‘ไทย’ กับความท้าทาย เจ้าภาพเอเปค ปี 65

‘ไทย’ กับความท้าทาย เจ้าภาพเอเปค ปี 65

ไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค (APEC) อีกครั้งในปี 2565 ท่ามกลางความท้าทายใหม่ ๆ ของโลก จึงเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้รื้อฟื้นความทรงจำ และทำความเข้าใจเอเปคในบริบทปัจจุบันอีกครั้ง ก่อนการเป็นเจ้าภาพเอเปคจะมาถึงในอีก 2 ปีข้างหน้า

เอเปคกำลังเผชิญความท้าทายในบริบทโลกปัจจุบัน ทั้งในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนเป็นทุนเดิม ทั้งยังต้องพบอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งปัญหาการบินที่ช่วยเชื่อมโยงประชาชนและภาคธุรกิจ ต้องหยุดชะงักไปเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 คาดว่า เศรษฐกิจอาจใช้ระยะเวลาเพื่อฟื้นตัวหลายปี

มาเลเซีย เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค สมัยพิเศษ (Virtual Extraordinary Senior Officials’ Meeting on COVID-19) ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งเป็นการประชุมทางไกลอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประวัติศาสตร์เอเปค เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2563 เชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าประชุมพร้อมกับสมาชิกรวม 21 เขตเศรษฐกิจ เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือของเอเปค และฟื้นฟูเศรษฐกิจของสมาชิก ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) 

แม้ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ความร่วมมือเอเปคเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ภายใต้ความภูมิใจที่เป็นเวทีความร่วมมือยึดหลักฉันทามติ โดยไม่มีการผูกมัด แต่บริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วก็เป็นความท้าทายที่กรอบความร่วมมืออันไร้ข้อผูกมัดนี้จะต้องเผชิญอย่างต่อเนื่อง

159143541231
- เชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ -

เชิดชาย กล่าวว่า ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนว่า โลกกำลังต้องการเอเปคมากกว่าช่วงเวลาใด ในฐานะที่เป็นกรอบความร่วมมือซึ่งสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ช่วยให้สมาชิกรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ บนพื้นฐานความเข้าใจ ยืดหยุ่น และสมัครใจ 

ทั้งนี้ เอเปคจะยังคงต้องปรับตัวเพื่อให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก ใช้ประโยชน์จากการเป็นแหล่งบ่มเพาะแนวคิดใหม่ (incubator of ideas) และศูนย์รวมองค์ความรู้ที่หลากหลาย เพื่อสร้างให้เอเปคตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทันสมัย รอบด้าน ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจภายในภูมิภาคให้มีความยืดหยุ่นและรับมือกับเทคโนโลยีดิสรัปใหม่ๆได้ พร้อมทั้งดูแลภาคส่วนเล็ก ๆ ในระบบเศรษฐกิจ เช่น ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และผู้ใช้แรงงานให้ดำรงอยู่ได้ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ ผู้นำเอเปคได้ร่วมกันวางเป้าหมายที่สำคัญโดยใช้ชื่อว่า “เป้าหมายโบกอร์” (Bogor Goals) ตามชื่อเมืองที่ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันไว้บนเกาะชวาที่อินโดนีเซีย ซึ่งระบุให้สมาชิกเอเปคเปิดเสรีการค้าและการลงทุนให้สำเร็จภายในปี 2563 

ปัจจุบัน เอเปคเดินทางมาถึงปลายทางของเป้าหมายโบกอร์ ว่าด้วยการนําไปสู่การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนภายในปีนี้ แต่ดูแนวโน้มแล้วว่า เอเปคอาจจะยังไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมายโบกอร์ได้ทั้งหมด ยังไม่รวมถึงการจัดทําเขตการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ Free Trade Area of the Asia - Pacific (FTAAP) เพราะยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร

ขณะที่ภาคธุรกิจไทย อาจเห็นว่า ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากเอเปคที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดคือการได้รับประโยชน์จากการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนผ่านแผนปฏิบัติการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน

159143568258
- การประชุมทางไกลอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประวัติศาสตร์เอเปค เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2563 -

