'สมศักดิ์' สั่งเร่งเพิ่มประสิทธิภาพ ผุดไอเดียสร้างนิคมอุตสาหกรรม 'ราชทัณฑ์'

'สมศักดิ์' สั่งเร่งเพิ่มประสิทธิภาพ  ผุดไอเดียสร้างนิคมอุตสาหกรรม 'ราชทัณฑ์'

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นั่งเก้าอี้ประธานในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย เตรียมดำเนินงานตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ตนได้เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ครั้งที่ 1/2563 โดยมีนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พร้อมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนภาคเอกชนเข้าร่วมประชุม โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาผลสำเร็จของวาระแห่งชาติด้านสิทธิมนุษยชน (พ.ศ. 2561-2562) การดำเนินงานตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ความก้าวหน้าในการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการ ระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2565) ความก้าวหน้าของ ร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 แนวทางการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชน ปี 2563 และเห็นชอบในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชนและขับเคลื่อน แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน คณะอนุกรรมการติดตาม พิจารณา และคัดเลือกองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน คณะอนุกรรมการประสานการดำเนินงานตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน

โดยผู้แทนจากกระทรวงแรงงานได้รายงานถึงความสำเร็จในการดูแลแรงงานในการประมงผิดกฎหมาย จนได้รับประกาศปลดจากใบเหลืองเรื่องการทำประมงผิดกฎหมายหรือ IUU Fishing

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้ชื่นชมการดำเนินงานของกระทรวงยุติธรรม โดยเฉพาะการผลักดันให้รัฐบาลประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ การประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เป็นประเทศแรกในเอเชีย และการส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้กับเด็ก เยาวชน และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย โดยที่ประชุมเสนอให้กระทรวงยุติธรรมบูรณาการ การดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับผู้ต้องขัง ทั้งช่วงระหว่างที่ถูกควบคุมตัวและหลังจากพ้นโทษแล้ว บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ในการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน และสร้างการรับรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้กับทุกภาคส่วน เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พันธกรณีระหว่างประเทศ และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

"ผมได้เสนอให้คณะกรรมการพิจารณาถึงการนำแผนไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างแท้จริง อาทิ กรณีศึกษาเรื่อง เด็กนักเรียน 2 คน ที่โดนข่มขืนกระทำชำเราโดยครู 5 คนและรุ่นพี่ ที่ จ.มุกดาหาร เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมีหน่วยงานต่างๆ ลงพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือเด็ก จนทำให้เกิดการทำงานที่ซับซ้อนและสับสน เป็นการทำงานที่อาจจะไม่ได้ผลสัมฤทธิ์และขาดประสิทธิภาพ"นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า กระทรวงยุติธรรมกำลังคิดสร้างนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ แนวคิด คือ เมื่อมีผู้พ้นโทษแล้วแต่ไม่มีผู้กล้ารับผู้พ้นโทษเข้าทำงาน กระทรวงยุติธรรมได้ขอให้กระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงเรื่องลดหย่อนภาษีให้ บริษัท ห้างร้าน ที่รับผู้พ้นโทษเข้าทำงาน โดยลดหย่อน 2 เท่า ซึ่งกระทรวงการคลังคลัง ให้การสนับสนุน 2 ปี ลดหย่อน 2 เท่า ออกมาแล้วตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมาเพื่อเป็นการแก้ปัญหา โดยก่อนพ้นโทษนักโทษต้องมีอาชีพ มีทักษะ มีสกิล และเนื่องจากตอนนี้เมื่อพ้นโทษออกมาต้องกักตัว เพราะโควิด 14 วัน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว กระทรวงไหนมีที่ดินเยอะๆ ขอให้สนับสนุนกระทรวงยุติธรรมในการสร้างนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าวได้ และถ้าจะให้เข้าไปอยู่ในแผนสิทธิมนุษยชนด้วย

"ผมได้คุยกับปลัดเราไม่ตั้งใจที่จะสร้างคุกเพิ่ม ถ้าเราจะสร้างจะเป็นลักษณะเรือนจำเบา เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพไปในตัวและมีค่าก่อสร้างถูก สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เราพยายามดูข้อกฎหมายที่ยังไม่สมดุลกับจำนวนผู้ต้องขัง และงานในประเทศตอนนี้แรงงานในประเทศขาด เนื่องจากแรงงานที่ไปทำงานในต่างประเทศกันเยอะ และตอนนี้สิทธิมนุษยชนผู้ต้องขังควรจะมีที่นอนกว้างยาวเท่าไหร่ ที่ตั้งไว้ตอนนี้ 1.2 ตรม. ต่อคน ก็เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์"นายสมศักดิ์ กล่าว