จับสัญญาณ 'เรือแป๊ะ' เดิมพัน 'เลือกตั้งท้องถิ่น'

จับสัญญาณ 'เรือแป๊ะ' เดิมพัน 'เลือกตั้งท้องถิ่น'

ยังเป็นโหมดการเมือง ที่หลายฝ่ายกำลังเฝ้ารอว่า สุดท้ายแล้วรัฐบาลจะเปิดทางให้มีการ “เลือกตั้งท้องถิ่น” เมื่อใด ในเมื่อกำลังจะครบช่วงเวลาการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครบ 1 ปีเต็ม

ถึงแม้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า หลังจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน กระทรวงมหาดไทยจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้มีการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น 7,852 แห่ง ใน 97,940 ตำแหน่งทั่วประเทศ 

ตั้งแต่การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) 76 แห่ง เทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 189 แห่ง เทศบาลตำบล 2,242 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) 5,313 แห่ง เมืองพัทยา 1 แห่ง และกรุงเทพมหานคร(กทม.) 1 แห่ง 

ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วเป็น “ฐานทางการเมือง” ที่มีเดิมพันสูงไม่แพ้การเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562

ก่อนหน้านี้ ไม่ใช่แค่นักการเมืองท้องถิ่น เรียกร้องให้รัฐบาล “เร่งปลดล็อก” ให้จัดเลือกตั้งโดยเร็ว แต่เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2563 คณะกรรมาธิการ(กมธ.)การกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร ได้เรียกร้องให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เข้าชี้แจงความคืบหน้ากรณีการจัดการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นทั้งหมด

 

ในวงประชุมครั้งนั้น พล.อ.อนุพงษ์ ถูกรุมบี้ถามจาก กมธ.หลายคนว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นจะจัดขึ้นเมื่อใด โดยเฉพาะท้องถิ่น “ระดับใดจะถูกเลือกตั้งเป็นแห่งแรก แต่แล้ว พล.อ.อนุพงษ์ อธิบาย 2 ขั้นตอนสำคัญ ในอำนาจจากหน่วยงาน 

1.กรมการปกครอง ประกาศจำนวนราษฎรทั้งประเทศ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2563 ขณะนี้จำนวนประชากร อัพเดทอยู่ที่ฐานข้อมูล กกต. 

2.ได้ควบรวมหมู่บ้านที่ประชากรไม่ถึง 25 คนใน 44 จังหวัดเรียบร้อยแล้ว

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ตัวเลข งบประมาณจัดเลือกตั้งจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) 

จากการตรวจสอบข้อมูลของ กมธ.ท้องถิ่นชุดนี้ พบว่ามีเพียงท้องถิ่น 2 แห่งพร้อมจัดการเลือกตั้งแล้ว ดังนี้

กรุงเทพมหานคร งบฯ เลือกตั้ง 240 ล้านบาท และ  เมืองพัทยา งบเลือกตั้ง 1.2 ล้านบาท 

ส่วน อบจ.76 แห่งไม่พร้อม 2 แห่ง แต่ 74 แห่งพร้อมทั้งหมด โดยเทศบาลนคร-เทศบาลเมือง-เทศบาลตำบล 2,399 แห่ง มีความพร้อม ส่วนน้อยนิดที่ไม่พร้อม 51 แห่ง แบ่งเป็นเทศบาลเมือง 2 และเทศบาลตำบล 49 แห่ง และ อบต. 5,324 แห่ง มีความพร้อม 5,227 แห่ง ไม่พร้อม 97 แห่ง

เงื่อนไขการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น ที่หลายฝ่ายโยนกันไปมาว่า จะให้อำนาจที่ใคร แต่ใน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย.2562 ในมาตรา 14 วรรค 2 ระบุไว้ชัดเจนว่า 

ในกรณีที่ อปท.ใด มีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ตามความจำเป็น ดังนั้นหากท้องถิ่นแห่งไหน ขาดงบประมาณจัดการเลือกตั้ง จึงอยู่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จะขออนุมัติจาก ครม.เพื่อให้การจัดเลือกตั้งท้องถิ่นเดินหน้า ตามกฎหมายระบุไว้

ดังนั้นหัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ เมื่อกระทรวงมหาดไทยส่งสัญญาณความพร้อม ก็ต้องเสนอไปยัง ครม.พิจารณา เพื่อกำหนด คิวการเลือกตั้งท้องถิ่นแต่ละระดับ จากนั้นก็เป็นอำนาจ กกต.ที่จะกำหนดวัน-เวลา เลือกตั้งในแต่ละพื้นที่

ระหว่างนั้นเอง ในช่วงที่สถานการณ์แพร่ระบาดโรค “โควิด-19” ก็ได้มีคำสั่ง และประกาศรองรับเพื่อเตรียมความพร้อมจัดเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 7 ฉบับ ทยอยประกาศออกมา 

อาทิ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2563 ไปจนถึงระเบียบ กกต.ว่าด้วยการจัดยานพาหนะโดยหน่วยงานของรัฐเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2563 (อ่านที่นี่)

โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ใน “บทเฉพาะกาล” มาตรา 142 นั้น ระบุเงื่อนไข และขั้นตอนไว้ว่า 

การเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังจากที่กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับ ให้เป็นอำนาจของ ครม. เห็นสมควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้แจ้ง กกต.ทราบ เพื่อประกาศให้มีการเลือกตั้ง ทำให้ปัจจัยสำคัญไปอยู่ที่กระทรวงมหาดไทยต้องเสนอเรื่องให้ ครม.ตัดสินใจ

เมื่อท้องถิ่นหลายแห่งยังอยู่ในสถานะ รักษาการมายาวนาน 6 ปีเต็ม ตั้งแต่ คสช.ยึดอำนาจในปี 2557 ขีดเส้นใต้ 3 เส้นในตำแหน่ง “ผู้ว่าฯ กทม.-นายก อบจ.” เป็นสนามเลือกตั้ง ที่ทุกขั้วอำนาจต้องการยึดพื้นที่ ขยายแต้มต่อทางการเมือง 

เมื่อหัวหาด กทม.-อบจ.ถูกล็อกเป้าจากฝ่ายค้านและรัฐบาล เงื่อนไขจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขประมาณอย่างเดียว แต่ปัจจัยชี้วัดมาจากความพร้อมในองคาพยพ และสรรพกำลังทางการเมืองของรัฐบาล จะเป็นสัญญาณกำหนดว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีขึ้นเมื่อใด

ขณะที่ หลายกลุ่มการเมือง กำลังจัดเตรียมขุมกำลัง รออยู่หน้า “เส้นสตาร์ท” แต่ก็ต้องรอ... ตัวแปรสำคัญอย่าง “พลังประชารัฐ” พรรคแกนนำรัฐบาล ยุติศึกชิงอำนาจ จัดโครงสร้างอำนาจใหม่ภายในพรรคให้เสร็จสรรพ  

ปัญหาพรรคจบเมื่อใด ศึกเลือกตั้งสนามท้องถิ่น จะกลับมาดุเดือดเมื่อนั้น