‘CPF’ ขาย ‘หุ้นกู้’ เกลี้ยง หนุนฐานะการเงินปึ้ก!

‘CPF’ ขาย ‘หุ้นกู้’ เกลี้ยง หนุนฐานะการเงินปึ้ก!

“ซีพีเอฟ” เผย นักลงทุนแห่จองซื้อหุ้นกู้เกินกว่ามูลค่าที่เสนอขาย 2.5 หมื่นล้าน เหตุ “เชื่อมั่นบริษัทจากเป็นผู้นำธุรกิจอาหาร-ผลตอบแทนจูงใจ-เรทติ้งสูง” เตรียมนำเงินที่ได้ขยายธุรกิจ หนุนฐานะการเงินแข็งแกร่ง

บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ออกเสนอขายหุ้นกู้มูลค่าไม่เกิน 25,000 ล้านบาท แบ่งเป็น หุ้นกู้ชุดที่ 1 ไม่เกิน 10,000 ล้านบาทดอกเบี้ย 3% เสนอขายนักลงทุนทั่วไป หุ้นกู้ชุดที่ 2 ไม่เกิน 18,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3.4% เสนอขายนักลงทุนทั่วไป หุ้นกู้ชุดที่ 3 ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3% หุ้นกู้ชุดที่ 4 ไม่เกิน 4,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3.4%, หุ้นกู้ชุดที่ 5 ไม่เกิน 2,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3.75%, หุ้นกู้ชุดที่ 6 ไม่เกิน 4,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 4% ซึ่งหุ้นกู้ชุดที่ 3-6 เสนอขายนักลงทุนสถาบันและหรือนักลงทุนรายใหญ่ เปิดจองซื้อวันที่ 1-4 มิ.ย.2563

นายไพศาล จิระกิจเจริญ ประธานผู้บริหารฝ่ายการเงิน บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) เปิดเผยว่า นักลงทุนให้ความสนใจจองซื้อหุ้น จำนวน 6 ชุด ให้แก่ผู้ลงทุนกลุ่มต่างๆ เกินกว่ามูลค่าหุ้นกู้ ที่บริษัทฯตั้งเป้าหมายจะเสนอขายไว้ 25,000 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ธนาคารผู้จัดจำหน่ายประเมินว่าสาเหตุที่ทำให้ผู้ลงทุนสนใจจองซื้อหุ้นกู้ของบริษัทจำนวนมากนั้น เนื่องจากผลตอบแทนของหุ้นกู้ที่อยู่ในระดับที่น่าพอใจแล้ว และยังมีอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ฯ ที่ระดับ A+ ซึ่งจัดอันดับโดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัดแล้ว ยังมาจากการที่ผู้ลงทุนมีความมั่นใจในความเป็นผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารที่มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงความแข็งแกร่งของผลการดำเนินงานของบริษัทซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่สุดสำหรับการตัดสินใจของนักลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทฯ

“บริษัทขอบคุณผู้ลงทุนที่ให้ความไว้วางใจในการลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทเป็นอย่างมาก และขออภัยต่อ ผู้ลงทุนที่ไม่สามารถจองซื้อได้และขอขอบคุณสถาบันการเงินที่เป็นผู้จัดการจำหน่ายทั้ง 5 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย และธนาคารออมสิน ตลอดจนผู้ลงทุนทั่วไปที่ช่วยให้การเสนอขายหุ้นกู้ของบริษัทประสบความสำเร็จครั้งนี้"

โดยการออกหุ้นกู้ครั้งนี้จะช่วยเสริมให้ฐานะการเงินของบริษัทแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งบริษัทมุ่งมั่นในการสร้างผลตอบแทนทางธุรกิจให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเหมาะสม และจะพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคงภายใต้วิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” ต่อไป