ด้านการค้าเอเปค (Investment/Trade Facilitation Action Plan หรือ IFAP/TFAP) และการอำนวยความสะดวกในการเดินทางเพื่อไปติดต่อธุรกิจระหว่างเขตเศรษฐกิจเอเปคผ่านโครงการ APEC Business Travel Card ซึ่งจะทำให้ผู้ถือบัตรได้รับการยกเว้นวีซ่า

ปัจจุบัน มาเลเซียในฐานะเขตเศรษฐกิจเจ้าภาพต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์โควิด-19 และความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ จนทำให้แผนงานและแผนการประชุมต่าง ๆ ของเอเปคต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อรับมือกับสถานการณ์ใหม่ และยังไม่อาจคาดเดาได้ว่าผลสัมฤทธิ์ของการประชุมในปีนี้จะเป็นอย่างไร ปัจจัยเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่าเอเปคกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จนถูกตั้งคำถามว่าเอเปค จะดำรงอยู่ต่อไปได้หรือไม่ ยังมีความจำเป็นหรือไม่ และเมื่อสิ้นสุดเป้าหมายโบกอร์ในปีนี้ วิสัยทัศน์เอเปคภายหลังปี 2563 จะปักหมุดเพื่อเดินหน้าไปในทิศทางใด

เอเปคยังจำเป็นต่อเศรษฐกิจโลกหรือไม่ ซึ่งจากปัจจัยด้านลบต่าง ๆ นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะวิกฤติครั้งประวัติศาสตร์ การดำเนินธุรกิจและซัพพลายเชนระหว่างประเทศชะงักลงอย่างสิ้นเชิง ไปจนถึงกระแสการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐที่หวนกลับมาสนใจนโยบายการปกป้องทางการค้ามากกว่าการเปิดเสรี ซึ่งส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของระบบการค้าแบบพหุภาคี

ไทยฐานะเขตเศรษฐกิจสมาชิก นอกจากจะได้ประโยชน์จากการมีพันธมิตรที่เข้มแข็งทางเศรษฐกิจแล้ว ยังได้โอกาสในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู และพัฒนาศักยภาพผ่านการดำเนินงานดั่งเช่นในอดีต  ไทยประสบความสำเร็จในการจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านสาธารณสุขครั้งแรก เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส

เวลาผ่านไปเกือบ 20 ปี ไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคอีกครั้งในปี 2565 ท่ามกลางความท้าทายใหม่ ๆ ของโลก จึงเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้รื้อฟื้นความทรงจำ และทำความเข้าใจเอเปคในบริบทปัจจุบันอีกครั้ง ก่อนการเป็นเจ้าภาพเอเปคจะมาถึงในอีก 2 ปีข้างหน้า

แม้เอเปคจะอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเพื่อปรับตัวให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง แต่การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 ก็ถือเป็นโอกาสท่ามกลางความท้าทาย โอกาสแรกคือการที่ปัจจุบันไทยได้เป็นหนึ่งในสามเขตเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญในการจัดทำร่างแรกของเอกสารวิสัยทัศน์เอเปคภายหลัง ค.ศ. 2020 ร่วมกับมาเลเซีย เจ้าภาพปีปัจจุบัน และนิวซีแลนด์เจ้าภาพปี 2564 

นี่เป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้ผลักดันแนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อไทยและภูมิภาคให้กลายเป็นเป้าหมายของเอเปคในอีก 20 ปีข้างหน้าแทนเป้าหมายโบกอร์ต่อไป โอกาสที่สอง คือการทำให้ไทยได้แสดงศักยภาพในประเด็นที่โลกน่าจะให้ความสนใจภายหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะสาขาการท่องเที่ยวยั่งยืน การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การให้บริการด้านการแพทย์ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ซึ่งล้วนเป็นจุดแข็งของไทย และโอกาสที่สาม คือการสร้างประโยชน์ให้แก่เศรษฐกิจรากหญ้าในประเทศ เพราะการจัดประชุมเอเปคจะมีการประชุมเกิดขึ้นนับร้อยครั้งทั่วประเทศไทย ซึ่งย่อมจะช่วยกระจายรายได้ไปสู่เมืองท่องเที่ยว เมืองรอง และประชาชนในท้องถิ่น ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งสำคัญที่คนไทยในฐานะเจ้าภาพทุกคนจะได้รับประโยชน์และภาคภูมิใจไปพร้อม ๆ กัน