'ภาคธุรกิจ' เร่งเกมส์รัฐตัดสินใจ ท่าที CPTPP

'ภาคธุรกิจ' เร่งเกมส์รัฐตัดสินใจ ท่าที CPTPP

ความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) คือข้อตกลงทางการค้าเสรีที่ปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ หากสหรัฐไม่ถอดตัวออกจากข้อตกลงนี้ CPTPP ก็คงมีขนาดใหญ่และน่าสนใจกว่านี้

ความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) คือข้อตกลงทางการค้าเสรีที่ปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ หากสหรัฐไม่ถอดตัวออกจากข้อตกลงที่ได้เป็นตัวตั้่งตัวตีจนประสบความสำเร็จในปลายสมัยประธานาธิบดีโอบามา ซึ่งขณะนั้นได้ชื่อว่า “ทีพีพี” ก็จะทำให้ข้อตกลงนี้มีขนาดใหญ่มากกว่านี้  โดยปัจจุบันซีพีทีพีพี มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน มี GDP รวมกว่า 11 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 13%  ของ GDP โลก

สำหรับประเทศไทย ผลศึกษาที่เผยแพร่โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้ระบุถึง การศึกษาตามแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ ว่า การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว โดย GDP จะขยายตัว 0.12% หรือ  คิดเป็นมูลค่า 13.32 พันล้านบาท และยังมีข้อดีต่างๆ อีกมาก 

ในการประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน หรือ กกร.ประกอบด้วย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ในวันที่ 10  มิ.ย.นี้ กลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศ กล่าวว่า จะนำข้อสรุปของคณะทำงานศึกษาการเข้าร่วม CPTPP เสนอต่อที่ประชุมกกร. เพื่อกำหนดจุดยืนของกกร. เสนอต่อรัฐบาล เบื้องต้นจะสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมการเจรจาความตกลง CPTPP

ทั้งนี้ การที่ไทยควรเข้าไปสมัครเจรจา CPTPP ก่อน เพราะหากทำได้เร็วจะทำให้การเจรจาง่ายกว่า เพราะยังมีจำนวนประเทศสมาชิกน้อย แต่หากล่าช้าหรือสมัครเข้าร่วมเจรจาช้า ก็จะมีประเทศอื่นๆตามเข้ามา และอาจทำให้การเจรจาก็อาจจะทำได้ลำบากมากขึ้น

“ข้อสรุปจากคณะทำงานที่จะนำมาเสนอกกร. ได้หารือกับทุกฝ่ายทั้งเอกชน และภาคประชาสังคม โดยได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ส่วนใหญ่ความเห็นก็ไปในทางบวก ซึ่งการเจรจา CPTPP ก็มีทั้งส่วนได้และส่วนเสีย แต่มองว่าไทยควรเข้าไปเจรจา เพราะยังไม่รู้ว่าไทยจะได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งการเข้าไปเจรจาก่อน เอาหรือไม่เอาในท้ายสุดก็อีกเรื่อง ต้องดูเงื่อนไขว่ารับได้มากน้อยแค่ไหน”

ส่วนกรณีที่รัฐบาลมอบหมายให้สภาผู้แทนราษฎรมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการเข้าร่วมกรอบความตกลง CPTPP นั้น ทางกกร.จะนำข้อมูลจากผลสรุปความตกลงเสนอต่อกรรมาธิการวิสามัญฯด้วย เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณา แต่เห็นว่าหากไทยจะเข้าร่วมเจรจา CPTPP ควรสมัครให้ทันภายในเดือนส.ค. 2563 ที่ CPTPP เปิดให้ยื่นเข้าร่วมความตกลงฯ หากช้าไปต้องรอไปถึงปีหน้า

กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท.และสมาคมการค้า กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ สนับสนุนการเข้าร่วม CPTPP แต่ขอสงวนสิทธิ์ให้สามารถถอนตัวได้หากรายละเอียดในการเจรจามีผลเสียมากกว่าผลดีและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ 

ทั้งนี้ สรท.ได้มีการหารือกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ถึงประเด็นนี้แล้ว เพราะหากเราไม่เข้าร่วมเจรจาเราก็ไม่เห็นเงื่อนไขต่างๆ ในการเข้าร่วมข้อตกลงที่ชัดเจน ซึ่งไม่ต้องการให้มองว่าเอกชนสนใจแต่เรื่องของ CPTPP แต่เอกชนให้ความสำคัญกับทุกกรอบการเจรจาการค้าเสรี

