สรุปภาวะ"ตลาดเงินตลาดทุน"รายสัปดาห์ วันที่ 1 - 5 มิถุนายน 2563

สรุปภาวะ"ตลาดเงินตลาดทุน"รายสัปดาห์ วันที่ 1 - 5 มิถุนายน 2563

เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนครึ่ง ขณะที่แรงซื้อต่างชาติหนุนหุ้นไทยกลับมายืนเหนือ 1,400 จุดอีกครั้ง

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนครึ่งใกล้ๆ ระดับ 31.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทสอดคล้องกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ประกอบกับน่าจะมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากสถานะซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้น แม้ว่าธปท. ได้ออกมาส่งสัญญาณดูแลเงินบาทให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน ขณะที่ฝั่งเงินดอลลาร์ฯ เองก็ไม่ได้รับแรงหนุนมากนักจากตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงน้อยกว่าที่คาดในเดือนพ.ค. เนื่องจากตลาดยังรอประเมินสัญญาณของตลาดแรงงานสหรัฐฯ จากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์

- ในวันศุกร์ (5 มิ.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.46 เทียบกับระดับ 31.81 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (29 พ.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (8-12 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.30-31.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงิน ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึง dot plots ชุดใหม่ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญในระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาสินค้านำเข้า/ส่งออกเดือนพ.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนมิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดอาจรอติดตามสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ท่าทีระหว่างสหรัฐฯ-จีน และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ค. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และยอดค้าปลีกด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

หุ้นไทยปิดปลายสัปดาห์ที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 เดือน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,435.70 จุด เพิ่มขึ้น 6.91% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 94,758.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.97% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 3.38% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 294.49 จุด  

- ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นตลอดสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากความหวังต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จากการทยอยปลดล็อกเศรษฐกิจของทั้งไทยและประเทศต่างๆ ทั้งนี้ ในระหว่างสัปดาห์มีแรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่หลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารและพลังงาน นอกจากนี้ การทยอยกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ก็เป็นปัจจัยที่หนุนหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ด้วยเช่นกัน    

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (8-12 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,420 และ 1,400 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,445 และ 1,470 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การพิจารณามาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ การประชุมเฟด (9-10 มิ.ย.) รวมถึงสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพ.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/63 ของญี่ปุ่น และยูโรโซน ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพ.ค. ของจีน รวมถึงผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย.ของยูโรโซน