ได้ 'เงินเยียวยา' แล้วเอาไปทำอะไร บางคำตอบจากชาวบ้าน

ได้ 'เงินเยียวยา' แล้วเอาไปทำอะไร บางคำตอบจากชาวบ้าน

เหมือนรู้แต่ยังไม่เคยได้ยิน ..ได้ "เงินเยียวยา" แล้วเอาไปทำอะไร บางคำตอบจากชาวบ้าน

วันที่ 8 มิถุนายน 2563 กลุ่มแม่ค้าที่อาศัยอยู่ริมอ่างเก็บน้ำห้วยตามาย ตำบลภูเงิน อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่เคยยืดอาชีพล่องเรือลงไปในอ่างเก็บน้ำ หาปลาตามธรรมชาติที่อยู่ภายในอ่างเก็บน้ำ ขึ้นมาขายอยู่ตลาดริมทางเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า หากอยากทานปลาสดๆ อร่อยๆ จากอ่างเก็บน้ำห้วยตามาย จะต้องมาหาซื้อที่นี่

เพราะมีทั้งปลาที่นำขึ้นมาจากอ่างเก็บน้ำสดๆ และมีแบบตากแห้งไว้จำหน่ายในทุกๆ วัน แต่วันนี้แม่ค้าต้องไปหาซื้อปลามาจากที่อื่นๆ มีทั้งปลาดุก ปลาช่อน ปลาสลิด นำมาปรุงแต่งรสชาติ หมักไว้ก่อนนำมาตากแห้งแดดเดียววางตากแห้งให้ผู้บริโภคเห็นกันชัดๆ ปลาแห้งแดดเดียว ขายพอมีรายได้กันในช่วงสถานการณ์โควิด19

เมื่อถามว่าได้เงินที่ไหนไปซื้อปลาจำหน่าย ก็ได้คำตอบว่า พอดีได้เงินเยียวยาผู้ตกงาน จากรัฐบาล เดือนละ 5,000 บาท ช่วงนี้ได้ 2 เดือนติดกัน เป็น 10,000 บาท เลยรวมกันไปซื้อปลาจากแหล่งอื่นมาตากแดดจำหน่าย เพราะการหาปลาในอ่างเก็บน้ำห้วยตามาย หาไม่ได้แล้ว ไม่มีปลา มีก็ตัวเล็กมาก เพราะน้ำแห้งติดต่อกันมาหลายปี

นางรัตติยากรณ์ โทแก้ว อายุ 46 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 5 ตำบลภูเงิน อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เล่าว่า พวกตนราวๆ 7 ครอบครัวแถวนี้ ได้มีอาชีพหาปลาในอ่างเก็บน้ำห้วยตามาย ขึ้นมาจำหน่าย นับตั้งแต่สมัยพ่อแม่ ต่อมาจนถึงรุ่นพวกตน กว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งเมื่อก่อนปลาในอ่างเก็บน้ำห้วยตามาย จะตัวโต และมีเยอะมาก หาง่ายลอยเรือลงไปหว่านแหแปบเดียวก็ได้ปลามาเต็มลำเรือ แม่บ้านก็มีหน้าที่มาผ่า หมัก ตากแดดขาย และหากตัวไหนยังไม่ตายก็นำมาขังขายกันสดๆ

มีผู้บริโภคเขาผ่านมาแถวนี้ก็แวะซื้อไปทานกัน มีรายได้เลี้ยงครอบครัวมาตลอด แต่ระยะหลัง 2 – 3 ปีมานี้ น้ำในอ่างเก็บน้ำแห้งขอดติดต่อกัน ปลาก็ไม่มี มีก็ตัวเล็กๆ หาปลาก็ยาก ก็ต้องลงทุนไปซื้อปลามาจากที่จังหวัดอื่นๆ มาหมักตากแดดขาย ดีที่รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยามาให้ จึงได้เงินไปซื้อปลามาตากแดดจำหน่ายกัน ในช่วงสถานการณ์โควิด19 นี้ แม้จะมีรายได้น้อยกว่าเมื่อก่อน แต่ก็พอที่จะอยู่ได้