ประเด็นที่อาจถูกมองข้าม ในการสืบทอด 'ธุรกิจครอบครัว'

ประเด็นที่อาจถูกมองข้าม ในการสืบทอด 'ธุรกิจครอบครัว'

แม้ว่าการเข้าร่วมธุรกิจกับบุคคลอื่นอาจจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับธุรกิจทั่วไปเมื่อต้องการสร้างยอดขายเพิ่ม หรือขยายขอบเขตทางการตลาดออกไปได้อย่างรวดเร็ว แต่สำหรับธุรกิจครอบครัวแล้ว เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องต้องห้าม หรือเรื่องที่ไม่เคยคิดถึงเลยก็ได้

เรื่องหนึ่งที่ยังมีการศึกษา ติดตาม และทำการวิจัย ในสาขาบริหารธุรกิจอยู่ตลอดเวลา เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องของการสืบทอดกิจการธุรกิจครอบครัวไปสู่ทายาทรุ่นต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ

เนื้อหาของบทความในสัปดาห์นี้ เป็นการสรุปผลงานวิจัยเกี่ยวกับการสืบทอดธุรกิจครอบครัว ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัย แบ๊บสัน (Babson College) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจที่มักจะถูกมองข้ามไปโดยเจ้าของธุรกิจครอบครัวรุ่นปัจจุบัน จนเป็นเหตุทำให้เกิดการสะดุดของธุรกิจครอบครัว จนอาจถึงกับต้องยุติธุรกิจที่ได้รับการสืบสานมาจากรุ่นบรรพบุรุษไปเลยทีเดียว

ประเด็นที่ว่านี้ เป็นเรื่องของการยอมลดระดับของความเป็นเจ้าของกิจการครอบครัวลงไป เพื่อยืดอายุให้กับกิจการและสามารถส่งต่อกิจการไปให้ทายาทรุ่นต่อไปได้

การลดระดับความเป็นเจ้าของกิจการของครอบครัวแต่ผู้เดียว โดยยอมแบ่งส่วนความเป็นเจ้าของให้กับผู้อื่นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในครอบครัว อาจทำได้ด้วยวิธีต่างๆ เช่น การทำกิจการร่วมค้า (Joint Venture หรือ JV) หรือการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจ (Business Alliance) เป็นต้น

แม้ว่าเรื่องของการเข้าร่วมธุรกิจกับบุคคลอื่นอาจจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับธุรกิจทั่วไปเมื่อต้องการสร้างยอดขายเพิ่ม หรือต้องการขยายขอบเขตทางการตลาดออกไปได้อย่างรวดเร็ว แต่สำหรับธุรกิจครอบครัวแล้ว เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องต้องห้าม หรือเรื่องที่ไม่เคยคิดถึงเลยก็ได้ เนื่องจากมีเรื่องของ “ความเป็นครอบครัว” ที่ค่อนข้างจะซับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยโดยตรง

สำหรับธุรกิจครอบครัวแล้ว เรื่องของการสูญเสียความเป็นเจ้าของ และการสูญเสียอำนาจในการควบคุมกิจการ เป็นเรื่องที่ธุรกิจครอบครัวโดยทั่วไป มีความหวงแหนมากเป็นอย่างยิ่ง

แต่ภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบากในการนำพาธุรกิจของครอบครัวให้อยู่รอดต่อไปได้ ผู้บริหารในรุ่นปัจจุบันที่มีสายตายาวไกล อาจนำกลยุทธ์เรื่องการร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจ หรือการเข้าร่วมก่อตั้งธุรกิจร่วมค้า ก้บบริษัทอื่น อาจเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการรักษาสถานภาพทางธุรกิจของธุรกิจไว้ได้ต่อไปอีกหลายชั่วอายุคน

กรณีศึกษาจากผลงานวิจัยตัวอย่างหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า การเริ่มต้นจากการทำสัญญาร่วมมือพัฒนาด้านเทคนิคกับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีฐานธุรกิจที่แข็งแรงในระดับโลก ทำให้ธุรกิจครอบครัวแห่งหนึ่งในประเทศโคลอมเบียสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ ความเชื่อถือไว้ใจได้ และแววแห่งความสามารถด้านธุรกิจ ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่เห็นได้ จนนำไปสู่การร่วมก่อตั้งธุรกิจสาขาขึ้นในประเทศโคลอมเบีย โดยมีผู้บริหารสูงสุดเป็นสมาชิกในครอบครัว และครอบครัวมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของ 51% ส่วนธุรกิจเดิมของครอบครัวก็ยังดำเนินต่อไปได้โดยดำรงความเป็นเจ้าของ 100% เหมือนเดิม

