'พรเพชร' ชะลอทูลเกล้าฯ 'สุชาติ' นั่ง ป.ป.ช. หลังมีข้อร้องเรียนขาดคุณสมบัติ

'พรเพชร' ชะลอทูลเกล้าฯ 'สุชาติ' นั่ง ป.ป.ช. หลังมีข้อร้องเรียนขาดคุณสมบัติ

“พรเพชร” แถลง ชะลอทูลเกล้าฯ “สุชาติ” นั่ง ป.ป.ช. หลังมีข้อร้องเรียนขาดคุณสมบัติ โบ้ย กรรมการสรรหา ที่ ส.ว. หักล้างไม่ได้ อ้างถูกมัดมือชก ล็อกด้วยมาตรา 203 เห็นต่างไม่ได้

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 63 นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา แถลงชี้แจงกรณีการสรรหาและให้ความเห็นชอบ นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา และ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข เป็นผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ว่า กระบวนการสรรหาและได้มาของคณะกรรมการสรรหานั้น เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ไม่มีกรรมการสรรหารายใดมาจากวุฒิสภา และวุฒิสภาไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งหรือเลือกกรรมการสรรหาแต่อย่างใด และที่สำคัญ คือบทบัญญัติในรัฐธรมนูญ มาตรา 203 วรรคห้า ก็ระบุว่าในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัคร ผู้ได้รับการคัดเลือกหรือได้รับการสรรหา ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด

ส่วนกรณีกระบวนการให้ความเห็นชอบของวุฒิสภานั้น นายพรเพชร กล่าวว่าเมื่อคณะกรรมการสรรหาลงมติได้รายชื่อผู้สมควรเป็นกรรมการองค์กรอิสระมาให้ประธานวุฒิสภาแล้ว ในทางปฏิบัติวุฒิสภาก็จะตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และจริยธรรม แต่ในเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับการเสนอชื่อนั้น ในรัฐธรรมนูญ กำหนดว่าเป็นคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหา ดังนั้นคณะกรรมาธิการสามัญของวุฒิสภา จึงไม่ได้มีการยกเรื่องคุณสมบัตินี้ขึ้นมาเป็นประเด็นในการวินิจฉัย

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการลงมติเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว ประธานวุฒิสภาจะต้องดำเนินการตามขั้นตอน คือ ให้ผู้ได้รับความเห็นชอบลาออกจากตำแหน่งและหน้าที่ที่ขัดแย้งกับการดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ภายใน 15 วัน จากนั้นก็จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯต่อไป แต่เนื่องจากปรากฎว่า มีการร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ดังนั้นเพื่อให้กระบวนการและขั้นตอนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีความถูกต้อง จึงเห็นควรขยายเวลาการลาออกจากตำแหน่งปัจจุบันของนายสุชาติออกไปก่อน ทั้งนี้ จนกว่าจะได้ข้อยุติจากองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจวินิจฉัยในประเด็นเรื่องดังกล่าว

“กระบวนการสรรหา ไม่เกี่ยวข้องกับวุฒิสภา และเป็นครั้งแรกของรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ในมาตรา 203 วรรค5 ว่า กรณีที่มีป่าวคุณสมบัติของผู้ได้รับการสรรหา ให้เป็นอำนาจกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย และให้เป็นที่สุด ซึ่งส่งชื่อทั้ง2ให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบและยืนยันว่า ผมมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่เพียงบุรุษไปรษณีย์ ซึ่งเมื่อสังคมสงสัยและวิจารณ์ว่าเป็นความผิดของวุฒิสภา และพูดถึงว่า กสม. ลงมติไม่ตรงกับกรรมการ ป.ป.ช. สิ่งที่ผมต้องพิจารณา จากหลักฐานซึ่งยังไม่มีการแจ้งมาจากกรรมการสรรหาจึงไม่สามารถวินิจฉัยได้” นายพรเพชร กล่าว

ทั้งนี้ ประธานวุฒิสภา ยอมรับว่ารู้ว่า ผู้ได้รับการสรรหา เป็น สนช. มาก่อน แต่ปัญหาคือได้รับคำวินิจฉัยจากกรรมการสรรหาได้ แต่ที่ต้องวินิจฉัยไปเพราะไม่สามารถหักล้างกฎหมายตามมาตรา203 ได้
และไม่ใช่วุฒิสภาโหวตคนที่ไม่มีคุณสมบัติเข้ามาดำรงตำแหน่ง รับว่าเป็นการมัดมือชก ส.ว. ที่ต้องทำตามกฎหมาย เพราะถ้าทำผิดขึ้นมาก็จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ทุกคนต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย

ส่วนจะเป็นบรรทัดฐานว่าคนที่เป็น สนช. จะมาดำรงตำแหน่ง องค์กรอิสระได้หรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า มีคำวินิจฉัยไว้อยู่แล้ว ไม่สามารถให้ความเห็นหักล้างได้ว่า สนช. คือ ส.ว. หรือไม่ และเห็นว่ากรณีนี้ยังไม่ถือว่าเป็นข้อขัดแย้งตามกฏหมายที่จะต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ โดยขณะนี้จะรอคำวินิจฉัยของกสม. หากจำเป็นค่อยยื่นศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนกรณีที่กรรมการสรรหา กสม. ตัดสิทธิ อดีต สนช. 2 คนที่เข้าสู้กระบวนการสรรหานั้น นายพรเพชรกล่าวว่า ยังไม่ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการ