เงินฝากพุ่ง ดอกเบี้ยออมทรัพย์ลด 'ระบบธนาคารไทย' ท่ามกลางวิกฤติ

เงินฝากพุ่ง ดอกเบี้ยออมทรัพย์ลด 'ระบบธนาคารไทย' ท่ามกลางวิกฤติ

4 เดือนแรกของปีนี้ หรือช่วงโควิด-19 ยอดเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเติบโตมาก โดยเฉพาะมีนาคม ยอดเงินฝากเพิ่มขึ้นกว่า 8.11 แสนล้านบาท หากนับเป็นรายเดือนถือว่าสูงที่สุดตั้งแต่ปี 2544 แน่นอนว่าเป็นปัญหาต่อธนาคารพาณิชย์ไทยที่ต้องมาแบกรับดอกเบี้ยนี้

ข้อมูลอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย หรือ GDP ในช่วงไตรมาสแรกที่ถดถอยลงถึง -1.8% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี เป็นเครื่องบ่งชี้ที่ชัดเจนนะครับว่า การระบาดของ Covid-19 นั้นก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อสภาพเศรษฐกิจของไทย แต่ที่นอกเหนือจากผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจแล้ว ผลกระทบของ Covid-19 ที่มีต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดทุน ก็ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่มีผลกระทบต่อเนื่องที่น่าสนใจต่อการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไทย

ย้อนภาพมาที่ช่วงเดือนมีนาคม เมื่อการระบาดของไวรัสเกิดการแพร่กระจายเป็นวงกว้างทั่วโลก เกิดการเทขายสินทรัพย์ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ยอดสินทรัพย์ในกองทุนรวมทั่วโลกมีการขายสินทรัพย์สุทธิกว่า 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในตลาดทุนไทยเอง ยอดสินทรัพย์รวมของกองทุนรวมไทยลดลง 7.14 แสนล้านบาท หรือลดลง 13.5% มาอยู่ที่ระดับ 4.57 ล้านล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการเทขายกองทุนหุ้นและกองทุนตราสารหนี้กว่า 6.3 แสนล้านบาท

แม้สถานการณ์จะกลับมาปรับตัวดีขึ้นในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ที่มีการกลับมาลงทุนในตลาดกองทุนรวม และไม่ได้มีการไหลออกของสินทรัพย์ต่อเนื่องไปอีก แต่ในภาพรวมตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 เป็นต้นมาจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม มีการขายสินทรัพย์กว่า 5.75 แสนล้านบาท ลดลงกว่า 10.7% ทำให้ยอดสินทรัพย์รวมของกองทุนรวมในไทยเหลือเพียง 4.81 ล้านล้านบาท

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาก็คือ เมื่อผู้คนเลือกขายสินทรัพย์จากตลาดที่มีความเสี่ยง สินทรัพย์ที่แปรรูปเป็นเงินสดที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า จึงไหลเข้าสู่ที่พักเงินอย่างบัญชีเงินฝากของธนาคารพาณิชย์

ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) ยอดเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเริ่มเติบโตขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม มีการเพิ่มขึ้นของยอดเงินฝากกว่า 8.11 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นของยอดเงินฝากรายเดือนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 ต่อมาในเดือนเมษายน เงินฝากยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้น 2.07 แสนล้านบาท ทำให้ตั้งแต่สิ้นปีที่แล้ว ยอดเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเติบโตขึ้นมากถึง 7.7% ทำให้ยอดรวมเพิ่มขึ้นเป็น 14.3 ล้านล้านบาท จากที่อยู่ที่ระดับ 13.2 ล้านล้านบาท เมื่อช่วงสิ้นปี 2562

การเพิ่มขึ้นของยอดเงินฝาก แน่นอนว่าเป็นปัญหาต่อธนาคารพาณิชย์ที่จำเป็นต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มมากขึ้น ในปี 2562 ภาระดอกเบี้ยเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยสูงถึง 1 แสนล้านบาท ธนาคารพาณิชย์ไทยจึงต้องหาทางออกเพื่อลดภาระดอกเบี้ยเงินฝากนี้

เป็นจังหวะที่เหมาะสมที่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงินได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ จึงทำให้ธนาคารพาณิชย์มีโอกาสได้ปรับลดทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ประเด็นการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากในครั้งนี้ ถือว่าเป็นที่น่าสนใจ เพราะถือเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากบุคคลธรรมดาออมทรัพย์เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในปีนี้

การปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดานั้น ถือว่าส่งผลกระทบต่อเงินฝากระดับประชาชนหรือบุคคลธรรมดาโดยรวมค่อนข้างมาก เพราะจากยอดเงินฝากบุคคลธรรมดาที่มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 7.7 ล้านล้านบาท ประชาชนมีเงินฝากอยู่ในบัญชีออมทรัพย์สูงถึง 4.7 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 61% ของยอดบัญชีเงินฝากบุคคลธรรมดาทั้งหมด ที่เหลืออีก 29% คิดเป็นมูลค่า 2.9 ล้านล้านบาท เป็นเงินฝากที่อยู่ในบัญชีเงินฝากประจำ

ซึ่งหากลองคำนวณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ที่มีการลดลง 0.125-0.25% ในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ จะพบว่า การลดดอกเบี้ยเงินฝากในครั้งนี้สามารถช่วยลดต้นทุนเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไทยได้สูงถึงกว่า 1.35 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 12% ของรายจ่ายดอกเบี้ยของทั้งระบบเมื่อปี 2562 การลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในครั้งนี้จึงเป็นปัจจัยที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของธนาคารพาณิชย์ไทยได้เป็นอย่างดีในช่วงที่เงินฝากมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นนี้