ถอดบทเรียน 'เคอร์ฟิว' สหรัฐ ยิ่งใช้ 'ประท้วง' ยิ่งแรง

ถอดบทเรียน 'เคอร์ฟิว' สหรัฐ ยิ่งใช้ 'ประท้วง' ยิ่งแรง

เหตุประท้วงรุนแรงชนวนเหตุจากการเสียชีวิตของชายผิวดำโดยน้ำมือของตำรวจ ทำให้หลายเมืองของสหรัฐต้องประกาศ "เคอร์ฟิว" แต่ก็เกิดคำถามว่า เคอร์ฟิวช่วยให้บ้านเมืองสงบได้จริงๆ หรือยิ่งทำให้ผู้ประท้วงกลายเป็นศัตรูมากกว่าเดิม

การประท้วงมีสาเหตุจาก จอร์จ ฟลอยด์ ถูก ดีเร็ก ชอวิน ตำรวจเมืองมินนิแอโพลิส รัฐมินนิโซตา ใช้เข่ากดลำคอแบบทิ้งน้ำหนักตัวลงไปนานเกือบ 9 นาที จนเสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 25 พ.ค. จากนั้นประชาชนก็ลุกฮือเรียกร้องความเป็นธรรมให้ฟลอยด์ เกิดเป็นการจลาจลครั้งเลวร้ายที่สุดในสหรัฐนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 เลวร้ายถึงขนาดที่นิวยอร์ก ที่ได้ชื่อว่า “เมืองที่ไม่เคยหลับ” และเพิ่งตั้งตัวได้จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ต้องประกาศเคอร์ฟิวเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 80 ปี

นิวยอร์กไม่เคยใช้เคอร์ฟิวเลยนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2486 ตอนนั้นเกิดจลาจลชนวนเหตุมาจากตำรวจใช้กำลังรุนแรงแบบเดียวกัน เมื่อตำรวจผิวขาวนายหนึ่งใช้ปืนยิงทหารผิวดำนาม โรเบิร์ต แบนดี บาดเจ็บ เพราะเขาเข้ามาขวางตำรวจขณะจับกุมหญิงผิวดำรายหนึ่ง เหตุการณ์บานปลายกลายเป็นจลาจล ทางการต้องประกาศเคอร์ฟิวในย่านคนดำ “ฮาร์เล็ม” เป็นเวลา 3 วัน

ส่วนการจลาจลรอบนี้เกิดการปล้นสะดม วางเพลิง ผู้ประท้วงปะทะกับตำรวจเกิดขึ้นทั่วไปหมด หลายเมืองต้องประกาศเคอร์ฟิวด้วยเช่นกัน เช่น วอชิงตันดีซี ลอสแองเจลิส และชิคาโก

เมื่อความตึงเครียดพุ่งสูงขึ้นทุกขณะช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมืองแอตแลนตา ฟิลาเดลเฟีย ลอสแองเจลิส และชิคาโก ประกาศเมื่อวันเสาร์ (30 พ.ค.) ว่าจะใช้เคอร์ฟิวยามค่ำคืนที่เข้มงวดสุดๆ ขณะที่เมืองมินนิแอโพลิสประกาศไปก่อนหน้านั้นแล้ว วอชิงตันดีซีประกาศตามมาในวันอาทิตย์ (31 พ.ค.) นิวยอร์กประกาศเคอร์ฟิววันจันทร์ (1 มิ.ย.)

