‘วันสิ่งแวดล้อมโลก’ กับ ‘ขยะ’ เกลื่อนหาดฮ่องกง

‘วันสิ่งแวดล้อมโลก’ กับ ‘ขยะ’ เกลื่อนหาดฮ่องกง

ขณะที่ทั่วโลกรณรงค์ให้คนตระหนักเรื่องขยะเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก (5 มิ.ย.) บรรดานักอนุรักษ์พบว่า หลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 “หน้ากากอนามัย” แบบใช้แล้วทิ้ง กลายเป็นขยะเกลื่อนชายฝั่งฮ่องกง ซ้ำเติมปัญหาขยะพลาสติกที่หนักอยู่แล้ว

แกรี สโตคส์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม “โอเชียนส์เอเชีย” (OceansAsia) ในฮ่องกง กล่าวว่า หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งกำลังเป็นภาระอีกอย่างที่คนรุ่นนี้ทิ้งไว้ให้แก่คนรุ่นต่อ ๆ ไป โดยก่อนที่จะเกิดการระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ต้นตอโรคโควิด-19 กลุ่มฯได้ดำเนินการศึกษานานราว 1 ปีเรื่องเศษขยะในทะเลและไมโครพลาสติกที่พบตามเกาะร้างที่อยู่ห่างไกล

ขยะพลาสติกที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรกช่วงก่อนหน้านี้ ได้แก่ ขวด บรรจุภัณฑ์ ไฟแช็ก ช้อนส้อม และหลอด แต่ปัจจุบันกลับพบขยะหน้ากากอนามัยลอยเกลื่อนทะเลและชายฝั่ง โดยเก็บได้มากถึง 70 ชิ้นตลอดแนวชายฝั่งยาว 100 เมตร และ 1 สัปดาห์ต่อมาก็เก็บได้อีก 30 ชิ้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 'วันสิ่งแวดล้อมโลก' กับ 'น้ำมันรั่ว' 2 หมื่นตันในรัสเซีย

ปัจจุบัน ชาวฮ่องกง 7.5 ล้านคนผลิตขยะปีละ 6 ล้านตัน ในจำนวนนี้ถูกนำไปรีไซเคิลเพียง 30% เท่านั้น

159135329928
- แกรี สโตคส์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม โอเชียนส์เอเชีย โชว์ขยะหน้ากากอนามัยที่พบบริเวณชายหาดย่านดิสคัฟเวอรีเบย์ที่ตั้งอยู่บนเกาะลันเตาของฮ่องกง -

ชาวฮ่องกงมักสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะตั้งแต่ก่อนช่วงโควิด-19 ระบาด โดยเฉพาะช่วงเกิดไข้หวัดใหญ่ในฤดูหนาว แต่การมาของโรคนี้ ทำให้ผู้คนสวมหน้ากากอนามัยกันแทบทุกที่

แม้ว่าขณะนี้มีบริษัทจำนวนมากขึ้นหันมาผลิตหน้ากากผ้าที่ซักและใช้ซ้ำได้ และทางการฮ่องกงเริ่มทยอยแจกหน้ากากผ้าให้แก่ประชาชนแล้ว แต่หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ในศูนย์กลางการเงินแห่งนี้

สโตคส์ จากกลุ่มโอเชียนส์เอเชีย กล่าวว่า หลังจากนี้จะได้เห็นภาพซากเต่าหรือโลมาเกยตื้นชายหาดในสภาพที่ภายในท้องเต็มไปด้วยหน้ากากอนามัย ซึ่งพวกมันกินไป เพราะเข้าใจว่าเป็นอาหาร