ครป. จวก ตั้ง "อดีต สนช." นั่ง ป.ป.ช. ตัวอย่างความล้มเหลว

ครป. จวก ตั้ง "อดีต สนช." นั่ง ป.ป.ช. ตัวอย่างความล้มเหลว

"ปธ.ครป." จวกสรรหา ป.ป.ช.ตัวอย่างความล้มเหลว ส.ว. ทำลายบรรทัดฐานปมขัดกันผลประโยชน์-ธรรมาภิบาล ขาดสำนึกแห่งการปฏิรูป เอื้อสถานะอำนาจพวกพ้อง

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 63 รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า กรณีคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตีความอดีตสมาชิก สนช. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เป็นการตีความที่ทำลายบรรทัดฐานเรื่องการขัดกันของผลประโยชน์และธรรมาภิบาล เป็นการเมืองแบบอำนาจนิยมระบบอุปถัมภ์ ผู้ที่เกี่ยวข้องขาดจิตสำนึกในการปฏิรูปการเมือง และเรื่องดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ที่จริงตนไม่คาดหวังอะไรมากจาก ส.ว.ชุดนี้อยู่แล้ว เพราะถูกตั้งขึ้นโดยกลุ่ม คสช. แต่เมื่อเห็นความคิดและพฤติกรรมที่กระทำล่าสุด โดยลงมติเลือกอดีต สนช. เป็น กรรมการ ป.ป.ช. และอธิบายตีความรัฐธรรมนูญเพื่อตอบสนองเป้าหมายของตนเองอย่างน่าเกลียดเกินกว่าจะยอมรับได้ ก็อดไม่ได้ที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์โดยมี 4 ประเด็นดังนี้

1.เป็นการตีความกฎหมาย เพื่อตอบสนองเป้าหมายทางการเมืองแบบอำนาจนิยมอุปถัมภ์ ซึ่งทำลายบรรทัดฐานที่สังคมไทยเพียรพยายามสร้างในช่วงสองทศวรรษนี้ นั่นคือ หลักการขัดกันของผลประโยชน์ หลักการนี้วิญญูชนที่มีความคิดและจริยธรรมอยู่บ้างย่อมศึกษา รับรู้และตระหนักดีว่าเรื่องใดที่ควรทำ เรื่องใดที่ไม่ควรทำ แม้จะไม่มีการเขียนไว้อย่างชัดเจน หรือเขียนไว้แล้วแต่ไม่ชัดเจนก็ตาม ส่วนอวิญญูชน แม้กฎหมายจะเขียนเอาไว้อย่างไรก็พยายามหาช่องโหว่ตีความเพื่อรับใช้เป้าหมายของตนเองให้ได้ 

2.การลงมติ กระทำไปโดยขาดสำนึกแห่งการปฏิรูปการเมืองและสำนึกแห่งธรรมาภิบาล แต่เป็นสำนึกของความล้าหลังที่เอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง เป็นการลงมติตามแบบแผนความคิดแบบเก่า การเมืองแบบเก่า น่าเสียดายว่าหลายคนใน ส.ว. ชุดนี้เคยพูดถึงการปฏิรูปการเมืองอย่างเป็นตุเป็นตะ แต่พฤติกรรมที่แสดงออกนับวันก็ยิ่งเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกมาว่า ที่พวกเขาต้องการคงไม่ใช่การปฏิรูปการเมือง แต่น่าจะเป็นอำนาจเสียมากกว่า 

3.การลงมติเช่นนั้นป็นการถมก้อนหินใส่ลงในจิตใจของประชาชน ซึ่งสร้างความอึดอัดคับข้องใจแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้นเป็นการสะสมเชื้อเพลิงของความขัดแย้งทางสังคม และเร่งให้ความขัดแย้งเกิดการปะทุออกมา 

4.การตีความและการลงมติแบบนี้เป็นหลักฐานชัดเจน ซึ่งจะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่า ส.ว. ชุดนี้น่าจะมีเป้าหมายในการทำหน้าที่เพื่อตอบสนองกลุ่มอำนาจนำทางการเมืองเป็นหลัก และบั่นทอนการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย

ด้าน นายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. กล่าวว่า เป็นตัวอย่างของความล้มเหลวของ ส.ว. ที่ได้มาโดยมิชอบธรรมและหลักขัดกันแห่งผลประโยชน์ จึงลงมติเลือกอดีต สนช.ที่พ้นตำแหน่งมาเพียง 1 ปี มานั่งเป็นกรรมการ ป.ป.ช.คนใหม่ เป็นการตีความพิทักษ์สถานะอำนาจของพวกพ้อง เพื่อเข้าไปยึดกุมการเมืองการปกครองทั้งระบบผ่านกลไกองค์กรอิสระต่างๆ เพราะการเมืองไทยทุกวันนี้จึงเป็นลักษณะคณาธิปไตย พยายามสืบทอดอำนาจที่วางไว้ผ่านกลไกรัฐธรรมนูญ 2560 แม้ว่าในกฎหมายรัฐธรรมนูญจะบัญญัติให้ สนช.ทำหน้าที่ ส.ส. ส.ว. ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติในรัฐสภา เรื่องนี้จึงขัดรัฐธรรมนูญในตัวเองเรื่องคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะมาเป็นองค์กรอิสระ เจตนารมณ์ให้เว้นวรรค 10 ปีก่อน 

"เราจะตีความตามตัวอักษรอย่างเดียวไม่ได้ ไม่ใช่เรียกชื่อหรือตำแหน่งต่างกัน แต่ต้องถือว่าได้ทำหน้าที่นั้นหรือไม่ เป็นเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญที่ไปเขียนไว้ไม่ให้เลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่มตน ไม่อย่างนั้นบ้านเมืองก็ไม่ก้าวไปข้างหน้าเสีย ติดหล่มกับดักอำนาจ สร้างลัทธิพวกใครพวกมัน ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่ต้องมีรัฐธรรมนูญปกครองให้ ส.ว.สืบทอดอำนาจไปอีก5+5+5+5 ไปอีก 20 ปีก็แล้วกัน ภาคประชาชนจะได้ไม่ต้องเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย"นายเมธาระบุ

นายเมธา กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. และ ส.ว.ต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ อย่าตีความตามอำเภอใจ และควรสรรหาผู้มีบทบาทตรวจสอบการทุกจริตคอร์รัปชันเป็นที่ประจักษ์ พิทักษ์ผลประโยชน์ประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่มีฝักฝ่ายทางการเมือง ส่วนคณะกรรมการสรรหา กสม. วินิจฉัยถูกต้องแล้ว และผู้ที่จะมาเป็น กสม. ควรมาจากผู้ที่มีบทบาทการทำงานพิทักษ์และปกป้องสิทธิมนุษยชน เพราะกลไก กสม.คือการทำงานตรวจสอบรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ ว่าใช้อำนาจละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ไม่ใช่การตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของโจรผู้ร้ายเพราะนั่นเป็นหน้าที่ของรัฐบาล จึงไม่ควรเอาอดีตข้าราชการมาทำงานผิดหน้าที่แบบในปัจจุบัน