‘โซเชียลมีเดีย’ กลไกประสานม็อบ

‘โซเชียลมีเดีย’ กลไกประสานม็อบ

โซเชียลมีเดียทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล เปรียบเสมือนช่องทางแห่งการปฏิวัติ เมื่อคนหนุ่มสาว อาศัยโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือ จัดการคนกลุ่มใหญ่ให้เคลื่อนไปอย่างเป็นระบบ

จากกรณีการเสียชีวิตของ "จอร์จ ฟลอยด์" ชายผิวดำที่ถูกตำรวจเมืองมินนิแอโพลิส รัฐมินนิโซตาใช้เข่ากดคอจนเสียชีวิต ที่กลายเป็นชนวนสำคัญให้เกิดการประท้วงเรียกร้องความเท่าเทียมครั้งใหญ่อีกครั้งในสหรัฐ โดยครั้งนี้ ที่เปลี่ยนไปชัดเจน คือ ทุกวันนี้การประท้วงทั่วโลกมักประสานงานโดยคนหนุ่มสาว อาศัยโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือ จัดการคนกลุ่มใหญ่ให้เคลื่อนไปอย่างเป็นระบบ 

อาทิ จัดหาความช่วยเหลือรวมทั้งเสบียงกรังเพื่อให้ผู้ประท้วงเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีพลัง ภาพแบบนี้โลกเคยเห็นมาแล้วจากการประท้วงในฮ่องกง วันนี้กระแสกำลังแรงอยู่ที่สหรัฐ 

สัปดาห์นี้ ไดแนนดา ปราเมสตี พนักงานสื่อสาร วัย 26 ปี คอยตรวจดูคำขอเสบียงจากกลุ่มในโซเชียลมีเดีย จากนั้นนำถุงอาหารและเสบียงไปหย่อนให้กับผู้ประท้วงในวอชิงตัน

นี่เป็นแค่ตัวอย่างเล็กๆ เพียงตัวอย่างเดียว บอกให้ทราบว่าการประท้วงทั่วสหรัฐดำเนินไปได้อย่างไร ม็อบเหล่านี้ส่วนใหญ่จัดและประสานงานกันทางออนไลน์โดยคนหนุ่มสาว

สำหรับปราเมสตี เธอพบกลุ่มนักเคลื่อนไหวหนุ่มสาวนาม “นักรบเสรีภาพดีซี” ผู้ปฏิบัติการรอบกรุงวอชิงตันดีซีทางทวิตเตอร์ ต่างฝ่ายต่างระบายความรู้สึกที่มีต่อมรณกรรมของ "จอร์จ ฟลอยด์" ชายผิวดำที่ถูกตำรวจเมืองมินนิแอโพลิส รัฐมินนิโซตาใช้เข่ากดคอจนเสียชีวิต

159146512088

ความตายของเขาก่อให้เกิดกระแสประท้วงทั่วประเทศต้านการกระทำโหดเหี้ยมของตำรวจ มวลชนรวมตัวกันในกว่า 140 เมือง ไม่เว้นแม้แต่บริเวณนอกทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน

“พวกเขาบอกว่าต้องการเสบียงไปช่วยผู้ประท้วงบนถนน” ปราเมสตีเล่าถึงการส่งอาหารและน้ำให้ม็อบเคลื่อนที่เร็ว

ทุกวัน “นักรบเสรีภาพดีซี” เจ้าของคำขวัญ “ไม่มีความยุติธรรม ไม่มีสันติสุข” ส่งข้อความเข้ารหัสกับกลุ่ม “Black Lives Matter” กลุ่มอื่นๆ เพื่อประสานแผน ก่อนส่งต่อให้ผู้สนับสนุนทันที

โฆษกกลุ่มเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า โซเชียลมีเดียทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลเปรียบเสมือนช่องทางแห่งการปฏิวัติ

เพียง 1 สัปดาห์ “นักรบเสรีภาพดีซี” กล่าวว่า กลุ่มมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นถึง 2 หมื่นคน ระดมทุนช่วยผู้ประท้วงถูกจับได้หลายหมื่นดอลลาร์

