TPOLY ปั้นธุรกิจใหม่ พลิกเกม 'รับเหมา' ชะลอตัว !

TPOLY ปั้นธุรกิจใหม่ พลิกเกม 'รับเหมา' ชะลอตัว !

แม้ไม่โดดเด่นเหมือนในอดีต แต่ถือเป็นธุรกิจที่มีวันไม่ตาย ! 'ไทยโพลีคอนส์' เฟ้นหา New Business หลังอุตสาหกรรมรับเหมาแข่งขันรุนแรง 'ปฐมพล สาวทรัพย์' แม่ทัพใหญ่ แปลงความท้าทายเป็นโอกาสของการเรียนรู้ ปูทางรับมือโลกดิจิทัล จะยั่งยืนต้องสร้างสิ่งใหม่เสริม

เมื่อธุรกิจเดิมที่คลุกคลีมาตลอด 40 ปี ของ บมจ.ไทยโพลีคอนส์ หรือ TPOLY ไม่สามารถผลักดันฐานะการเงินให้ขยายตัวสม่ำเสมอ หลังที่ผ่านมาภาคเอกชนหยุดลงทุน และภาครัฐชะลอการใช้งบประมาณ ขณะเดียวกันยังต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขัน 'รุนแรง' หลังปริมาณงานในตลาดมีน้อยเนื่องจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส 'สายพันธุ์ใหม่ 2019' (โควิด-19) ทำให้อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท

สารพัดปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างปี 2563 'เหนื่อย' ! ประโยคเกริ่นกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ของ 'ดำ-ปฐมพล สาวทรัพย์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ไทยโพลีคอนส์ หรือ TPOLY ลูกหม้อคนสนิทของ 'เจริญ จันทร์พลังศรี' (เสียชีวิต) ผู้ก่อตั้ง TPOLY และ บมจ. ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง หรือ TPCH  

สำหรับ 'ไทยโพลีคอนส์' เขา บอกว่า ในปีนี้ยอมรับว่าธุรกิจค่อนข้างเหนื่อยเฉกเช่นกัน ประกอบกับที่ผ่านมา 'เจริญ จันทร์พลังศรี' (เสียชีวิต) ผู้ก่อตั้ง วางรากฐานธุรกิจและสร้างการเจริญเติบโตดีมาก แต่ในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจรับเหมาก่อสร้างต้องเผชิญกับความท้าท้ายใหม่ๆ เข้ามากระทบตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจชะลอตัว ,ปัญหาเรื่องแรงงาน , ต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น เป็นต้น 

ฉะนั้น ด้วย 'ปัจจัยลบ' เข้ามากระทบค่อนข้างมาก หากยังยึดติดอยู่กับการดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิม โอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนก็ยากขึ้น ดังนั้น ทำให้บริษัทต้องมองหา 'ธุรกิจใหม่' (New Business) ที่เข้ามาเสริมรายได้หลัก !   

ณ ปัจจุบัน บริษัทมีรายได้จาก ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง, ธุรกิจโรงไฟฟ้า (มาจากรับรู้เงินปันผลของ บมจ. ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง หรือ TPCH) , ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจขายสินค้าและบริการ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 57.3% , 41.7% และ 1.0% และ 0.02% ตามลำดับ 

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทได้เสนอตัวเองเข้าไปลงทุน 'โครงการสร้างบ้านพักข้าราชการ' มูลค่า 300 ล้านบาท ซึ่งบริษัทเป็นผู้ชนะและได้ประกาศรายชื่อเป็นผู้ดำเนินการโครงการดังกล่าวแล้ว ซึ่งกระบวนการและขั้นตอนต่อจากนี้บริษัทจะต้องมาทำสำรวจ 'ความต้องการ' (ดีมานด์) ของข้าราชการรวมทั้งเครดิตการขอกู้เงินจากธนาคาร (แบงก์) ที่ต้องการที่อยู่อาศัย คาดว่าอีก 3 เดือนจะรู้ผลที่ชัดเจน    

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างศึกษา 'ธุรกิจผลิตน้ำประปาจำหน่าย' ที่เกาะสอง ประเทศเมียนมา ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาในรายละเอียดกับพันธมิตรคนไทยที่มาชักชวนบริษัทร่วมลงทุน ซึ่งปัจจุบันพันธมิตรเป็นคนให้บริษัททำการศึกษาดูความเป็นไปได้ของการลงทุนว่าสนใจมากแค่ไหน เพียงแต่ตอนนี้โครงการดังกล่าวต้องหยุดชะงักก่อน เพราะว่าบริษัทยังไม่ได้เข้าไปสำรวจในพื้นที่เนื่องจากติดปัญหาของการแพร่ระบาดของโควิด-19

