แคสเปอร์ฯเผย 'ปัญหาข้อมูลรั่ว’ คุกคามประชากรเน็ต 40%

แคสเปอร์ฯเผย 'ปัญหาข้อมูลรั่ว’ คุกคามประชากรเน็ต 40%

ผู้ใช้เต็มใจเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวเพื่อรับผลิตภัณฑ์หรือบริการฟรี

ผลสำรวจระบุว่า ผู้ใช้ออนไลน์เล็งเห็นถึงผลพวงเชิงลบเกี่ยวกับชีวิตดิจิทัลและแม้กระทั่งชีวิตออฟไลน์ 39% บอกว่า ถูกรบกวนด้วยสแปมและโฆษณา, 33% รู้สึกเครียด และ 24% ชื่อเสียงเสียหาย

เฉพาะในเอเชียแปซิฟิก ผู้ใช้ 19% รู้สึกไม่พอใจ สูญเสียเงิน และถูกรังแก, 16% มีประสบการณ์โดนแบล็กเมล, 15% ความสัมพันธ์ในครอบครัวร้าวฉาน, 14% เสียหายเรื่องอาชีพการงาน และ 10% ต้องจบความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักและหย่าร้าง

อาชญากรไซเบอร์มักอาศัยเหตุการณ์ความวุ่นวายเป็นช่องทาง เมื่อใดก็ตามที่มีแนวโน้มสำคัญหรือเกิดวิกฤติก็จะเข้ามาฉกฉวยโอกาส หรือใช้ประโยชน์จากอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ ซึ่งทำให้ผู้ใช้มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น การปกป้องตัวเองในช่วงเวลาวิกฤติเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริโภคต้องตระหนักรู้ ระมัดระวังเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลที่แบ่งปันทางออนไลน์ มีการศึกษาหาความรู้ว่าข้อมูลที่เปิดเผยไปแล้วนั้นจะถูกใช้ไปทางใดบ้าง

นอกจากนี้ ผู้ใช้งานควรตรวจสอบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวและปรับแต่งตามความเหมาะสม อินเทอร์เน็ตเป็นสถานที่ของโอกาส และทุกคนสามารถได้รับประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตได้ตราบเท่าที่รู้วิธีการจัดการข้อมูลและพฤติกรรมออนไลน์ของตัวเองอย่างชาญฉลาด

แนะปรับพฤติกรรมตั้งแต่พื้นฐาน

แคสเปอร์สกี้แนะว่า วิธีการเบื้องต้นที่จะช่วยปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลบนอินเทอร์เน็ต ประกอบด้วย ทำรายการบัญชีออนไลน์ เพื่อศึกษาว่าบริการและเว็บไซต์ใดบ้างที่อาจจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล

ขณะเดียวกัน หาเครื่องมือที่จะช่วยตรวจสอบความปลอดภัยความเป็นส่วนตัว(Privacy Checker) ซึ่งสามารถทำให้การตั้งค่าโปรไฟล์โซเชียลมีเดียมีความเป็นส่วนตัวมากที่สุด บุคคลที่สามค้นหาข้อมูลส่วนบุคคลระดับสูงได้ยาก

นอกจากนี้ ให้ความสำคัญกับการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยที่ทำงานเชิงรุก ซึ่งจะช่วยในการตรวจสอบคำขอที่อาจเป็นอันตรายหรือน่าสงสัย สกัดการเข้าถึงอาชญากรที่หวังเข้ามาแทรกซึม สอดส่องกิจกรรมบนเว็บไซต์ ขณะเดียวกันมีการศึกษาถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตทั่วไปประเภทต่างๆ

สำหรับองค์กรธุรกิจควรสอนพนักงานเกี่ยวกับพื้นฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ เช่น ไม่เปิดหรือจัดเก็บไฟล์จากอีเมลหรือเว็บไซต์ที่ไม่รู้จัก เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อบริษัท หรือไม่ใช้รายละเอียดส่วนบุคคลในรหัสผ่าน ไม่ควรใช้ชื่อ วันเกิด ที่อยู่ และข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ

รวมไปถึง เตือนพนักงานอย่างสม่ำเสมอถึงวิธีจัดการกับข้อมูลที่ละเอียดอ่อน เช่น จัดเก็บไว้ในบริการคลาวด์ที่ไว้ใจได้ ซึ่งต้องได้รับการรับรองความถูกต้องสำหรับการเข้าถึง และไม่ควรแบ่งปันข้อมูลกับบุคคลที่สามที่ไม่น่าเชื่อถือ