ทางการชี้แจงว่าเคอร์ฟิวไม่ได้ใช้เพื่อจำกัดสิทธิประชาชนในการประท้วง ที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 แต่เพื่อปราบปรามความรุนแรงและปล้นชิงทรัพย์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำในยามวิกาล

ในทัศนะของเดนนิส เคนนีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านยุติธรรมทางอาญา วิทยาลัยยุติธรรมทางอาญาจอห์น เจย์ ส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยนิวยอร์กซิตี มองว่า เคอร์ฟิวคือการกระทำอย่างสมดุล

"หลักคิดคือต้องไม่แทรกแซงความสามารถของประชาชนที่จะประท้วง แสดงออก แสดงความไม่พอใจ แสดงความเห็น แต่เคอร์ฟิวก็ได้สร้างเครื่องมือเพื่อให้ตำรวจสามารถสกัดผู้ประท้วงได้แต่เนิ่นๆ ป้องกันไม่ให้พวกเขาทำกิจกรรมทุกอย่างที่เราไม่เห็นด้วย"

สำหรับนิวยอร์ก ตอนแรก บิล เดอ บลาซิโอ นายกเทศมนตรีปฏิเสธแนวคิดใช้เคอร์ฟิว เขาผู้นี้เป็นคนผิวขาวและลูกสาวเลือดผสมวัย 25 ปี ก็ถูกจับไปครู่หนึ่งระหว่างประท้วงเมื่อวันเสาร์ แต่ผ่านไป 2 คืนที่การปล้นถี่ขึ้นเขาตัดสินใจประกาศเคอร์ฟิวระหว่าง 23.00 น.-5.00 น. คืนแรกไม่อาจสกัดกั้นมือปล้นได้ วันอังคารต้องประกาศเคอร์ฟิวเป็นคืนที่ 2 เริ่มตั้งแต่ 20.00 น. และขยายไปจนถึงวันอาทิตย์ (7 มิ.ย.) อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน

เคนนีย์มองว่า เคอร์ฟิวไม่ได้มีประสิทธิภาพมากนัก ในนิวยอร์ก วอชิงตัน และเมืองอื่นๆ ผู้ประท้วงหลายร้อยคนยังท้าทายเคอร์ฟิว และหลายกรณีตำรวจเลือกไม่จับกุมผู้มาร่วมชุมนุมอย่างสันติ เพื่อไม่โหมไฟความโกรธเคืองให้คุกรุ่นออกไปอีก

เคนนีย์กล่าวว่า ตำรวจเองไม่ได้หวังว่าประชาชนกลัวเคอร์ฟิว “แต่นี่จะกลายเป็นเครื่องมือตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการป้องกันไม่ให้การประท้วงกลายเป็นจลาจล ป้องกันบุคคลหรือกลุ่มบุคคลไม่ให้ออกไปปล้น แต่ถ้าใช้นานเกินไปจะเป็นปัญหา เมื่อประชาชนเริ่มรู้สึกว่าตนเองถูกกดขี่ สิทธิประชาชนถูกละเมิด และเคอร์ฟิวกลายเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องต่อต้าน”

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนในนิวยอร์กสัปดาห์นี้คือ ผู้ประท้วงก่นด่าเคอร์ฟิวสะท้อนว่าพวกเขาคิดอย่างไรกับมาตรการนี้

แจสมอน เบลีย์ นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ เชื่อว่า เคอร์ฟิวไม่ได้แก้ปัญหารากเหง้าของความไม่สงบ มีแต่จะโหมกระพือปัญหาเดิมโดยให้อำนาจพิเศษแก่เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมได้โดยพลการ ตำรวจอาจใช้เคอร์ฟิวจงใจจับกุมคนดำมากกว่าคนขาว ให้ความสำคัญกับการปล้นร้านค้าแทนที่จะเป็นความอยุติธรรมด้านเชื้อชาติที่ผู้ประท้วงกำลังเรียกร้อง

“เคอร์ฟิวพุ่งเป้าที่ประชาชน ไม่ใช่ที่ระบบ” นักวิชาการรายนี้กล่าว

แต่ไม่ว่าเคอร์ฟิวจะยุติธรรม ได้ผล หรือไม่ใช่ทั้งสองอย่าง ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่เห็นพ้องกันว่า “อย่าใช้นาน” หากใช้นานอาจถูกเล่นงานตามกฎหมาย แม้แต่นายกเทศมนตรีนิวยอร์กก็ได้แต่หวังว่า จะไม่ต้องใช้เคอร์ฟิวอีก