ถ้าหากไทยไม่มีการขยายความร่วมมือด้านการค้ากับประเทศคู่ค้าของไทย ในอนาคตสินค้าของไทยที่ส่งออกไปยังประเทศต่างๆก็จะเสียภาษีเต็มอัตรา เมื่อเทียบกับเวียดนามที่ปัจจุบันการส่งออกเพิ่มขึ้นมากและยอดการส่งออกมากกว่าไทย เงินลงทุนก็มากกว่า 

ปัจจุบันไทยมีการทำเอฟทีเอ 19 ฉบับ ขณะที่เวียดนามมี 53 ฉบับซึ่งหมายความว่า เวียดนามเปิดการค้าทั่วโลก ทำให้ไทยเสียเปรียบในการส่งสินค้าในประเภทเดียวกันไทยเสียภาษีแต่เวียดนามภาษี0% 

ทั้งนี้หากต้องการให้ไทยเติบโตทางเศรษฐกิจก็ต้องอาศัยการลงทุน ซึ่งการเข้าพบธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สรท.ได้นำเสนอสถานการณ์การส่งออกรายสินค้าในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด 19 และคาดการณ์ทิศทางการส่งออกรายสินค้าและภาพรวมของการส่งออกของไทยในปี2563 ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะหดตัวถึง-8% 

ขณะที่ ศักยภาพด้านการลงทุนของไทยอยู่ในระดับที่น่าสนใจน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ทำให้ไม่อาจได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนซึ่งต้องการออกจากประเทศจีนเท่าที่ควร จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุน การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการเจรจาการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าสำคัญ เพื่อให้สามารถดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศให้มากขึ้น หากไทยไม่พร้อมนักลงทุนต่างชาติก็จะไม่มองประเทศไทยจะย้ายฐานไปประเทศอื่นที่มีความพร้อมมากกว่า เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย

“เงื่อนไขที่เป็นข้อกังวลของ CPTPP ไม่ใช่สมาชิกของพีทีพีพีเท่านั้นที่เรียกร้องแต่ทุกประเทศที่ทำการค้ากับไทยก็เรียกร้องเช่น อนุสัญญา ILO มาตรา 87และ98 และอีกหลายข้อที่ทางกลุ่มภาคประชาสังคมมีข้อกังวล ทั้งการเสียประโยชน์ของเกษตรกรจากUPOV1991 การเข้าไปเจรจาก็ต้องอยู่ภายใต้ไทยได้ประโยชน์อย่าไปมองเป็นข้อจำกัดทำให้ไทยไม่เข้าไปเจรจา”

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังติดตามการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากรอบการจรจาหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกของสภาผู้แทนราษฏร หากมีความคืบหน้ากรมก็พร้อมเข้าให้ข้อมูลได้ทันที ส่วนเรื่องที่เป็นข้อกังวลต่าง คาดว่าจะสามารถใช้กลไกกรรมาธิการฯร่วมกันให้ข้อมูลก่อนหาข้อสรุปร่วมกันต่อไป 

แม้ CPTPP จะมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศทั้งด้านการค้าและการลงทุน แต่มิติอื่นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากข้อตกลงนี้ ที่มีเป้าหมายไม่เพียงการเปิดเสรีทางการค้าแต่ยังมุ่งยกระดับการค้าและการลงทุนให้มีความก้าวหน้ามากขึ้นนั้้น ย่อมส่งผลกระทบในด้านอื่นๆที่ไม่ใช่เศรษฐกิจอย่างเดียวด้วย 

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทซ์) กล่าวว่า กรณีที่กกร.จะเสนอให้ไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP ถือเป็นข้อสรุปที่ไม่มีรายละเอียด และเป็นการดำเนินการที่ง่ายเกินไป ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกกร.ได้ให้กลุ่มเอฟทีเอว็อทซ์ เข้าไปให้ข้อมูลในข้อกังวล แต่เป็นการรับฟังอย่างเดียว ไม่ได้มีการนำมา

หารือหรือจะนำไปแก้ไขปัญหาใดๆทั้งสิ้น 

“โดยข้อกังวงต่างๆ เช่น สิทธิบัตรยาที่จะทำให้การขึ้นทะเบียนยาทำได้ล่าช้า หรือไม่แต่ประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ทางส.อ.ท.ก็กังวล แต่ผลสรุปกลับออกมาให้ไทยเข้าร่วมเจรจา ซึ่งถ้าเจรจาและเข้าร่วมข้อตกลงแล้วไทยเสียหาย กกร.รับผิดชอบผลกระทบที่เกิดขึ้นไหวหรือไม่”