'ประยุทธ์' กับทางออกสุดท้าย 'ยุบสภา...รีเซ็ตเกมใหม่'

'ประยุทธ์' กับทางออกสุดท้าย 'ยุบสภา...รีเซ็ตเกมใหม่'

ไม่น่าเชื่อว่า “พรรคพลังประชารัฐ” จะเดินมาถึงจุดนี้ จุดที่พรรคกำลังเข้าสู่ภาวะแตกเป็นเสี่ยงๆ

สภาพที่พรรคพลังประชารัฐกำลังเผชิญอยู่ เป็นความเหมือนที่แตกต่างกับ พรรคไทยรักไทย สมัย 10 กว่าปีที่แล้ว ช่วงเวลาความยิ่งใหญ่ของพรรคการเมืองที่มีเสียงในสภาฯ 326 ที่นั่ง ซึ่งได้มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 และ 375 เสียงจากการเลือกตั้งในอีก 4 ปีต่อมา ภายใต้การนำของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เป็นประวัติศาสตร์ที่พรรคการเมืองใด ไม่เคยทำได้มาก่อน

ทว่า ภาพลักษณ์ภายนอกที่ยิ่งใหญ่ และแข็งแกร่งของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เมื่อฉายไฟส่องเข้าไปข้างในแล้ว เกิดการแบ่งเป็นกลุ่ม ที่เรียกกันในภาษาของคนไทยรักไทย ว่า วัง จำนวนมาก เช่น วังน้ำเย็นของ เสนาะ เทียนทองวังน้ำยมของ สมศักดิ์ เทพสุทินเป็นต้น

ความขัดแย้งในเรื่องตำแหน่งทางการเมือง เกิดขึ้นมากมาย แต่กรณีดุเดือดที่สุด เห็นจะเป็นการขบเหลี่ยมกันระหว่างสองผู้ยิ่งใหญ่ในเวลานั้นระหว่าง ‘สมศักดิ์ เทพสุทินและ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

กล่าวคือ คนใหญ่สุโขทัยได้แรงเชียร์จาก ส.ส.ในกลุ่มวังน้ำยม ให้ขึ้นมาคุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ในมุมของ “ขุนพล” ข้างกายทักษิณกลับมองว่า ไม่ควรให้เก้าอี้นี้แก่วังน้ำยม เพราะจะทำให้วังน้ำยมใหญ่เกินกว่าจะควบคุมได้

ทำให้สุดท้าย นายกฯ ทักษิณ ส่งเก้าอี้เจ้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปให้คุณหญิงสุดารัตน์แทน

นับแต่นั้น วังน้ำยม กับ บ้านจันทร์ส่องหล้า ก็เริ่มผูกใจเจ็บกัน โดยมักจะปรากฏภาพของ ส.ส.วังน้ำยมเกือบร้อยคน แสดงพลังกันที่บ้าน ย่านสนามบินน้ำ ของคนใหญ่สุโขทัยหลายครั้ง

 

อย่างไรก็ตาม ความคับแค้นใจ ก็ไม่ได้ระเบิดออกมา เพราะปรากฏการณ์พลังทางการเมืองของ ‘ทักษิณฟีเวอร์’ อย่างเข้มข้น จนเกิดเรื่องตลกร้ายทางการเมือง ณ ตอนนั้นว่า ต่อให้ใครเป็น ส.ส.มาหลายสมัย หากหันหลังให้กับทักษิณเมื่อใด “สอบตก”เมื่อนั้น จึงเป็นเหตุผลให้ต้องกลืนเลือด อยู่กันต่อไปจนถึงวันรัฐประหาร 2549

มาวันนี้ สถานการณ์ของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคไทยรักไทย แทบจะถอดรูปมาให้เห็นเหมือนกัน เพียงแต่ ณ วันนี้ มีคำถามว่า ‘บิ๊กตู่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีพลังทางการเมืองที่ทำให้คลื่นใต้น้ำสงบ แบบที่ทักษิณเคยทำได้หรือไม่

ภายในพรรคพลังประชารัฐ อยู่ในสภาพ ‘ไม่มีใครกลัวใคร’ เท่ากับว่า ‘บิ๊กตู่’ ตกต้องตกอยู่ตรงกลาง ระหว่างเขาควาย หรือ Dilemma กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไปทางไหนก็มีแต่ปัญหา เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองและรัฐธรรมนูญ ทำให้นายกฯ ยังต้องขอออกซิเจนจากนักเลือกตั้งมาช่วยหายใจ และพึ่งบารมี ‘พี่ใหญ่’ ฝ่ากระแสวิกฤติไปพร้อมกัน

