เปิดเสรีนำเข้าแอลเอ็นจี ฉวยจังหวะราคาเพื่อลดค่าไฟฟ้า

เปิดเสรีนำเข้าแอลเอ็นจี  ฉวยจังหวะราคาเพื่อลดค่าไฟฟ้า

ประเทศไทยนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี เพื่อมาผลิตไฟฟ้าสัดส่วนที่สูง ซึ่งทำให้นโยบายการเปิดเสรีนำเข้าก๊าซ ที่กำลังดำเนินการผลักดันอยู่ จะมีผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไปด้วย

การอนุมัติออกใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) ให้กับเอกชน 3 ราย ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ บอร์ด กกพ. ในช่วงเดือน พ.ค. 2563 ส่งผลให้ประเทศ มีผู้คว้าไลเซ่น นำเข้า LNG ถึง 5 ราย คือ กัลฟ์ฯ ,ราช กรุ๊ป, บี.กริม จากเดิม ปตท.เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเพียงรายเดียว และต่อมา กฟผ. เป็นได้ใบอนุญาตฯ เป็นรายที่ 2 ตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องการให้ กฟผ. เป็นผู้ทดสอบระบบบริหารจัดการระบบท่อก๊าซธรรมชาติและคลังเก็บก๊าซธรรมชาติภายใต้ข้อบังคับเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่สาม หรือ Third Party Access (TPA Codes) ที่ กกพ.ออกประกาศฯ ตั้งแต่ปี 2557

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. ระบุว่า กกพ. พร้อมส่งเสริมเปิดการแข่งขันในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเสรี ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่เอกชนต้องทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อม

 "ปัจจุบัน ราคาLNG ตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ เป็นโอกาสที่ผู้ได้รับใบอนุญาตจะใช้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ เตรียมความพร้อมและติดต่อประสานงานผู้ผลิตเพื่อนำเข้าLNG ในอนาคต”

ระหว่างนี้ ผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ สามารถประสานงานติดต่อคลังเก็บก๊าซธรรมชาติ (LNG Receiving Terminal) และระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อศึกษาความสามารถของระบบก๊าซธรรมชาติ เพราะในทางปฏิบัติยังไม่สามารถดำเนินการนำเข้าได้จริง เนื่องจากยังมีขั้นตอนของกระทรวงพลังงาน ที่จะพิจารณาอนุมัติผ่านกลไกคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) และคณะกรรมนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า การจะอนุมัติให้มีการนำเข้า LNG ของภาคเอกชน จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนนโยบายการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ จากนั้น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) จะทำแผนปรับโครงสร้างการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติใหม่ เพื่อเสนอ กพช.ต่อไป คาดว่า จะเป็นช่วงครึ่งหลังปี 2563

“ใบอนุญาต ก็เหมือนได้ ใบขับขี่ ถ้าถนนไม่มีรถก็วิ่งไม่ได้ ดังนั้น การจะนำเข้าก๊าซฯได้จริง ยังต้องผ่านกลไกกระทรวงพลังงานก่อน ”

เบื้องต้น กระทรวงพลังงาน เตรียมปรับโครงสร้างก๊าซฯ จะมี 2 ตลาด คือ 1 .ราคาตลาดรวม ( Pool Market Price ) ที่ราคาเฉลี่ยมาจากก๊าซฯอ่าวไทย เมียนมา และสัญญาLNG ระยะยาวของ ปตท. และ 2.ราคาตลาด (Market Price ) เป็นราคานำเข้า LNG Spot โดยนโยบายจะต้องชัดเจน ส่งเสริมการแข่งขัน และไม่กระทบความมั่นคงด้านพลังงาน

ด้าน ปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM มองว่า บริษัท ยังต้องรอภาครัฐ ดำเนินการตามนโยบายการเปิดเสรีก๊าซฯ ระยะที่ 3 คือเปิดให้เอกชน นำเข้าก๊าซฯได้จริง ซึ่งเข้าใจว่า ภาครัฐจะต้องมีการปรับแก้กฎระเบียบและกติกาต่างๆ เพื่อนำไปสู่ระยะที่3 ในไม่ช้า

ดังนั้น ระหว่างนี้ บริษัท ก็เตรียมความพร้อมจะได้ไม่เสียโอกาส เนื่องจาก LNG ตลาดโลกประมาณ 2 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เทียบกับก๊าซฯในอ่าวไทย ราคาอยู่ที่ประมาณ 7-9 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู

“ช่วงนี้ ตลาดLNG เป็นของผู้ซื้อ รัฐควรเร่งส่งเสริมให้จัดซื้อ LNG ราคาถูกเข้าใช้ เพราะก๊าซฯ คิดเป็น 70%ของต้นทุนค่าไฟ และไทยมีต้นทุนค่าไฟต่ำ แข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ ก็จะช่วยดึงดูการลงทุนจากต่างชาติ”

ขณะที่เอกชนอีก 2 ราย ที่ได้ใบอนุญาต จาก กกพ. คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) มีแผนนำเข้า 3 แสนตันต่อปี เพื่อนำเข้ามาจำหน่ายให้แก่โรงไฟฟ้า SPP จำนวน 19 โครงการของกลุ่มบริษัท และบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง กัลฟ์ฯ ถือหุ้น 49% และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ RATCH ถือหุ้น 51% มีแผนนำเข้า 1.4 ล้านตันต่อปี เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง กำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ มีกำหนดCOD ปี2567 และ2568

นอกจากนี้ กฟผ.ยังมีแผนจะนำเข้า LNG ช่วงปี 2563-2565 โดยปี2563 ปริมาณ 0.6 ล้านตันต่อปี,ปี2564 ปริมาณ 1.9 ล้านตันต่อปี และปี2565 ปริมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี แต่ยังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากภาครัฐ

ขณะที่ ปตท.ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เร่งจัดซื้อ LNG Spot เข้ามาถัวเฉลี่ยต้นทุนค่าก๊าซฯ เพื่อให้ค่าไฟฟ้าถูกลง