'ข้าวอินทรีย์' ดีต่อสุขภาพ แต่คนไทยกลับไม่ได้กิน

'ข้าวอินทรีย์' ดีต่อสุขภาพ แต่คนไทยกลับไม่ได้กิน

ไขข้อข้องใจ ทำไม "ข้าวอินทรีย์" ที่ปลูกในไทย โดยชาวนาไทย แต่ทำไม "คนไทย" ถึงไม่ได้กินข้าวคุณภาพดีเหล่านี้

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมไปพูดคุยกับชาวนาข้าวอินทรีย์ที่นครปฐมและสุพรรณบุรี ภายใต้โครงการ “ระบบตรวจสอบย้อนกลับด้วย Blockchain” ของสำนักงานนโยบายเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือ สนค. โครงการนี้เป็นความมุ่งหวังของกระทรงพาณิชย์ ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าไทย และเพิ่มประสิทธิภาพภายในห่วงโซ่อุปทาน

ความจริงที่น่าตกใจคือ หนึ่ง ข้าวอินทรีย์ไทยแทบทั้งหมดถูกส่งออก มีขายแม้กระทั่งในเว็บไซต์ Amazon.com ด้วย สอง เรามีสายพันธุ์ข้าวที่หลากหลายมาก นอกจากข้าวหอมมะลิที่เรารับประทานที่สีจนเป็นข้าวขาว หรือไรซ์เบอรรี่แล้ว เรายังมีข้าวหอมปทุม หอมนิลสุรินทร์ หอมมะลิแดง หอมดำบึงกาฬ และอื่นๆ ที่คนไทยไม่ได้ทาน

ผมจึงมองเป้าหมายว่านอกจากสร้างมูลค่าเพิ่มแล้ว เราน่าจะสร้างโอกาสให้คนไทยได้บริโภคข้าวอินทรีย์กันด้วย

Pain Point 3 ข้อในเรื่องนี้ เท่าที่ผมพอสรุปได้คือ

หนึ่ง ข้าวอินทรีย์ไทยมีราคาแพง ในขณะที่เราซื้อข้าวขาวหอมมะลิบรรจุถุง 5 กิโลกรัมในห้าง คิดโดยเฉลี่ยจะตกกิโลกรัมละ 60 บาท ข้าวอินทรีย์ซึ่งมักบรรจุในรูปถุงสุญญากาศ 1 กิโลกรัม จะตกอยู่กิโลกรัมละ 100-130 บาท แพงกว่าเท่าตัว

สอง แม้จะมีผู้ยินดีจ่ายเงินเพิ่ม แต่ก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ตนยอมจ่ายเพิ่มนั้นเป็นข้าวที่ปลอดสารเคมีจริงหรือไม่ แม้จะดูที่ฉลากมีติดสัญลักษณ์ข้อความต่าง ๆ ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ นอกจากนั้นพอผมเข้าไปศึกษาแล้วยังพบคำว่า ข้าวปลอดภัย ข้าว Organic หรือข้าวอินทรีย์ ล้วนมีความหมายที่แตกต่างกันด้วย

สาม จากสาเหตุที่ราคาแพง ขายลำบากก็เป็นเหตุให้ข้าวอินทรีย์เหล่านี้ไม่มีขายในห้างทั่วไป ผู้บริโภคที่เป็นแฟนพันธ์แท้เท่านั้นถึงจะไปหาซื้อในร้านเฉพาะเช่น Lemon Farm หรือสั่งทางอินเทอร์เน็ต

ผมมองว่าปัญหาทั้งหมดนี้สัมพันธ์กัน และการสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับด้วย Blockchain อาจทำให้เราแก้ปัญหาบางส่วนเหล่านี้ไปได้ โดยผมสรุปข้อดีของระบบ

หนึ่ง ปัจจุบันการตรวจสอบข้าวอินทรีย์เป็นรูปแบบการรับรองด้วย Certifying Body หรือ CB ดังนั้นใครที่เกี่ยวข้องกับข้าวอินทรีย์ 100% จะจ้าง CB มาตรวจสอบ ซึ่ง CB จะมีระบบควบคุมปริมาณ เริ่มจากประมาณการแปลงเพาะปลูกว่าจะได้ผลผลิตรวมเท่าไร จากนั้นเมื่อมีการส่งต่อเช่น สี บรรจุ ส่งออก นำเข้า ไปถึงขายปลีก จะมีเอกสารคุมปริมาณตลอดไม่เกินไปกว่าที่ประมาณการผลิตรวมข้างต้น

แม้ระบบปัจจุบันจะมีความรัดกุมแล้ว แต่ไม่มีการสื่อสารกับผู้บริโภค ดังนั้นระบบตรวจสอบย้อนกลับของ สนค. ในโครงการนี้จะบันทึกข้อมูลตามห่วงโซ่อุปทานใน Blockchain เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการแก้ไขข้อมูลได้ และสร้าง QR Code ที่ผู้บริโภคหรือคู่ค้าในระบบสามารถตรวจสอบได้ ทำให้มั่นใจได้ว่าข้าวอินทรีย์ที่ตนบริโภคนั้นปลอดสารเคมี 100%

สอง ปัญหาข้าวอินทรีย์มีราคาสูง อันนี้เรื่องจริงเพราะข้าวอินทรีย์มีต้นทุนสูงกว่า ใครบอกว่าข้าวอินทรีย์ถูกเพราะไม่ต้องซื้อปุ๋ยอย่าไปเชื่อ ผมลงไปดูแปลงนาแล้วพบว่าผลผลิตข้าวอินทรีย์จะต่ำกว่าข้าวที่ใส่ยาฆ่าหญ้าเท่าตัวครับ ชาวนาอินทรีย์ต้องปล่อยให้หญ้าขึ้นบ้าง ส่วนปุ๋ยนั้นก็ยังต้องใช้ปุ๋ยหมักที่ไม่ใส่สารเคมีอยู่ นอกจากนั้นห้ามเผาไร่ ทำให้ต้นทุนของข้าวอินทรีย์นั้นสูงกว่าข้าวแบบเดิมเท่าตัวอยู่แล้ว ถ้าจะให้ชาวนาข้าวอินทรีย์ลืมตาอ้าปากได้ ผมว่าราคาข้าวอินทรีย์ควรอยู่ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งผมพบว่านี่เป็นราคาขายส่งโดยเฉลี่ยอยู่

ในส่วนของชาวนาอินทรีย์ที่จ้างผู้อื่นปลูก อาจมีต้นทุนสูงกว่านี้บ้าง ถ้าเราให้ผู้บริโภคซื้อโดยตรงจากชาวนาในราคาส่งได้ เขาก็จะได้ในราคาเท่ากับราคาขายปลีกข้าวในปัจจุบัน ดังนั้นการสนับสนุนชาวนาให้ทำ E-Commerce ผ่าน Facebook น่าจะเป็นคำตอบ แต่อาจเกิดปัญหาการหลอกลวง รับเงินก่อนแล้วไม่ส่งข้าว หรือส่งข้าวไม่ใช่อินทรีย์แท้มา ก็จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้โดยการให้ผู้บริโภคตรวจสอบย้อนกลับผ่านระบบ ซึ่งจะมีการตรวจสอบตัวตนชาวนาและคุมปริมาณรวมอยู่

ด้วยเครื่องมือนี้ ผมหวังว่าชาวนาอินทรีย์จะได้ขายข้าวในราคาเหมาะสม และพวกเราคนไทยทานข้าวดี สุขภาพดีถ้วนหน้าครับ ท่านที่สนใจอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติม http://www.facebook.com/tracethai