กกร.ถกท่าที 'CPTPP' ก่อนชงรัฐบาลตัดสินใจ

กกร.ถกท่าที 'CPTPP' ก่อนชงรัฐบาลตัดสินใจ

กกร.เตรียมถกท่าทีต่อข้อตกลง CPTPP หลังคณะทำงานรวบรวมผลศึกษาแล้วเสร็จ ชี้ได้ข้อสรุปสนับสนุนหรือไม่ ต่อการร่วมวงเจรจา ก่อนเสนอภาครัฐกำหนดท่าที เหตุนักลงทุนต่างชาติจี้ถามแต่ไทยยังไร้คำตอบ

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะทำงาน CPTPP ภายใต้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ได้รวบรวมผลการศึกษาผลกระทบต่อการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เรียบร้อยแล้วและจะเสนอให้กกร.ประกาศจุดยืนว่าจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนให้รัฐบาลไทยเข้าร่วมเจรจาในสัปดาห์นี้ เบื้องต้นตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมยังกังวลใน 4 ประเด็นใหญ่ที่ต้องการให้ผู้เกี่ยวข้องสร้างความชัดเจนและชี้แจงให้ทุกฝ่ายได้รับทราบข้อเท็จจริง

ทั้งนี้ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐแสดงจุดยืนที่ชัดเจนและรวดเร็วว่าจะเข้าร่วมเจรจาหรือไม่เข้าร่วม เพราะที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างชาติทั้งที่มาลงทุนในไทยอยู่แล้วและสนใจที่จะเข้าลงทุนในไทยได้สอบถามว่ารัฐบาลไทยมีจุดยืนต่อซีพีทีพีพีอย่างไร เพื่อที่จะใช้ประกอบในการพิจารณาเข้ามาลงทุนหรือขยายลงทุน ซึ่งตอนนี้ทางหอการค้าไทยคงไม่สามารถให้คำตอบนักลงทุนต่างชาติได้

สำหรับ 4 ประเด็นที่ยังมีความกังวล ประกอบด้วยการเปิดเสรีสินค้าภายใต้ข้อตกลงซีพีทีพีพีประเทศสมาชิกต้องยกเลิกภาษี 99% ของรายการสินค้าทั้งหมดซึ่งมีทั้งกลุ่มผู้ผลิตทั้งที่พร้อมที่จะแข่งขันและยังไม่มีศักยภาพการแข่งขัน โดยกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการส่งออก เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ยานยนต์ และเครื่องหนังและรองเท้า เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่อาจจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า กาแฟและชา และส่วนประกอบรถยนต์ เป็นต้น รวมถึงกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าที่มีเงื่อนไขวัตถุดิบหรือสินค้าของประเทศสมาชิก CPTPP สามารถนำวัตถุดิบจากนอกสมาชิกเพื่อได้รับสิทธิทางภาษีได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าหรือวัตถุดิบจากประเทศสมาชิกเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีประเด็นของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งเงื่อนไขภายใต้ CPTPP ห้ามมีการให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ประกอบการไทยเหนือประเทศอื่น,ประเด็นของแรงงานภายใต้ CPTPP ที่ให้สิทธิแรงงานต่างด้าวจัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งผู้ประกอบการมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่กฎหมายไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่รองรับประเด็นเหล่านี้ และประเด็นสุดท้ายคือเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา ในเรื่องของสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) และผลประโยชน์ของเกษตรกรจากยูพอฟ 1991 และการพัฒนาพันธุ์พืชของไทย

“ที่ผ่านมาคณะทำงานได้มีการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติมากที่สุด โดยคำนึงถึงผลได้ผลเสียและความพร้อมในการแข่งขันของภาคการผลิตไทยทั้งด้านการค้าสินค้า การลงทุน และประเด็นอื่นๆด้วย "

โดย หน่วยงานต่างๆที่เข้ามาร่วมให้ข้อมูลด้วยทั้งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ,กรมทรัพย์สินทางปัญญา, กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, กรมศุลกากร, กรมบัญชีกลาง, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, กรมวิชาการเกษตร เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2563ที่ผ่านมา ได้มีความเห็นร่วมกันว่าควรจะเสนอเรื่อง CPTPP ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา โดยให้ ตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อการศึกษาผลบวกและลบ ที่ไทยจะเข้าร่วมกรอบความร่วมมือนี้

ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม.มอบหมายให้ นายพุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ประสานสภาเพื่อจัดตั้งคณะกรรรมการวิสามัญฯขึ้นมา แล้วหาข้อสรุปร่วมกัน