ราคาน้ำมันพุ่งกว่า5%ขานรับจ้างงานแกร่งก่อนประชุมโอเปกพลัส

ราคาน้ำมันพุ่งกว่า5%ขานรับจ้างงานแกร่งก่อนประชุมโอเปกพลัส

ราคาน้ำมันพุ่งกว่า5%ขานรับจ้างงานแกร่งก่อนประชุมโอเปกพลัสช่วงบ่ายวันนี้ ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ของนักลงทุนว่าโอเปกพลัสจะเห็นพ้องขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิต

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าเวสต์เท็กซัส ปิดตลาดวันศุกร์(5มิ.ย.)พุ่งขึ้นกว่า 5% ก่อนการประชุมกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนคาดการณ์ว่ากลุ่มโอเปกพลัสจะเห็นพ้องกันในการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิต

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันเวสต์เท็กซัสยังได้ปัจจัยบวกจากการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งเกินคาดของสหรัฐ ซึ่งบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งจะทำให้อุปสงค์น้ำมันเพิ่มขึ้น

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนก.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาดไนเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 2.14 ดอลลาร์ หรือ 5.7% ปิดที่ราคา 39.55 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับตัวขึ้น 2.07 ดอลลาร์ หรือ 5.2% ปิดที่ราคา 42.07 ดอลลาร์/บาร์เรล

ราคาน้ำมันเวสต์เท็กซัสมีแนวโน้มดีดตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 6 โดยได้แรงหนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน และการที่ประเทศต่างๆเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งได้ช่วยให้ความต้องการน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น

ซาอุดีอาระเบียยืนยันว่า การประชุมกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกพลัสจะมีขึ้นในวันนี้

“สถานการณ์ในขณะนี้มีแนวโน้มที่จะช่วยให้การประชุมประสบความสำเร็จ โดยเรากำลังร่วมมือกันเพื่อให้มีการจัดการประชุมโอเปกและโอเปกพลัสในบ่ายวันนี้” เจ้าชายอับดูลาซิส บิน ซัลมาน รัฐมนตรีพลังงานซาอุดีอาระเบีย กล่าว

สื่อรายงานว่า ซาอุดีอาระเบียและรัสเซียได้เห็นพ้องกันเกี่ยวกับการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 9.7 ล้านบาร์เรล/วันออกไปจนถึงเดือนก.ค. จากเดิมที่มีกำหนดสิ้นสุดในเดือนมิ.ย.

ในการประชุมเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมโอเปกพลัสมีมติปรับลดกำลังการผลิตเพียง 7.7 ล้านบาร์เรล/วันตั้งแต่เดือนก.ค.ไปจนถึงสิ้นปี 2563 และจะปรับลด 6 ล้านบาร์เรล/วันตั้งแต่เดือนม.ค.2564 ไปจนถึงเดือนเม.ย.2565

ขณะเดียวกัน ซาอุดีอาระเบียและรัสเซียได้เตือนชาติสมาชิกให้ยุติการผลิตน้ำมันเกินโควตา มิฉะนั้นโอเปกพลัสอาจระงับการปรับลดกำลังการผลิต ซึ่งได้ช่วยหนุนราคาน้ำมันในระยะนี้

ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 2.5 ล้านตำแหน่งในเดือนพ.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าการจ้างงานจะลดลง 8.33 ล้านตำแหน่ง

นอกจากนี้ อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 13.3% ในเดือนพ.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะพุ่งขึ้นสู่ระดับ 19.5%

เมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรดิ่งลง 20.5 ล้านตำแหน่งในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นตัวเลขการจ้างงานที่ย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ ส่วนอัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสู่ระดับ 14.7% ซึ่งสูงกว่าระดับ 10.8% ซึ่งเป็นอัตราการว่างงานสูงสุดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

การพุ่งขึ้นของตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนพ.ค. ถือเป็นการทำสถิติการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดภายในเดือนเดียวในประวัติศาสตร์สหรัฐในรอบ 81 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2482

ตัวเลขการจ้างงานที่ดีกว่าคาดในวันนี้ ได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลสหรัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจกลับมาเปิดกิจการ และทำการจ้างงานครั้งใหม่ หลังจากที่มีการปลดพนักงานจำนวนมากในช่วงที่มีการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19