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษานำ 'เทคโนโลยีหุ่นยนต์' เข้ามาช่วยเสริมในด้านแรงงาน ซึ่งล่าสุดมีพันธมิตรประเทศจีนเสนอหุ่นยนต์ทดแทนแรงงาน เช่น หุ่นยนต์ก่ออิฐ , หุ่นยนต์ปูกระเบื้อง เป็นต้น แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปเพราะมาเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อน

แต่อย่างไรก็ตาม มองว่ายังไงทิศทางอนาคตบริษัทต้องลงทุนเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดต้นทุนอย่างแน่นอน ไม่เช่นนั้นขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทจะสู่คนอื่นๆ ไม่ได้ 

'ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร' แจกแจงแผนทำงานเก่าคู่งานใหม่ ว่า สำหรับธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในช่วงที่ผ่านมาเจอปัจจัยลบรุมเร้าตั้งแต่ครึ่งปี 2562 แล้ว นับตั้งแต่ผลกระทบของ 'สงครามการค้า' (Trade war) ที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว และมาในปีนี้ก็เจอกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้การลงทุนชะลอตัวไปมาก 

สำหรับ 'ภาคเอกชน' ช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลูกค้าเอกชน 'หยุดชะงัก' การลงทุนทั้งหมด ! สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลมีการประกาศล็อกดาวน์ประเทศ รวมทั้งภาคเอกชนก็เจอกับผลกระทบของโควิด-19 จึงไม่มั่นใจลงทุน ทำให้หยุดรอดูสถานการณ์ว่าจะยืดเยื้อและมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน 

โดยก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีลูกค้าเอกชนเรียกบริษัทเข้าไปเสนอราคาประมูลงานประมาณ 7-8 โครงการ ซึ่งตอนนี้ทุกโครงการหยุดทั้งหมด โดยมูลค่าโครงการระดับ 'พันล้านบาท' ซึ่งหลังจากรัฐบาลมีการคลายล็อกดาวน์ เริ่มเห็นสัญญาณลูกค้าเอกชนกลับมาติดต่อพูดคุยกับบริษัทใหม่เพื่อให้เข้าไปประมูลงานบ้างแล้ว แต่เบื้องต้นเป็นเพียงการพูดคุยในรายละเอียดของโครงการเท่านั้น 

'หลังรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ เริ่มเห็นสัญญาณเอกชนกลับมาพูดคุยโครงการลงทุนที่จะดำเนินการก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 บ้างแล้ว หลังจากหยุดทุกอย่างในช่วงการระบาดของโควิด-19'

ยกตัวอย่าง ลูกค้าเอกชนของบริษัทอย่าง บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เขาหยุดลงทุนทั้งหมด โดยคาดว่าหลังคลี่คลายกลุ่ม CPN กลับมาลงทุนต่อ ซึ่งบริษัทเป็น 1 ใน 4 ผู้รับเหมาก่อสร้างที่เครือเซ็นทรัลให้ร่วมประมูลงานต่อเนื่อง ที่ผ่านมาบริษัทเป็น 1 ใน 3 ของ ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างที่ทำโครงการเซ็นทรัลวิลเลจ  

'สไตล์การทำงานของกลุ่มเซ็นทรัลจะเน้นงานเร็วและต้องเวลา ดังนั้น เขาจะคัดผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างเอกชนไว้แล้ว เพื่อไม่ให้กระทบต่อการลงทุน และปกติจะไม่ใช้ผู้รับเหมารายเดียว ซึ่งถือเป็นการกระจายความเสี่ยงของลูกค้าด้วย' 

ล่าสุด กลุ่มเซ็นทรัลเริ่มมีจดหมายมาถึงบริษัทให้เข้าประมูลงานภายใน 90 วันแล้ว นับจากเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาที่มีการเรียกประมูล ซึ่งมองว่ากลุ่มเซ็นทรัลน่าจะมองว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มจะคลี่คลายแล้วซึ่งธุรกิจเขาก็ต้องเดินหน้าต่อไป  

เขา บอกต่อว่า ในส่วนของลูกค้าในกลุ่ม 'ธุรกิจโรงแรม' บางรายการลงทุนไม่ได้หยุด ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้ามองต่างมุม โดยลูกค้ามองว่าหากลงทุนตอนนี้จะมีต้นทุนต่ำ เพราะต้นทุนสินค้าราคาลดลง ซึ่งมีลูกค้าธุรกิจโรงแรมยังเดินหน้าประมูลงานต่อเป็นโครงการก่อสร้างโรงแรม 'มูลค่า 3,000 ล้านบาท' คาดว่าจะประมูลและก่อสร้างในปีนี้ และคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จต้องใช้เวลา 2 ปี 

'แม้โควิด-19 ระบาดเขาไม่หยุดลงทุน เพราะมองว่าเป็นโอกาสลงทุนที่ต้นทุนต่ำ และมองว่าต้องรีบดำเนินการหากล่าช้ากว่านี้สถานการณ์ทุกคลี่คลายอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องฟื้นตัวแน่นอน และเมื่อถึงตอนนั้นจะไม่ทันการณ์' 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าลูกค้าเอกชนจะกลับมาประมูลงานอีกครั้งในไตรมาส 4 ปี 2563 และคาดว่าบริษัทจะได้งานของลูกค้าเอกชนเข้ามาในไตรมาส 4 นี้ !  