ไม่เพียงแต่ศึกในพรรคพลังประชารัฐจะสาหัสเท่านั้น เพราะอีกไม่นาน ความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลก็อาจปะทุขึ้นเช่นกัน 

โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย ที่อ้างว่าได้ ส.ส.เพิ่มมาถึง 10 คน ที่มาจากการยุบพรรคอนาคตใหม่

หากคิดตามหลักคณิตศาสตร์ทางการเมืองแล้ว ย่อมต้องได้รัฐมนตรีเพิ่มขึ้น 

ทำให้มีคำถามว่า พรรคพลังประชารัฐจะยอมเฉือนเนื้อตัวเองหรือไม่ หรือจะไปริบเก้าอี้เสนาบดีจากพรรคร่วมรัฐบาลอื่น เช่นนั้นแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลที่จะถูกริบ จะยอมหรือไม่

คลื่นใต้น้ำ ที่เริ่มก่อตัวเป็นระยะ วันนี้อาจจะยังไม่ชัดมากนัก แต่มีหรือที่คนระดับนายกฯ จะไม่รู้ถึงปัญหา เพียงแต่อาจยังนึกไม่ออกว่า จะหาทางคลี่คลายสถานการณ์นี้อย่างไร เท่านั้นเอง

จึงไม่แปลกที่การ ยุบสภาอาจเป็นทางเลือก ที่นายกฯ จะงัดขึ้นมาเพื่อยุติปัญหาทุกอย่าง

มองถึงความเป็นไปได้ ของการยุบสภาฯ ก็พอมีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะกับการเสนอกฎหมายการเงินเข้าสภาฯ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันถึง 4 ฉบับ ตั้งแต่ร่างพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) 3 ฉบับ และร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)โอนงบประมาณ 

และกำลังตามมาด้วยร่างกฎหมายงบประมาณประจำปี 2564 ในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะเป็นการคุมทรัพยากรทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ได้กว่าครึ่งประเทศ ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการเก็บแต้มทางการเมือง เพราะเงินส่วนใหญ่ล้วนเป็นเงินเยียวยาและฟื้นฟู อันเป็นเงินที่ส่งตรงถึงมือประชาชน ง่ายต่อการสร้างคะแนนความนิยมต่อตัวนายกฯทั้งสิ้น

อีกปัจจัย ที่ทำให้ความเป็นไปได้ของการยุบสภาฯ เป็นไปได้สูง คือ การเลือกนายกฯ ที่อำนาจยังอยู่ในมือ ส.ว. 250 คน ซึ่งเปรียบไปแล้ว วุฒิสภาก็ไม่ต่างอะไรกับพรรคการเมืองที่มีเสียงมากที่สุดในสภาฯ เวลานี้ และกว่าอำนาจในการเลือกนายกฯ จะหลุดไปจาก ส.ว.ก็ต้องรอไปถึงปี 2565

ดังนั้น หากแต่ละฝ่ายยังไม่ยอมจบ การยุบสภาฯ อาจจะเป็นเลือกสุดท้าย ที่นายกฯ จะนำขึ้นมาใช้ เพื่อสยบทุกปัญหา และไปนับหนึ่งใหม่ในสนามเลือกตั้ง แบบตัวใครตัวมัน

แม้หลายคน อาจจะมองว่า กระแสความนิยมของ ‘บิ๊กตู่’ ในภาวะวิกฤติ ยังไม่เฟื่องฟูเหมือนกับ ‘ทักษิณ’ สร้างปรากฏการณ์สึนามิเลือกตั้งในปี 2548 แต่การกดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้ต่ำลงจนเป็นศูนย์ได้หลายวันติดต่อกัน และการเร่งจ่ายเงินเยียวยา ย่อมไม่อาจดูแคลนความนิยม ‘บิ๊กตู่’ ได้อย่างเด็ดขาด

ที่สำคัญ ยังมีอีกหลายปัจจัยที่มองไม่เห็นพร้อมสนับสนุน บิ๊กตู่กลับมาเป็น นายกฯ สมัยที่ 3’ !