'ชาญศิลป์' เต็งรักษาการ DD การบินไทยคนใหม่

'ชาญศิลป์' เต็งรักษาการ DD การบินไทยคนใหม่

“ชาญศิลป์” เต็งรักษาการดีดีการบินไทยแทน "จักรกฤศฏิ์" เผยหากได้รับทาบทามต้องมาดูรายละเอียด ยืนยันพร้อมทำงานร่วมกับบอร์ด

หลังจากที่นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ยื่นหนังสือลาออกเมื่อวันที่ 27 พ.ค.2563 หลังจากได้รับการแต่งตั้งเพียง 2 วัน เนื่องจากมีประเด็นทางกฎหมาย ซึ่งทำให้คณะกรรมการการบินไทย แต่งตั้งนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นกรรมการการบินไทย แทนนายไพรินทร์ ตั้งแต่วันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา

รายงานข่าวระบุว่า นายชาญศิลป์ เป็นตัวเต็งที่จะเข้ามาทำหน้าที่รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย (DD) คนใหม่ แทนนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการการบินไทย และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย โดยหลังจากนี้นายจักรกฤศฏิ์ จะทำหน้าที่เฉพาะรองประธานกรรมการการบินไทยหน้าที่เดียว ซึ่งการแต่งตั้งรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทยจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการบินไทย

ทั้งนี้ นายจักรกฤศฏิ์ เข้ารับตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทยเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา หลังจากนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม ลาออกจากตำแหน่ง โดยนายจักรกฤศฏิ์ เข้ามาทำหน้าที่ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ต้องหยุดบินและมีการยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการการบินไทย กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า ขณะนี้ยังทราบเรื่องการให้ทำหน้าที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทยด้วย และยังไม่ได้รับการเชิญชวนแต่อย่างใด ซึ่งขณะนี้ยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการการบินไทยเท่านั้น หลังจากเพิ่งได้รับแต่งตั้ง

“ยังไม่มี เป็นแค่กรรมการ ยังไม่รู้เรื่องเลย แต่หากจะมีทาบทามจริง ก็คงต้องเข้าไปมาดูรายละเอียดก่อน”นายชาญศิลป์ กล่าว

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า การบินไทยเป็นบริษัทขนาดใหญ่ และเป็นบริษัทที่มีพื้นฐานดี โดยที่ผ่านมาการบินไทยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งมีส่วนช่วยเสริมสร้างความมั่นคงมในการขนย้ายประชาชนจากต่างประเทศในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ รวมทั้งพนักงานการบินไทยเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เพียงแต่ช่วงนี้ต้องเผชิญกับเหตุการณ์วิกฤติ

“การเป็นกรรมการการบินไทยก็ต้องทำงานกันเป็นทีม ช่วยๆกัน เดิมผมอยู่ ปตท.ก็คุ้นเคยกับการบินไทยเพราะเป็นคู่ค้า ซึ่ง ปตท.ขายน้ำมันให้การบินไทยต่อเนื่องมากว่า 30-40 ปี อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้คุ้มกับการทำธุรกิจสายการบินเท่านั้น ก็คงจะต้องศึกษารายละเอียดต่างๆ” นายชาญศิลป์ กล่าว

รายงานข่าวระบุว่า การที่นายไพรินทร์ ยื่นลาออกจากตำแหน่งกรรมการการบินไทย ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค.2563 หลังเข้ารับตำแหน่งเพียง เนื่องจากติดกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งนายไพรินทร์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมไม่ถึง 2 ปี จึงไม่สามารถเป็นกรรมการในบริษัทเอกชนได้ 

นอกจากนี้ สมัยที่นายไพรินทร์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กำกับดูแลการบินไทย จึงเกรงว่าการเป็นกรรมการการบินไทย อาจจะมีผลประโยชน์ที่ขัดแย้งได้ จึงขอลาออกจากตำแหน่ง เพื่อไม่ให้การฟื้นฟูบริษัทการบินไทยมีปัญหา

ทั้งนี้ นายไพรินทร์และนายนายชาญศิลป์ ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โดยช่วงที่นายไพรินทร์ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) นั้น นายชาญศิลป์ เข้าไปปฏิบัติงานในไออาร์พีซีเช่นกัน 

รวมทั้งก่อนที่นายไพรินทร์ จะขึ้นเป็นซีอีโอ ปตท.ในปี 2554 ต่อจากนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ที่หมดวาระลง ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีภารกิจสำคัญที่ ปตท.ได้รับมอบจากรัฐบาลให้ร่วมฟื้นฟูกิจการไออาร์พีซี ทำให้นายชาญศิลป์ช่วยทำงานนายไพรินทร์มาตลอด รวมทั้งส่วนหนึ่งได้รับการผลักดันจากนายไพรินทร์ให้นายชาญศิลป์เป็นซีอีโอ ปตท.