'เศรษฐกิจถดถอย' ระดับใหม่ หรือเพียงแค่ภาวะ 'ชั่วคราว'

'เศรษฐกิจถดถอย' ระดับใหม่ หรือเพียงแค่ภาวะ 'ชั่วคราว'

จากวิกฤติโควิด-19 เบื้องต้นเศรษฐกิจน่าจะเป็นกรณีของภาวะถดถอยชั่วคราว แต่ระยะเวลาการฟื้นฟูนั้นคงจะใช้เวลามากกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะกรณีของเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ที่มีการพึ่งการลงทุนจากต่างชาติ และจะทำให้สถานการณ์แย่ลง ถ้าเกิดสงครามทางการค้าเพิ่มขึ้นมาอีก

โลกาภิวัตน์นั้นนำสิ่งที่มีผลในทางบวกและทางลบต่อระดับบุคคลถึงระดับประเทศ สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นก็เช่นกัน ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของโควิดมาก เพราะคนและสิ่งของสามารถเคลื่อนไหวเหมือนไร้พรมแดน แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือเงินลงทุน

โดยเฉพาะต่อประเทศที่กำลังพัฒนาที่ต้องการเงินลงทุนเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็เช่นกันที่จะได้รับผลกระทบจากโควิดในเชิงเศรษฐกิจที่สถานการณ์โควิด มีผลกระทบต่อทุกคน ต่อทุกครอบครัว ต่อทุกธุรกิจ ต่อทุกอุตสหกรรม ต่อทุกประเทศ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เนื่องจากปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงการแพร่กระจายของผลกระทบของโควิดนั้นคือ เรายังอยู่ในยุคของโลกาภิวัตน์ (Globalization) แต่คำถามที่จะถูกตั้งขึ้นมาคือ เราจะยังคงอยู่ในยุคของโลกาภิวัตน์ต่อหรือไม่

ภาวะถดถอย (the retreat) ต่อยุคโลกาภิวัตน์หรือจะเข้าสู่ยุคย้อนกลับ (the reversal) เพราะการเกิดสถานการณ์โควิด หลังจากนี้มีความเป็นไปได้ คือ 1.กลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ 2.เป็นภาวะเศรษฐกิจใหม่ 3.เป็นการกลับไปยุคก่อนโลกาภิวัตน์

ไม่ว่าในสภาวะไหนก็คงต้องใช้ระยะที่นานกว่าปกติ และจะกลับไปทิศทางใดอาจจะไม่สามารถจะสรุปได้ ปัจจัยเบื้องต้นคือที่สามารถใช้ประเมินได้คือ 1.ความต้องการของน้ำมัน 2.การขอชดเชยจากการว่างงาน 3.การขอความช่วยเหลือผ่อนชำระหนี้ และ 4.อัตราการว่างงาน

เบื้องต้นเศรษฐกิจน่าจะเป็นกรณีของภาวะถดถอยชั่วคราว แต่ระยะเวลาการฟื้นฟูนั้นคงจะใช้เวลามากกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะกรณีของเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ที่มีการพึ่งการลงทุนจากต่างชาติ และจะทำให้สถานการณ์แย่ลง ถ้าเกิดสงครามทางการค้าเพิ่มขึ้นมาอีก

อีกสิ่งหนึ่งที่สถานการณ์โควิดสะท้อนให้เห็นคือ ความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนมากขึ้น และยังทำให้เป็นโอกาสที่จะมีการปรับกระบวนทรรศน์ เพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำลังจะเปลี่ยน โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของเงินลงทุนนั้น คงเป็นไปในกรณีที่จะไม่กลับมาถึงระดับก่อนที่จะมีโควิดนั้นเป็นไปได้ค่อนข้างสูง และเป็นโอกาสที่สำคัญที่จะมีการเปลี่ยน หรือการเพิ่มการลงทุนในอุตสหกรรมที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจ

เบื้องต้นอีอีซีได้มีมาตรการที่ผลักดันกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ โดยให้บีโอไอเพิ่มมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติม อาทิ การกระตุ้นให้มีการลงทุนจริงในปี 2563-2564 แต่อีกกรณีคือ ที่ยังไม่ได้รับความสำคัญเท่ากันคือ ส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก

สถานการณ์โควิดไม่เพียงทำให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำชัดเจน และเด่นชัดมากขึ้น รวมถึงอาจจะเป็นกรณีที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำนั้นขยายมากยิ่งขึ้น ถ้าทางรัฐบาลยังมีนโยบายหรือมาตรการที่จะส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานรากให้มากยิ่งขึ้น สถานการณ์โควิคที่นำพาเศรษฐกิจไปในทิศทางใดนั้น ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน แต่สิ่งที่ตามมาคือ 1.ความท้าทายนั้นมากยิ่งขึ้น สำหรับรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนในการที่จะดึงการลงทุน โดยเฉพาะโครงการอีอีซี

2.ความท้าทายที่จะลดความเหลื่อมล้ำด้วยโครงการอีอีซี ยุคโลกาภิวัตน์ได้ทำให้การเคลื่อนไหวของ เช่น คน สิ่งของ เงินลงทุน เสรีมากยิ่งขึ้น ดังนั้นสิ่งใดก็ตามที่ขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็จะได้รับผลกระทบในระดับที่มากกว่าเช่นกัน

หวังว่าจะมีการร่วมมือในทั้งระดับบุคคล ภาคเอกชน ภาครัฐ ไม่เพียงระดับในประเทศ ไม่เพียงระดับภูมิภาค แต่ต้องเป็นระดับนานาชาติ ในการรับมือสถานการณ์และฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพราะถ้าไม่เช่นนั้น จะไม่เป็นกรณีของภาวะการถดถอย (Global Retreat) หรือแม้แต่ (Global Reverse) อาจจะถึงขั้นเป็นกรณีของการต่อต้านของระบบทุนนิยม (Global Resentment)