ส่วนบริษัทยักษ์ใหญ่ ก็ได้รับผลตอบแทนเป็นการได้เข้าถึงธุรกิจในตลาดโคลอมเบียและละตินอเมริกาได้อย่างง่ายดาย ซึ่งเดิมไม่เคยมองตลาดนี้เนื่องจากต้องใช้การลงทุนสูง

ตัวอย่างที่ 2 เป็นธุรกิจครอบครัวในสหรัฐอเมริกาที่ผู้ก่อตั้งเริ่มแยกตัวออกมาทำธุรกิจเองหลังจากการทำงานในระดับบริหารกับบริษัทใหญ่ที่มีชื่อเสียงในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพแห่งหนึ่งมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ด้วยความต้องการที่จะมีธุรกิจเป็นของตนเองและครอบครัวและเห็นโอกาสเกิดขึ้นจากการการออกกฏหมายประกันสุขภาพฉบับปรับปรุงใหม่ของสหรัฐในปี 1966 จึงลาออกมาเปิดสถานบริการด้านสุขภาพเล็ก ๆ แห่งหนึ่งขึ้นมาเป็นธุรกิจของตัวเอง

ต่อมาจากพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับสมาชิกร่วมโบส์ถแห่งเดียวกันคนหนึ่ง ทำให้ทราบข่าวเรื่องการรักษามะเร็งแบบใหม่ด้วยการใช้รังสีโปรตอนแทนรังสีเอ็กซเรย์แบบเดิม ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดอันตรายหากรังสีเอ็กซเรย์ที่ฉายให้กับคนไข้เกิดการทะลุทะลวงไปยังเซลที่ดีอยู่และทำลายเซลที่ดีเหล่านั้นไป ส่วนรังสีโปรตอนจะมีข้อดีที่สามารถฆ่าเซลมะเร็งได้แต่อำนาจทะทะลวงจะต่ำกว่ามาก และทราบต่อไปว่า โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในท้องถิ่น ได้ถอนตัวออกจากการเข้าร่วมโครงการทดสอบการบำบัดด้วยรังสีโปรตอนนี้

เจ้าของบริษัทครอบครัวนี้ จึงตัดสินใจทุ่มเงินจำนวนหนึ่งเพื่อศึกษาและจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อเสนอตัวเข้าร่วมโครงการแทนโรงพยาบาลที่ถอนตัวไป จนในที่สุดได้รับการอนุมัติ และต่อมาธุรกิจที่ร่วมทุนกับบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีรังสีโปรตอนก็ขยายตัว กลายเป็นศูนย์รังสีบำบัดที่ใหญ่ที่สุดในเขตพื้นที่นั้น และบริหารโดยทายาทรุ่นใหม่ของธุรกิจครอบครัวเดิม ส่วนผู้ก่อตั้งหลังจากถ่ายโอนอำนาจให้ลูกชายแล้ว ก็กลับมาพัฒนาธุรกิจบริการสุขภาพดั้งเดิมของครอบครัวให้มีความทันสมัยมากขึ้น

การยอมสูญเสียอำนาจและความเป็นเจ้าของส่วนใหญ่ของธุรกิจครอบครัวไปบางส่วน อาจทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ที่อยู่ร่วมในเครือของธุรกิจครอบครัวเดิมขึ้นมา โดยการจัดสรรปันส่วนการลงทุน เพื่อให้โดยรวมแล้ว ครอบครัวยังสามารถกุมความเป็นเจ้าของและอำนาจบริหารส่วนใหญ่ไว้ได้อย่างยืนยาวถึงชั่วลูกชั่วหลาน

และการตัดสินใจเข้าคว้าโอกาสที่เปิดให้ ด้วยจังหวะเวลา และวิสัยทัศน์ระยะยาวที่ต้องการกำหนดทิศทางอนาคตให้กับความยั่งยืนของธุรกิจของครอบครัว