 แสนตัน ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่จะนำเข้าได้ครบตามแผน แต่ก็ต้องประสานงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด ทั้งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ(ชธ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เพื่อดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพราะการจะนำ Spot LNG เข้ามาต้องไม่กระทบต่อประเทศ

“ Spot LNG ที่ปตท.นำเข้ามาจะถูกนำไปคำนวนเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าในระบบ GAS Pool ที่เฉลี่ยรวมจากทุกแหล่งทำให้ประเทศได้ประโยชน์จากต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ลดลง เพราะขณะนี้ Spot LNG มีราคาถูกมากอยู่ที่ราวกว่า 2 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ถูกกว่าราคาก๊าซฯในอ่าวไทยมาก”

ส่วนกรณีที่ กกพ.อนุมัติออกใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) ให้กับภาคเอกชนหลายรายนั้น ปตท. มองว่า เป็นเพียงขั้นตอนแรกเท่านั้น ซึ่งการจะนำเข้าก๊าซฯได้จริง ยังต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของภาครัฐอีกหลายขั้นตอน

ขณะเดียวกัน ปตท. ก็มีแผนที่จะร่วมมือกับบริษัทในเครือ คือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี  ศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ในธุรกิจ LNG ที่ภาครัฐจะเปิดกว้างมากขึ้นในอนาคต ซึ่งขณะนื้ ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นการศึกษา แต่โดยหลักการแล้วจะต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และหากอะไรที่ภาคเอกชนดำเนินการได้ ปตท.เองก็ควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกันด้วย

นายวุฒิกร กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้า โครงการ Regional LNG Hub ของ ปตท. ขณะนี้ ยังเดินหน้าตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขาย LNG ของภูมิภาค (Regional LNG Hub) ซึ่งจะยังเป็นไปตามแผนที่จะดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ หลังจากได้เริ่มทดสอบกิจกรรมการให้บริการต่างๆ ในช่วงไตรมาส 1 ปี 63 เช่น ระบบบริการขนถ่าย LNG (Reload System) ให้บริการเติม LNG แก่เรือที่ใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงในการเดินเรือ (Bunkering) และทำการตลาดเพื่อสื่อสารให้กับผู้ค้า LNG เข้ามาใช้บริการ แต่ติดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้จะต้องมีการสรุปกลุ่มลูกค้าในประเทศเป้าหมายใหม่ รวมถึงปริมาณส่งออกที่เหมาะสมด้วย คาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆนี้

“เดิมเราก็มอง ตลาดจีน และกลุ่ม CLMV รอบๆบ้าน ที่มีความต้องการใช้ LNG สูง แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ต้องมาดูกันใหม่ ซึ่งยังไงก็ยังดำเนินการไตรมาส3 แน่นอน”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหลัก หรือ Global DCQ ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่วประเทศไทย(กฟผ.) จะรับซื้อก๊าซฯจาก ปตท. นั้น คาดว่า จะมีการลงนามฯกันได้ในเร็วๆนี้ ซึ่งในส่วนของสัญญาใหม่ กฟผ.ได้กำหนดที่จะพิจารณาทางเลือกจัดหาLNG ในรูปแบบอื่นๆได้ด้วย โดยปริมาณก๊าซฯที่จะจัดจากปตท.ในแต่ละปี จะมีปริมาณไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความต้องการใช้