แต่ละวันมีผู้ส่งข้อความมาหลายร้อยข้อความ ทั้งจากผู้สนับสนุนที่เสนอตัวให้ความช่วยเหลือทุกชนิด ทั้งคำร้องขอต่างๆ นานา ตั้งแต่ของกินของใช้และขนมขบเคี้ยว ไปจนถึงสนับเข่าและหน้ากากป้องกันแก๊ส

นักรบเสรีภาพดีซีปฏิบัติการชัดเจนในยามค่ำบริเวณใกล้ทำเนียบขาว จุดที่ผู้ประท้วงหลายพันคนท้าทายมาตรการเคอร์ฟิวออกไปประท้วงต้านการใช้ความรุนแรงของตำรวจ ต้านการเหยียดผิว และต้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

อาสาสมัครต้องฝ่าฝูงชนเข้าไปทำหน้าที่ตั้งแต่นำซีเรียลแท่ง ขวดน้ำและนมไปให้ ไปจนถึงช่วยเช็ดแก๊สน้ำตาที่ตำรวจยิงเข้าใส่

กิจกรรมออนไลน์เป็นหัวใจสำคัญของการประท้วง ที่บ่อยครั้งมีของแถมเป็นการปล้มสะดมและทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ชวนให้คิดถึงการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิพลเมืองช่วงทศวรรษ 60

สมัยนี้โซเชียลเน็ตเวิร์กมีบทบาทสำคัญต่อการประท้วงมาตั้งแต่แรก เริ่มตั้งแต่คลิปถ่ายจากโทรศัพท์มือถือช่วงเวลาสิ้นลมของฟลอยด์เมื่อปลายเดือน พ.ค. ถูกเผยแพร่ว่อนเน็ต โหมกระพือความโกรธเกรี้ยวที่ตำรวจใช้กำลังรุนแรงกับคนผิวดำ

ในนิวยอร์ก มีผู้ใช้อินสตาแกรมชื่อ @justiceforgeorgenyc เพียงเวลาไม่นานก็มีผู้ติดตามอย่างรวดเร็วถึง 8.5 หมื่นคน ประกาศข่าวการประท้วงทุกรูปแบบตลอดทั้งวัน โดยระบุเวลา สถานที่นัดชุมนุม แถมยังให้ข้อมูลพยากรณ์อากาศด้วย คนที่มาร่วมประท้วงไม่ได้ก็ขอให้ร่วมตะโกนจากหน้าต่างบ้านตนเอง

ส่วนบัญชีที่ใช้นามว่า @whatswrongwithmollymargaret คอยป้อนข้อมูลต่างๆ ในเมืองมินนิแอโพลิส ที่ฟลอยด์เสียชีวิตและเป็นจุดเริ่มการประท้วง

ในลอสแองเจลิส ชาวเน็ตหลายคนเสนอความช่วยเหลือทางกฎหมายให้กับใครก็ตามที่ไปประท้วงแล้วถูกตำรวจจับกุมหรือได้รับบาดเจ็บ

นักการเมือง นักกีฬาและคนดัง ตั้งแต่ บียอนเซ ไปจนถึง เลอบรอน เจมส์ และสนูป ด็อกก์ ก็ใช้โซเชียลมีเดียของตนที่มีผู้ติดตามจำนวนมากเป็นเวทีสนับสนุนการประท้วง ช่วยระดมทุน และส่งข้อมูลการประท้วงต่อสาธารณะ

อเล็กซานเดรีย โอคาซีโอ-คอร์เทซ ส.ส.สาวจากพรรคเดโมแครต ใช้อินสตาแกรมแนะนำวิธีแต่งกายและปกป้องตัวเองระหว่างไปประท้วงว่าให้รวบผม ไม่ใส่คอนแทคเลนส์และอัญมณี และนำขนมติดตัวไปด้วย โพสต์นี้มีคนกดไลค์มากกว่า 5.5 แสนครั้ง

ผู้ใช้หลายคนยังใช้โซเชียลมีเดียแชร์คลิปตำรวจจัดการการประท้วงอย่างรุนแรง ยิ่งสุมไฟความโกรธเกรี้ยวของประชาชนให้มากยิ่งขึ้น