'หุ้นไทย' รีบาวด์แรงสุดในภูมิภาค โบรกชี้พุ่งจากจุดต่ำสุด 28%

'หุ้นไทย' รีบาวด์แรงสุดในภูมิภาค โบรกชี้พุ่งจากจุดต่ำสุด 28%

หุ้นไทย” พุ่งแรงสุดในเอเชีย ปรับขึ้น 28.4% จากจุดต่ำสุด หลังนักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิต่อเนื่องกว่า 1.1 หมื่นล้าน ดันดัชนีทะลุ 1,430 จุด ด้านนักวิเคราะห์ชี้อาจเป็นฟองสบู่สภาพคล่อง หลังราคาหุ้นสูงเกินกว่ามูลค่า

ความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET) วานนี้ (5 มิ.ย.2563) ปิดที่ 1,435.70 เพิ่มขึ้น 24.69 หรือ 1.75%  ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 5 วันทำการติดต่อกัน ทำให้ดัชนีกลับมาสูงสุดในรอบ 4 เดือน โดยการปรับขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ส่วนหนึ่งหนุนจากการกลับมาซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ด้วยมูลค่ากว่า 1.1 หมื่นล้านบาท 

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า หากพิจารณาจากจุดต่ำสุดของดัชนีหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวลงในรอบนี้จนถึงปัจจุบัน พบว่า ตลาดหุ้นไทยเป็นอันดับ 1 จาก 11 ตลาด ที่ปรับตัวขึ้นมากที่สุดเทียบกับตลาดหุ้นหลักๆ ในภูมิภาคเอเชีย โดยปรับตัวขึ้นราว 28.4% (อิงจาก 13 มี.ค.-5 มิ.ย.2563) ขณะที่อันดับ 2 คือ ตลาด Nikkei ของญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 23.2% ถัดมาคือ ตลาด KOSPI เกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 19%

สำหรับปัจจัยหนุนให้ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นร้อนแรงในช่วงนี้ โดยหลักเกิดจากการที่นักลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนถือครองในตลาดหุ้นไทยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จนทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นฝ่ายซื้อสุทธิในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วยสร้างโมเมนตัมเชิงบวกให้กับตลาด

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาทิศทางเงินลงทุนต่างชาติ (Fund flow) เทียบกับภูมิภาคจะเห็นว่า เงินทุนที่ไหลเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 189 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ประเทศใกล้เคียงอย่าง อินโดนีเซีย มีเงินไหลเข้า 237 ดอลลาร์ ส่วนฟิลิปปินส์ มีเงินไหลเข้า 49 ดอลลาร์ ส่วนประเทศอื่นๆ อย่าง อินเดีย เงินทุนไหลเข้า 2,249 ล้านดอลลาร์ ไต้หวัน 1,239 ล้านดอลลาร์ เกาหลีใต้ 210 ล้านดอลลาร์ และมาเลเซีย เงินทุนไหลออก 233 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ปัจจัยหนุนสำคัญที่ทำให้ดัชนี SET ขึ้นได้ต่อเนื่อง และไม่มีแรงขายออกมามากนัก เพราะมาตรการที่กำหนดให้ขายมากกว่าราคาสูงสุดเท่านั้น (Uptick rule) ทำให้มูลค่าการขายชอร์ต (Short sell) ในปัจจุบันเหลือไม่ถึงหนึ่งพันล้านบาทต่อวัน

“เมื่อดูทิศทางฟันด์โฟลว์เทียบใน 7 ประเทศ จะเห็นว่าเงินทุนที่ไหลเข้าไทยไม่ได้มากนัก แต่ด้วยนักลงทุนต่างชาติซึ่งขายสุทธิมาตลอด เปลี่ยนกลับมาเป็นผู้ซื้อ ทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อตลาดค่อนข้างมาก ขณะที่การต่ออายุมาตรการ Uptick rule ซึ่งเดิมทีจะหมดในช่วงปลายเดือนนี้ หากตลท.ตัดสินใจยืดอายุต่อไป ก็อาจจะเป็นการซื้อเวลาให้ตลาดยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปได้”

ขณะเดียวกัน ตลาดที่ร้อนแรงก็ดึงดูดให้นักลงทุนรายบุคคลเข้ามาในตลาดมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากสัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนรายบุคคลสูงถึง 50% ในขณะนี้

“ด้วยสภาพคล่องที่สูงขึ้นในประเทศ อาทิ ปริมาณเงินฝากแต่ละประเภท ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 7 ปี บวกกับอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำให้นักลงทุนกล้ารับความเสี่ยงได้มากขึ้น และด้วยตลาดที่ร้อนแรงก็ดึงดูดให้นักลงทุนรายบุคคลเข้ามามากขึ้น สำหรับผู้ที่เพิ่งจะเข้าตลาดมาในสัปดาห์นี้ ต้องยอมรับว่าเข้ามาร้อมกับความเสี่ยงแน่นอน เพราะมูลค่าของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน จนอาจจะเรียกได้ว่า ปัจจุบันเป็นฟองสบู่ขนาดเล็กจากสภาพคล่อง ซึ่งราคาหุ้นบางตัวนั้นขึ้นไปมากจนผลประกอบการตามไม่ทัน”

สำหรับระดับดัชนี SET ที่สูงกว่า 1,420 จุด ถือเป็นระดับที่ค่อนข้างแพงเกินไปแล้ว เพราะดัชนีระดับ 1,420 จุด นั้น อิงกับผลประกอบการปี 2564 ไปแล้วทั้งปี รวมทั้งอิงกับ P/E ที่สูงถึง 16.8 เท่า

ทั้งนี้ กลุ่มหุ้นที่ดันให้ดัชนีพุ่งขึ้นล่าสุด คือ กลุ่มพลังงาน นำโดยหุ้นใหญ่อย่าง บมจ.ปตท. (PTT) บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ที่ปรับขึ้นราว 4-8% หลังจากที่โอเปกตัดสินใจขยายเวลาในการลดกำลังการผลิตน้ำมันออกไปอย่างน้อยอีก 1-3 เดือน

ด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าเอเชียเกือบทุกตลาดในช่วง 4 วันที่ผ่านมา รวม 4,281 ล้านดอลลาร์ และไหลเข้าไทย 4 วันติดต่อกัน รวม 361 ล้านดอลลาร์ (นับตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค.) เป็นแรงหนุนเชิงบวก แต่อย่างไรก็ดี SET ปรับตัวขึ้นใกล้แนวต้านสำคัญ (เส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน) ที่บริเวณ 1,430 จุด มีโอกาสขึ้นทดสอบก่อนจะพักตัว ส่วนพอร์ตลงทุนเชิงแทคนิค แนะนำลดน้ำหนักหุ้นเหลือเพียง 30% และกลยุทธ์ระยะยาวที่เหมาะสมตอนนี้ คือ DCA ตั้งรับหุ้นที่มีแนวโน้มธุรกิจแข็งแกร่งในทุกๆ เดือน