ขณะที่ในส่วนของ 'ภาครัฐ' ยังมีงานออกมาประมูลต่อเนื่องเพราะว่ามีงบประมาณผูกพัน เพียงแต่กระบวนการประมูลงานจะล่าช้า เนื่องจากราชการต้องทำการมาตรการทำงานที่บ้าน โดยงานที่ออกมาเป็นงานมูลค่าระดับ '400-500 ล้านบาท' ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทเคยรับงานมูลค่า 'สูงสุด' ราว 1,200 ล้านบาท 

'ในช่วงที่ผ่านมางานราชการบริษัทเข้าไปประมูลต่อเนื่อง และตอนนี้บริษัทเป็นผู้ประมูลงานที่เสนอราคาต่ำสุด 4 โครงการ มูลค่า 2,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติของบริษัท คาดว่าจะเห็นภาพชัดเจนปลายเดือน มิ.ย. นี้'

ดังนั้น คาดว่าในครึ่งหลัง 2563 ผู้ประกอบการทุกรายจะมุ่งมาหางานภาครัฐแล้ว ซึ่งคาดว่าจะทำให้ 'มาร์จิน' งานรัฐช่องว่างน้อยลงมาก สังเกตได้จากเวลาประมูลจะหั่นราคาลง 'ราว15%' ของราคากลางแต่ละโครงการ แต่ผู้ประกอบการก็ต้องยอมทำ และมาบริหารจัดการกันเองให้มีกำไร !   

'แต่ถ้าเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ถือว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโดนผลกระทบยังน้อย ในปีนี้อุตสาหกรรมก่อสร้างยังไปได้เรื่อยๆ แต่ค่อนข้างเหนื่อย โดยเฉพาะการแข่งขันครึ่งปีหลังจะสูงมากทั้งงานเอกชนและรัฐ'

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเดินหน้าเข้าประมูลงานใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการรับงานที่มีความเชี่ยวชาญ แต่ต้องยอมรับว่าตลาดรับเหมาก่อสร้างมีการแข่งขันที่รุนแรงมาก ยิ่งมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยิ่งกระทบต่ออัตรากำไรของอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าชีวมวลปัตตานี กรีน เพาเวอร์ (PTG) ที่ได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ส่งผลให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่โรงไฟฟ้าอีก 3 แห่ง จะทยอย COD ได้เกือบทั้งหมดภายในไตรมาส 2 ปี 2563 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ผลประกอบการของบริษัทเติบโตตามเป้าที่วางไว้ 

'ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร' เล่าต่อว่า ในส่วนของโครงการก่อสร้างของบริษัทจำนวน 21 โครงการทั่วประเทศ ปัจจุบันยังไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 โดยทุกโครงการยังคงก่อสร้างได้ตามปกติ ซึ่งบริษัทมีมาตรการและระเบียบปฏิบัติที่เข้มงวดในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว

อนึ่ง ผลการดำเนินงานของบริษัทไตรมาส 1 ปี 2563 มีรายได้รวม 942.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.2% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 777.5  ล้านบาท โดยมาจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจำนวน 539.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 178.7 ล้านบาท หรือ 49.5%

อย่างไรก็ตาม นอกจากงานรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้า และก่อสร้างอสังหาฯ แล้ว อีกงานที่บริษัทถนัดคือ งานรับเหมาก่อสร้าง 'โรงพยาบาล' โดยในปี 2562 บริษัทรับงานโรงพยาบาล 4-5 แห่ง เช่น โรงพยาบาลอินทรารัตน์ , โรงพยาบาลจอมเทียน , โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี , ศูนย์แพทย์โรงพยาบาลเชียงใหม่ และโรงพยาบาลพัทลุง 

'ฉะนั้น เราจะเป็น 1 ใน 3 ที่ลูกค้าโรงพยาบาลเอกชนจะส่งจดหมายเชิญบริษัทเข้าประมูลงานโรงพยาบาลแห่งใหม่ตลอด ตลาดงานโรงพยาบาลการแข่งขันจะไม่สูงมาก เนื่องจากปฐมพล สาวทรัพย์ใครที่ไม่ได้จดหมายเชิญเข้าร่วมประมูลจะไม่มีสิทธิเข้าประมูลด้วย'

ท้ายสุด 'ปฐมพล' ฝากไว้ว่า แม้ว่าไตรมาส 1 ปี 2563 มีผลขาดทุนปัจจัยหลักมาจากการรับรู้รายได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่น้อยกว่าที่คาดการณ์ แต่คาดว่าผลการดำเนินงานทั้งปีจะมีผลกำไรที่สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของอุตสาหกรรมแน่นอน !